จักรกฤษณ์ สิริริน : Ergonomic Design แก้ปัญหา “นิ้วล็อก” จากการใช้ Mouse

เชื่อว่าท่านที่ใช้ Mouse เป็นเครื่องมือทำมาหากิน คงประสบปัญหาเหมือนกับผู้เขียนกันเป็นทิวแถว คือต้องคอยนวดนิ้วนวดมือเป็นระยะ เพื่อรักษาและป้องกันอาการ “นิ้วล็อก” ครับ

ปัญหานี้เกิดจากการออกแบบ Mouse ที่ไม่เหมาะสม คืออาจจะเหมาะสำหรับการ Design เพื่อต่อพ่วงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือสะดวกเฉพาะกับผู้ผลิต Mouse แต่ไม่เหมาะสมกับผู้ใช้งานอย่างแน่นอน

ไม่อย่างนั้น ความเจ็บไข้ได้ป่วยจากอาการ “นิ้วล็อก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรค Office Syndrome คงไม่ระบาดหนักในหมู่มนุษย์เงินเดือนทั่วทุกมุมโลกอยู่ในปัจจุบัน

จึงนำมาสู่แนวคิดใหม่ เพื่อบำบัดรักษาอาการดังกล่าว ภายใต้ทฤษฎีที่เรียกว่า Ergonomics Design

 

Ergonomics Design หรือ การออกแบบวัสดุโดยใช้หลัก “การยศาสตร์” เป็นแนวคิดในวงการ Designer รุ่นใหม่ ที่เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยอาศัยความรู้พื้นฐานด้าน Anatomy โดยเฉพาะการสร้างสรรค์เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานรูปลักษณ์ใหม่ ซึ่งคำนึงถึงวิถีการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นหลัก

นอกจาก Mouse แล้วอุปกรณ์ต่างๆ ในสำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการปรับองศาการตั้งจอคอมพิวเตอร์ การออกแบบ Keyboard รวมโต๊ะและเก้าอี้สำนักงานรุ่นใหม่ๆ ล้วนได้รับการออกแบบด้วยหลัก “การยศาสตร์” แทบทั้งหมด

รวมถึงรองเท้าเพื่อสุขภาพ ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ ตามห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่ง กระเป๋าถือของคุณผู้หญิงด้วย

โดยทุกวันนี้ Ergonomics Design นอกจากจะหมายถึง การออกแบบวัสดุโดยใช้หลัก “การยศาสตร์” แล้ว ยังมีอีกหลายชื่อให้เรียกขาน ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบพื้นที่ทำงานแนวใหม่ การออกแบบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน การป้องกันการบาดเจ็บจากการทำงาน ฯลฯ

ปัจจุบัน มีการกำหนด “มาตรฐานทางการยศาสตร์” จากหลากหลายองค์กร ทั้งในและต่างประเทศ

 

ในทางวิชาการแล้ว ถือว่า “การยศาสตร์” คือการจัดการเรียนการสอนแบบ “สหวิทยาการ” ที่หลอมรวมสาขาวิชาจำนวน 4 สายเข้าด้วยกัน กล่าวคือ 1) Biomechanics หรือชีวกลศาสตร์ 2) Epidemiology หรือระบาดวิทยา 3) Physiology หรือสรีรวิทยา และ 4) Psychology หรือจิตวิทยา

โดยทั่วไป หลักการของ “การยศาสตร์” นั้น เป็นการคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับ “คน” และต้องมีการจัดระบบงาน และออกแบบสถานที่ทำงานอย่างสอดคล้องกับสรีระ และวิถีการเคลื่อนไหวของ “คน”

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 3 ประการ กล่าวคือ 1) สบาย หรือ Comfort 2) สวัสดิภาพ หรือ Well-being และ 3) ประสิทธิภาพ หรือ Efficiency ซึ่งประกอบไปด้วย 3.1) การผลิต หรือ Production 3.2) ร่างกาย หรือ Physiological และ 3.3) จิตใจ หรือ Mental

Senders และ McCormick (1987) กล่าวว่า “การยศาสตร์” หมายถึง การยึดธรรมชาติของมนุษย์เป็นเกณฑ์ในการออกแบบเพื่อสร้างเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ และวิธีการทำงาน ภายใต้สภาวะแวดล้อมใดๆ อย่างมีเป้าหมาย

หรือหมายถึง การใช้ความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ โดยอาศัยผลลัพธ์ที่สอดคล้องต้องกันแบบ “สามเส้า” ระหว่าง “คน” – “เครื่องมือ” – “สิ่งแวดล้อม” เป็นหลักนั่นเองครับ

 

ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกลและอุตสาหการของราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า Ergonomic ว่าหมายถึง “การยศาสตร์” ที่ประกอบสร้างจากคำว่า “การย” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “การงาน” หรือ Work กับคำว่า “ศาสตร์” แปลว่า วิทยาการ หรือ Science

“การยศาสตร์” ตามความหมายนี้ จึงแปลว่า การศึกษาเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กัน หรือ อันตรกริยา (interface) ระหว่าง “คน” กับ “เครื่องมือ” หรือ “อุปกรณ์” ภายใต้ “สิ่งแวดล้อม” ที่ “คน” ทำงานอยู่

และ Mouse ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งชัดเจนมากสำหรับการยกเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับ Ergonomic Design ที่นำมาใช้แก้ปัญหาอาการ Office Syndrome จากการใช้ Mouse ดังที่ได้เกริ่นนำไว้ข้างต้นนั่นเองครับ

โดยทุกวันนี้ ได้มีการออกแบบ Mouse รูปลักษณ์ใหม่ขึ้นตาม “มาตรฐานทางการยศาสตร์” อย่างมากมาย ซึ่งมีเป้าหมายบำบัดรักษาโรค Office Syndrome โดยเฉพาะอาการ “นิ้วล็อก” นั่นเอง

 

ไม่ว่าจะเป็น Pointing Stick หรือ Nipple Mouse ที่ IBM คิดค้นขึ้นมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ก่อนที่ต่อมาจะรู้จักกันในนาม TrackPoint ที่ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้ง PC และ Notebook ของ IBM กระทั่งขายกิจการให้กับ Lenovo ไปในปัจจุบัน โดยสินค้าหลายรุ่นยังคงติดตั้ง Pointing Stick ดังกล่าวเอาไว้ ภายใต้รหัสรุ่นว่า ThinkPad

Pointing Stick หรือ Nipple Mouse นี้ ถือเป็นสุดยอดนวัตกรรมตามหลัก Ergonomic Design อย่างแท้จริง เนื่องจากมันไม่ใช่ Mouse ที่เราคุ้นเคยและทำให้เกิดปัญหา “นิ้วล็อก” ตามมานั่นเอง เพราะ Pointing Stick คือปุ่มยางขนาดเล็กที่ติดตั้งอยู่ในแผง Keyboard

กลไกการทำงานของมันก็คือใช้นิ้วคลึงไปบนปุ่มนั้น เช่น คลึงไปทางซ้าย Cursor หรือ Pointer ของ Mouse ก็จะไปทางซ้าย หรือคลึงไปทางขวา หรือจะขึ้นๆ ลงๆ Pointer ของ Mouse ก็จะเคลื่อนตามไปในทิศทางที่เราต้องการ

นอกจาก Pointing Stick รุ่นโบราณแล้ว ปัจจุบัน ได้มีการออกแบบ Mouse ตามหลัก Ergonomic Design ตามมาอีกหลายรุ่นทีเดียวครับ อาทิ Touchpads ที่ใช้หลักกลไกการทำงานคล้ายกับ Pointing Stick ของ IBM แต่มาในรูปแผ่นกระจกวางในตำแหน่งวาง Mouse คือด้านขวามือ วิธีใช้ให้ลาก-เลื่อนนิ้วไปบนแผ่นกระจกเหมือนกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือหรือจอภาพคอมพิวเตอร์ชนิด Touch Screens ทั่วๆ ไป

หรือจะเป็น Trackballs / Rollerballs ที่ออกแบบโดยพลิก Mouse ให้หงายขึ้นมา โดยให้ลูกบอลมาอยู่ด้านบนแทนที่จะติดตั้งลูกบอลไว้ด้านล่างเหมือน Mouse ปกติทั่วไป การใช้งานก็ใช้นิ้วคลึงลูกบอลให้เคลื่อนที่เหมือนฟังก์ชั่นการทำงานของ Pointing Stick ทุกประการครับ

นอกจากนี้ ก็ยังมี Mouse รุ่น Joysticks ที่มีการออกแบบรูปลักษณ์เหมือนอุปกรณ์เล่นเกมทุกประการ คือมีคันบังคับเล็กๆ โผล่ขึ้นมาบนหลัง Mouse ให้เราใช้นิ้วโยกเพื่อเคลื่อนตำแหน่ง Cursor หรือ Pointer ของ Mouse นั่นเอง

 

และก็มาถึง Mouse รุ่นที่ถือว่าออกแบบมาตรงตามหลัก Ergonomic Design เพื่อแก้ปัญหา “นิ้วล็อก” มากที่สุด นั่นคือ Vertical Mouse หรือ Mouse แนวตั้ง หมายถึงการยกระดับ Mouse ขึ้นมาจากแนวราบ ที่ทำให้สรีระมือของเราต้องกดก้มลง มาเป็นลักษณะเหมือนกับท่วงท่าของการจับไม้แบด ซึ่งจะทำให้เราคลายเมื่อยไปได้มาก

Ergonomic Design ของ Mouse ยังมี Mouse รุ่นแหวน ที่ออกแบบมาให้สวมไว้ที่นิ้ว เมื่อนิ้วเคลื่อนที่ Cursor หรือ Pointer ของ Mouse ก็จะเคลื่อนไปตามทิศทางของนิ้ว นอกจากนี้ยังมี Mouse ที่สั่งการด้วยเสียง หรือ Voice Access คือแค่พูดว่า ซ้าย ขวา บน ล่าง เท่านั้นครับ

และสุดยอดของ Mouse รุ่น Ergonomic Design ก็คือ การมาถึงของ Mouse รุ่น Head Control และรุ่น Eye Control

ที่เพียงแค่ส่ายหน้า หมุนศีรษะ หรือกลอกดวงตาไปมา Cursor หรือ Pointer ของ Mouse ก็จะเคลื่อนไปตามทิศทางของหัว และลูกตาของเรา

ถือเป็นนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมากครับ

Mouse ทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างนี้ ปัจจุบัน มีวางจำหน่ายจริงแล้ว ทั้งในต่างประเทศและในบ้านเรา ซึ่งจะมาช่วยแก้ปัญหา Office Syndrome หมวดอาการ “นิ้วล็อก” จากการใช้ Mouse ตามหลัก Ergonomic Design

หรือ “มาตรฐานการยศาสตร์” ทุกประการนั่นเอง