บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : วิบากกรรมช้าง (บ้าน) ไทยระลอกใหม่ ในตลาดขายทัวร์ยุโรป-อเมริกา

นับแต่ไทยได้ชื่อว่าคือมหานครใหญ่ด้านท่องเที่ยวอันยิ่งใหญ่แห่งเอเชีย ที่ชาวต่างชาติใฝ่ฝันอยากมาเที่ยว ให้สมคำร่ำลือคนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยไมตรีน่ารัก

ธรรมชาติแสนสวย ทะเลมีสีสัน วัฒนธรรมประเพณีแต่ละภาคมีให้เห็นตลอดปี เมืองน้อยใหญ่จึงเติบโตคึกคัก ก่อให้เกิดรายได้ท้องถิ่น สร้างงานสร้างอาชีพ จากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวในมิติต่างๆ

หนึ่งในหลายอาชีพที่เคยร่วมวงทำมาหากินก็คือช้างกับคนเลี้ยงช้างซึ่งเป็นช้างเลี้ยง ทำนอง “ช้างบ้าน” ที่ชวนกันทิ้งถิ่นไปเป็น “ช้างเร่ร่อน” ในเมืองท่องเที่ยวรวมอยู่ด้วย

โดยวิธีใช้ช้าง สัตว์ขนาดใหญ่เดินเร่ขายกล้วยอ้อยกับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แล้วป้อนให้ช้างกินเป็นรายได้เลี้ยงชีพ แลกกับความสุขของคนที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับช้าง

ใหม่ๆ ดูจะไม่มีปัญหา แต่…นานวันเข้าช้างบ้านมีแต่จะทิ้งถิ่น เข้าสู่เส้นทางอาชีพช้างเร่ร่อน กลายเป็นปัญหาสังคมเรื้อรังมากขึ้นทุกวัน

จนองค์กรมูลนิธิคนรักช้างต้องลุกขึ้นมาแสดงออก ด้วยมองว่า…นี่คือการกระทำทารุณกรรมช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่าควรอยู่ในป่า แต่กลับถูกนำมาย่ำเดินบนถนนคอนกรีต และใช้งานควบกลางวันกลางคืนถึงดึกดื่น แทบไม่มีเวลาให้พักผ่อนตามธรรมชาติของมัน

ร้ายกว่านั้น…ช้างบางเชือกถูกบังคับทำงานโดยใช้สารเสพติดให้เสพจนติดงอมแงม!

 

ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมองเห็นปัญหา ตั้งแต่เรื่องเพิงพักชั่วคราวของช้างกับคนเลี้ยง การกีดขวางทางจราจร และการรักษาความสะอาดบ้านเมือง อีกทั้งความปลอดภัยในชีวิตช้าง

ปัญหาช้างเร่ร่อนจึงมีแต่บานปลาย ท้ายสุดถึงต้องนำหลักกฎหมายขึ้นมาแก้ไข ในแง่รบกวนสร้างความรำคาญในที่สาธารณะ

แต่ก็อีกนั่นแหละ…เมื่อมีการจับกุมแล้ว จะเอาช้างของกลางไปเก็บไว้ตรงไหน หาอาหารจากที่ไหนมาเลี้ยงมันระหว่างรอดำเนินคดี?

กระทั่งเมื่อนำมาตรการทางอ้อมมาใช้ โดยการให้ความช่วยเหลือเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำกินใหม่ ให้เป็นทางออกของคนและช้าง ทางแรกคือสนับสนุนให้กลับคืนถิ่นบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

กลับไปเป็นประชากรช้างในศูนย์คชศึกษาประจำหมู่บ้าน ต้อนรับนักท่องเที่ยวแต่ละวัน

อีกทางหันเข้าปางช้างภาคเหนือ บริการทัวร์นั่งช้างเทรกกิ้งไปตามป่าดงดอย ทางสุดท้ายเลือกเข้าโรงโชว์วิถีช้างในสถานที่ท่องเที่ยว อาทิ พระนครศรีอยุธยา พัทยา สมุย ภูเก็ต

เป็นช้างกินเงินเดือนมีที่อยู่แน่นอน คู่กับคนเลี้ยงที่ต้องทำงานเป็นช้างโชว์ให้นักท่องเที่ยวชมแต่ละรอบวัน…

ภาพช้างเร่ร่อนจึงพลันหายไปในที่สุด!

 

ถ้าเปิดปูมการใช้ช้างไทยเป็นช้างโชว์อวดนักท่องเที่ยว ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2503 ปีก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( อสท.) โดย พ.อ.เฉลิมชัย จารุวัสตร์ (ยศขณะนั้น) ผู้อำนวยการคนแรก ได้ไปเห็นการแสดงวิถีชีวิตม้า เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวของออสเตรเลีย

จึงได้นำความคิดนั้นมาใช้กับช้างไทย ซึ่งขณะนั้นช้างมีมากใน จ.ชัยภูมิ-สุรินทร์ โดยเลือกจัดที่ จ.สุรินทร์ เรียก “งานแสดงช้างสุรินทร์” จัดประจำปีทุกสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน

มีการขายทัวร์ในตลาดต่างประเทศ พอถึงไทยก็พานั่งรถไฟไปเที่ยวงาน…การแสดงช้างสมัยนั้นเน้นสาธิตวิถีชีวิตช้าง ขณะทำงานชักลากไม้ในป่าช่วงยังเปิดให้มีการทำไม้ได้

นอกจากนี้ เป็นพิธีกรรมจำลองการเซ่นบูชาผีปะกำ ก่อนส่วยช้างออกคล้องช้างป่าและวิธีการคล้อง สลับการแสดงวัฒนธรรมอีสานผสมเขมร เช่น ระบำตั๊กแตนกะโน้นติงตอง ระบำเต้นสากเรือมอันเรคล้ายรำลาวกระทบไม้

ปิดท้ายด้วยชุดช้างศึกตามตำรายุทธหัตถีพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงใช้ช้างเป็นพาหนะทำสงครามรักษาบ้านเมือง เป็นชุดแสดงสุดอลังการที่คงขายกันมาถึงปัจจุบัน

 

แต่น่าเสียดาย…ต่อมางานแสดงช้างสุรินทร์ได้ถูกดัดแปลงเป็นช้างละครสัตว์มากขึ้น เช่น ให้เตะฟุตบอล เป่าหีบเพลง แสดงพลังชักเย่อกับทหาร 1 กองร้อยย่อยๆ พิสดารสุด…คือให้เดินไต่ถังบนกระดานวางพาดปากถังเรียงกัน มันผิดเจตนาการส่งเสริมท่องเที่ยวแต่ยุคแรกเริ่ม!

กลายเป็นข้อปัญหาให้ชมรมคนรักสัตว์อเมริกันเคยออกมาสร้างสัญลักษณ์ต่อต้านไทยเมื่อปี 2523 ชูประเด็นการเลี้ยงช้างตามโรงแรม และนำงูมาให้นักท่องเที่ยวคล้องคอถ่ายรูป

ที่คนกลุ่มนี้รับไม่ได้…ก็ตรงฟาร์มจระเข้ที่เลี้ยงเพื่อฆ่าเอาหนังมาทำกระเป๋า เข็มขัด รองเท้าแบรนด์ดัง

การต่อต้านครั้งนั้นยังโชคดีที่ไม่มีแพลตฟอร์มไซเบอร์ มีแต่เอกสารเผยแพร่สู่สมาชิกทั่วโลก เรียกร้องให้งดมาเที่ยวเมืองไทยด้วยเหตุผลดังกล่าว และมีการส่งถึงรัฐบาลไทยในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้แก้ปัญหา

แล้วก็คลี่คลายได้ระดับหนึ่งให้ท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้

 

ล่าสุด…กลุ่มอนุสัญญาวอชิงตัน ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศชนิดสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ไซเตส” ซึ่งเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ปี 2518 กับองค์กรพิทักษ์สัตว์โลก หรือ “ดับเบิลยู.เอ.พี.” ได้จับตามองช้างไทยที่ถูกนำมาใช้งานแบบผิดธรรมชาติขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง

ด้วยช้างบ้านเราถือเป็นช้างเอเชีย ปรากฏในกลุ่มบัญชีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เหมือนช้างแอฟริกา แพนด้าแดง ลิงกอริลล่า-ชิมแปนซี เสือดาว-จากัวร์-ชีตาห์ สิงโตอินเดีย พะยูนอย่างมาเรียมกับยามีลลูกหลงแม่แถบทะเลตรัง แรด ปลายี่สกเช่นที่เคยเห็นชุกชุมในแม่น้ำท่าจีน

ไซเตสได้ปฏิบัติการเข้มข้นบนโลกไซเบอร์ เปิดยุทธการชักชวนผู้ประกอบการนำเที่ยวตลาดยุโรป-อเมริกามาไทย ให้ลบรายการขายโชว์ช้างไทยทุกมิติ ตามปางช้างและสวนสนุก

กับให้หยุดโฆษณาขายผ่านสื่อทุกชนิด เท่านั้นไม่พอ ยังรณรงค์ภาคประชาชนให้เลิกชมโชว์ช้างไทยในทุกหนแห่ง!

 

ยุทธการนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการต่อต้าน ทำให้กิจกรรมโชว์ช้างไทยประสบกับหายนะอย่างรุนแรง เพราะผลตอบรับคือทุกแห่งต้องร้างห่างทัวร์ยุโรป-อเมริกาโดยสิ้นเชิง กระทบถึงนักลงทุนเจ้าของกิจการ คนเลี้ยงช้างและช้างที่อาจหวนกลับไปเร่ร่อนอีกครั้งหนึ่ง

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) วิตกกับปัญหา ด้วยไทยมีช้างบ้านขึ้นทะเบียน 2,700 เชือก จากข้อมูลจริง 4,500 เชือก

จึงอยากร้องเรียนผ่านไปยังภาครัฐ ให้รับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบเร่งลดความตึงเครียดก่อนกระทบมากกว่านี้ เพราะรายได้ท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตปีนี้ที่ 3.38 ล้านล้านบาทนั้น ช้างกับคนเลี้ยงก็มีส่วนสนับสนุนให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐในการพัฒนาประเทศ

“รัฐควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ททท. กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติฯ เกษตรฯ วัฒนธรรม มูลนิธิช้างไทย ร่วมกันชี้แจงทำความเข้าใจกับไซเตส และดับเบิลยู.เอ.พี. รวมถึงประชาชนสองตลาดถึงสถานภาพการดูแลวิถีช้างบ้านไทยตามความเป็นจริง”

ดร.อดิษฐ์กล่าว และว่า เราต้องเร่งผลิตเครื่องมือสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างประเทศทุกช่องทาง รวมถึงแพลตฟอร์มไซเบอร์ เช่น สปอตโฆษณา สารคดี เอกสารเผยแพร่ชี้นำข้อเท็จจริงว่า ไทยมีช้างป่า 2,000-3,000 ตัวทั่วประเทศ มีกฎหมายห้ามล่ามานานตั้งแต่ปี 2443

แก้ไขเพิ่มเติมปี 2464 และ 2503 กับปี 2535 ผนวกห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดอื่นพ่วงกับช้างป่า

ทำความกระจ่างเรื่องช้างบ้านก็คือ ลูกหลานช้างป่า ตกลูกและถูกเลี้ยงดูเหมือนสัตว์เลี้ยงครัวเรือน ผูกพันร่ำไห้เมื่อช้างล้ม ช้างก็ซึมเศร้าเมื่อคนเลี้ยงจากไป จึงยากที่จะทำทารุณกรรมมัน

ควรชี้แจงให้เห็นศูนย์อนุรักษ์ช้างของรัฐ จ.ลำปาง ทำหน้าที่ดูแลและอภิบาลช้าง กับมีนักสัตวบาลคอยใส่ใจเรื่องสุขภาพทั้งยามปกติหรือป่วยไข้อยู่ทั่วตามสถานเลี้ยงช้าง

ดร.อดิษฐ์อยากให้รัฐใช้ทีมไทยแลนด์ คือสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศเป็นแกนนำขับเคลื่อนตลาดโลก ให้รับรู้วิถีจริงช้างไทยกับคนเลี้ยง ควรปรับแผนท่องเที่ยว ททท.ที่จะนำทัวร์เอเย่นต์กับสื่อ มาไทยทุกปี ให้เชิญผู้แทนองค์กรต่อต้านมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย

เชื่อว่า…น่าจะช่วยคลายปมปัญหา และมีส่วนเติมเต็มรายได้ท่องเที่ยวเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ทั้งนั้น…ผู้ประกอบการช้างก็พึงระวัง ไม่ผุดปัญหาให้องค์กรพิทักษ์ช้างขัดหูขัดตาขึ้นมาอีก!