ความท้าทายรัฐบาลประยุทธ์ 2 กับความไว้วางใจมวลชนต่อทหาร ที่ชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก

ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

สถานการณ์ความมั่นคงชายแดนใต้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 เวลา 15.30 น. พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้เดินทางไปชี้แจงสร้างความเข้าใจและขอโทษกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตรวจค้นเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ที่หมู่ 1 และหมู่ 4 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา ตามที่มีการเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ Wartani

กล่าวคือ จากเหตุการณ์ตรวจค้นเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ได้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 500 นาย ปฏิบัติการปูพรมตรวจค้นบ้านเรือนในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 4 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา

“ชาวบ้านรู้สึกตกใจเพราะเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นเวลาที่ชาวบ้านกำลังหลับนอนอยู่ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ได้มาตรวจค้นบ้านทุกเรือน ซึ่งต่างกันกับครั้งที่ผ่านๆ มา เจ้าหน้าที่จะเจาะจงบ้านเรือนที่อยู่ในเป้าหมายเท่านั้น แต่ในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นบ้านนายอุเซ็ง ยุมอ กำนัน ต.บ้านแหร บ้านนายอับดุลการิม ยุมอ นายก อบต.บ้านแหร บ้านผู้นำชุมชน บ้านกรรมการมัสยิด บ้านนายซาการียา บาเหะ ประธานชมรมอีหม่าม อ.ธารโต และบ้านนายซอมะ มะเซ็ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา (ส.อบจ.ยะลา) บ้านทุกเรือนถูกตรวจค้นเก็บดีเอ็นเอหมด”

ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแหรกล่าวถึงการตรวจค้นในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ห้ามชาวบ้านถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ

และยังได้ตรวจเช็กโทรศัพท์มือถือของชาวบ้านอีกด้วย หากพบภาพหรือคลิปวิดีโอในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เจ้าหน้าที่ก็จะลบภาพนั้นทิ้งทั้งหมด

ด้าน Romzee Dokhor cso patani ได้โพสต์ข้อความบน FB ส่วนตัว “การปิดล้อม ตรวจค้น ควรเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม”

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และนายซูการ์โน่ มะทา ส.ส.ประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความบน FB ส่วนตัว เป็นห่วงกังวลกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชายแดนใต้ปิดล้อมตรวจค้นบ้านชาวบ้านหลายหมู่บ้าน และมีการตรวจ DNA ทั้งประชาชนและผู้นำท้องถิ่น

ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้อดห่วงประชาชนตาดำๆ ไม่ได้ เพราะการกระทำรูปแบบนี้ยิ่งเป็นการสร้างความหวาดกลัว สุดท้ายจะผลักประชาชนไปสู่กลุ่มแนวร่วม

จึงแจ้งประชาสัมพันธ์ทุกท่านสามารถร้องเรียนผ่านตัวแทนของประชาชนที่ทุกท่านเลือกมาได้ สภาผู้แทนราษฎรคือที่พึ่งของประชาชน “รู้สึกไม่สบายใจกับปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับการปิดล้อมหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน” #โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปูพรมตรวจค้นทุกหลังคาเรือนที่บ้านแหร ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา #พร้อมกับการตรวจ DNA จากผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำธรรมชาติ ตลอดจนประชาชนทั่วไป

ปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่แน่ใจกับแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ของฝ่ายความมั่นคงว่าการทำแบบนี้จะเป็นการผลักประชาชนส่วนใหญ่ของที่นี่ไปเป็นแนวร่วมของฝ่ายขบวนการ

หรือจะเป็นการแสดงศักยภาพเพื่อข่มขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวกันแน่

หลังจากภาพข่าว แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวขอโทษ

หลังจากภาพข่าว แม่ทัพภาคที่4 กล่าวขอโทษ ทำให้เห็นกระแสประชาชนและประชาสังคมดังนี้

1. เห็นด้วยที่แม่ทัพออกมาขอโทษ

เช่น นางสาวอัญชนา หีมมีนะ จากกลุ่มด้วยใจกล่าวว่า “ขอแสดงความชื่นชมต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ที่แสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษต่อปฏิบัติการทางทหารที่สร้างมลทินให้กับประชาชนแบบเหมา”

Romzee Dokhor นักศึกษา 4 ส.ใต้รุ่นที่ 2 กล่าวว่า

“สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องชื่นชมในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่สี่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญครับอาจารย์ นักวิชาการ ภาคประชาชน หากมีโอกาสก็ควรสะท้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไปและขอขอบคุณอาจารย์ (ผู้เขียน) อีกครั้งที่นำเสนอแนวคิดที่ดีครับ”

การที่แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาขอโทษและลงพื้นที่ร่วมกับ ส.ส. นับเป็นสิ่งที่ดี ในขณะที่สื่อภาคประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐมาตลอดออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อโลกโซเชียลจนทำให้แม่ทัพออกมายอมรับความผิดพลาดในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เป็นการแสดงความเข้มแข็งแม้จะถูกโจมตีว่าเป็นสื่อโจร

อย่างไรก็แล้วแต่ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้แถลงเจตนารมณ์ว่า

“หน่วยความมั่นคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติเพื่อสร้างความสงบสุขและความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน เนื่องจากพบภาพข่าวความเคลื่อนไหวเตรียมก่อเหตุรุนแรงและประกอบกับในห้วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่หลายครั้ง”

“ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังขาดความรอบคอบในการปฏิบัติและไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมที่จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือว่าความผิดพลาดในการปฏิบัติในครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ โดยพร้อมที่จะรับฟังทุกคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ของทุกภาคส่วน เพื่อจะนำไปปรับปรุงแก้ไขแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่อาจเป็นเงื่อนไขใหม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีนำไปขยายผลในอนาคต”

“และจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงและแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ต่อไป”

2. บทเรียนและข้อเสนอ

ในโลกโซเชียลมีการนำเสนอว่าการขอโทษครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก อย่างน้อยก็ 5 ครั้งที่ กอ.รมน.ออกมาขอโทษชาวบ้านเรียงลำดับดังนี้

ครั้งที่หนึ่ง 21 กันยายน 2555 ระเบิดเทศบาลตะลุบัน สายบุรี ปัตตานี

ครั้งที่สอง 25 มีนาคม 2558 คดียิงชาวบ้านที่โล๊ะชูด

ครั้งที่สาม ทหารยิงชาวบ้านอำเภอมายอ ปัตตานี 28 กรกฎาคม 2560

ครั้งที่สี่ 26 เมษายน 2561 ระเบิดจักรยานยนต์ตลาดเมืองยะลา

และครั้งที่ห้า คือครั้งนี้ (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10219929757094718&set=p.10219929757094718&type=3&theater)

การขอโทษเป็นสิ่งที่ดี แต่ชาวบ้านก็ดูอยู่ว่า หลังขอโทษใครจะรับผิดชอบ ใครจะจัดการคนทำผิด ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่า ชาวบ้านยังตั้งคำถามเรื่องเหล่านี้อยู่

เป็นกำลังใจแม่ทัพภาคที่ 4 และนับถือหัวใจที่กล้าขอโทษประชาชนชายแดนใต้สมชายชาติทหาร รวมทั้งได้ยืนยันในเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความสงบสุขในพื้นที่ภายใต้หลักกฎหมายที่เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการปฏิบัติภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธี เพื่อร่วมสร้างสันติสุขให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด

และขอฝากไปถึงประชาชน หากมีเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยเกิดขึ้นในพื้นที่ หรือพบเหตุร้าย หรือการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่สามารถโทร.สายตรงแจ้งถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ทันที ที่หมายเลข 06-1173-2999

หากเป็นไปตามนี้จริงก็จะทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาชายแดนใต้ร่วมกับท่านในบรรยากาศรัฐบาลใหม่ที่สัญญาว่าจะใช้การเมืองนำการทหาร

ตามที่นายอับดุลฮายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 3 ยะลา พรรคประชาชาติ ซึ่งได้มาร่วมพบปะพูดคุยรับทราบปัญหาในครั้งนี้ได้กล่าวว่า

“ชื่นชมที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ลงมาแก้ไขเหตุการณ์อย่างทันท่วงที พร้อมรับฟังทุกเสียงสะท้อนของชาวบ้าน ตนในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป”

แต่ล่าสุดไม่ทันอะไร มีข่าวแพร่สะพัดโลกโซเชียลว่าชาวบ้านที่ถูกควบคุมตัวในค่ายอาการโคม่า

กล่าวคือ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ทางเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (Jasad) ได้เผยแพร่ข่าวทางเพจเครือข่ายว่า

“นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 32 ปี บ้านเลขที่ 219/2 ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายและจำนวนเข้าไปควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 16.00 น.ที่ผ่านมา จากนั้นเจ้าหน้าที่พาไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงฯ อ.หนองจิก จ.ปัตตานีนั้น ญาติได้ประสานมาว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่า นายอับดุลเลาะหมดสติโดยได้นำตัวไปส่งที่โรงพยาบาล จ.ปัตตานี เมื่อเวลา 04.00 น. ขณะนี้นายอับดุลเลาะอยู่พักรักษาตัวอาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ไม่รู้สึกตัว ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ”

ส่วนสาเหตุมาจากอะไรนั้นกำลังถูกกระแสโลกโซเชียลกระหน่ำหน่วยความมั่นคงว่าพลาดอีกแล้ว อันจะส่งผลโดยตรงต่อรัฐบาลใหม่ประยุทธ์ 2 อย่างแน่นอน

และมันจะเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากกว่าสมัยการเมืองภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่อยู่ภายใต้ คสช. เพราะปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มีฝ่ายค้านเข้มแข็ง

ที่มีโอกาสใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสั่นคลอนรัฐบาลประยุทธ์ 2