รู้จัก ‘พระอุบาลีคุณูปมาจารย์’ หลวงพ่อใหญ่แห่งเมืองพะเยา

ถ้าพูดถึงพระสงฆ์แห่งอาณาจักรล้านนา พระผู้ปฏิบัติดี ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการศาสนาและสังคมไทย นอกจากครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทยแล้ว

ก็จะนึกถึงพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) หรือหลวงพ่อใหญ่ แห่งวัดศรีโคมคำ หรือวัดพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา เป็นลำดับถัดมา

ผมมีโอกาสได้กราบนมัสการหลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ครั้งแรก เมื่อครั้งสมัยยังเด็ก คือเมื่อปี พ.ศ.2525 จำได้ว่าปีนั้นผมบรรพชาเป็นสามเณรในโครงการบรรพชาภาคฤดูร้อน เป็นช่วงสงกรานต์ มีประเพณีอยู่ว่าช่วงปีใหม่เมือง พระ-เณรวัดต่างๆ ทุกอำเภอจะไปทำสามีจิกรรม (สระเกล้าดำหัว) พระผู้ใหญ่ในจังหวัด

ความทรงจำในครั้งนั้นตรึงตาติดใจด้วยศีลาจารวัตรอัธยาศัยความไม่ถือตน และสัมผัสได้ถึงสีหน้าแววตาที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาของพระผู้ใหญ่ที่มองมายังกลุ่มพระเณรตัวเล็กตัวน้อย

ผมได้ศึกษาภาษาพื้นเมืองเหนือ “หนังสือเมือง” และค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองพะเยาและอาณาจักรล้านนา-ล้านช้างจากตำราที่หลวงพ่อได้รวบรวมและเรียบเรียงไว้ กล่าวได้ว่าเท่าที่ศึกษามายังไม่มีหนังสือหรือตำราใดที่ได้อ่านและค้นคว้าจะทัดเทียบกับที่หลวงพ่อได้จัดทำไว้

ที่สำคัญ หลวงพ่อได้รวบรวมโบราณวัตถุของเมืองพะเยา ที่กระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งวัดเก่า แหล่งโบราณ เนินคูน้ำ ตามไหล่เขา ละเมาะป่า หรือตามหัวไร่ปลายนา นำมารวมจัดเป็นหมวดหมู่ ตั้งแสดงให้อนุชนได้ศึกษา ณ หอวัฒนธรรมนิทัศน์

หลวงพ่อได้ส่งเสริมงานด้านการศึกษา นอกจากการศึกษาด้านปริยัติธรรมแล้ว ยังจัดตั้งโรงเรียนพินิตประสาธน์ ให้กุลบุตร กุลธิดา ลูกชาวไร่ชาวนาได้รับโอกาสการศึกษา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการจัดตั้งโรงเรียนเอกชน ผู้ก่อตั้งต้องมีงบประมาณจำนวนมากถึงจะทำได้สำเร็จ

สําหรับหลวงพ่อการจัดตั้งโรงเรียนแทบจะไม่มีทุนรอนเลย ทั้งอาคารเรียน กระดาน โต๊ะ เก้าอี้ ต้องอาศัยความทุ่มเท ตรากตรำลำบาก ความเสียสละ สติ ปัญญาของหลวงพ่อโดยแท้

ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดเคยเล่าว่า หลวงพ่อไปงานกิจนิมนต์ที่ใดก็จะนำไทยธรรม จตุปัจจัยนำมาซื้อชอล์ก กระดาน เก้าอี้ เป็นค่าจับจ่ายใช้สอย เลี้ยงดูพระ-เณรและเด็กๆ ที่มาพำนักศึกษาเล่าเรียน

ในส่วนมหาวิทยาลัยสงฆ์ หลวงพ่อรับภาระให้มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมาเปิดสาขาวิทยาเขต ณ วัดศรีโคมคำ เพื่อเป็นแหล่งอุดมศึกษาสำหรับพระ-เณรและประชาชนทั่วไป

และยังได้อนุเคราะห์เป็นประธานการก่อสร้างอาคาร

จัดหาครุภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาล สถานศึกษาอีกจำนวนมาก

นอกจากความเชี่ยวชาญด้านภาษาพื้นเมืองและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุแล้ว เท่าที่สังเกตหลวงพ่อยังเป็นผู้ทรงภูมิด้านภูมิสถาปัตยกรรม อาคารสิ่งก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ภายในวัดศรีโคมคำ มีการจัดผังหมวดหมู่ตามประเภทใช้สอยได้อย่างเหมาะสม

พระวิหารที่ประดิษฐาน “พระเจ้าตนหลวง” ศาลารายที่รวบรวมพระพุทธรูปหินทรายศิลปะสกุลช่างพะเยา ได้รับการตกแต่งบำรุงรักษาอย่างทรงคุณค่า การจัดหมวดหมู่อาคารเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส อาคารสำนักเรียนได้อย่างเหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิหารกลางน้ำ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 โดยการอุปถัมภ์จากนายขรรค์ชัย บุนปาน ผู้บริหารเครือมติชน

ภายในมีจิตกรรมฝาพนังลวดลายวิจิตรสวยงาม วาดโดยศิลปินแห่งชาติ เป็นการจัดวางภูมิสถาปัตย์ได้อย่างลงตัว

การจัดผังภูมิสถาปัตยกรรมที่น่าประทับใจอีกประการ คือ มองภาพรวมภายในวัด อาจแบ่งได้ 3 แดน คือแดนสวรรค์ แดนโลก และแดนนรก

กล่าวคือ เขตพุทธาวาสเปรียบเหมือนแดนสวรรค์ เขตสังฆาวาสเปรียบเหมือนแดนโลก และเขตที่แบ่งโซนมีการก่อสร้างปูนปั้น เป็นการปั้นรูปเปรต อสุรกาย คนบาปผิดศีลต้องตกกระทะทองแดง ถูกแทงด้วยอาวุธแหลมคม ปีนต้นงิ้ว มีรูปยักษ์ รูปมาร เพื่อเตือนสติให้ผู้คนได้ละชั่วกลัวบาป เขตนี้อยู่ติดบริเวณถนนหน้าวัด เยื้องมาทางทิศเหนือ คงประสงค์ให้ผู้คนสัญจรผ่านไปมาได้เห็นกันอย่างชัดเจน เพื่อจะได้เกรงกลัวการกระทำผิด

จึงเปรียบเขตนี้ดั่งแดนนรก

สําหรับปฏิปทาด้านความสันโดษของหลวงพ่อใหญ่แห่งเมืองพะเยานั้น มีเรื่องเล่าว่าพระพรหมมังคลาจารย์หรือหลวงพ่อปัญญานันทะแห่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เคยมาใช้ห้องน้ำที่กุฏิหลวงพ่อใหญ่สมัยอยู่วัดสูง หลวงพ่อปัญญาเดินผ่านห้องจำวัดของหลวงพ่อใหญ่ มองไม่เห็นสัมภาระหรือบริขารมากมายอะไร นอกจากที่จำวัด หลวงพ่อปัญญาถึงกับเอ่ยขึ้นว่า “สมภารองค์นี้ ไม่สะสมอะไรเลย ไม่เห็นเหมือนสมภารบางองค์ที่เคยเห็นมา”

เมื่อครั้งผมรับราชการใหม่ๆ ไปเป็นวิทยากรโครงการบรรพชา-อุปสมบทภาคฤดูร้อน เดินทางร่วมคณะมาสระเกล้าดำหัวตามประเพณี ขณะถ่ายภาพหมู่บริเวณด้านหน้าพระเจ้าตนหลวง จังหวะนั้นหลวงพ่อใหญ่เอื้อมมือมากุมมือผม อารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นอบอุ่น ยังจำความรู้สึกนั้นได้ ทุกครั้งที่นึกถึงภาพ

จะมีใครสักกี่คนบนโลกใบนี้ ที่เราได้สัมผัสไม่กี่ครั้ง แต่ยังตรึงใจในสัมผัสได้ถึงปานนี้

น้อมกราบคารวะหลวงพ่อใหญ่ด้วยความอาลัย