ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | พิราภรณ์ วิทูรัตน์ |
เผยแพร่ |
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะกดรีโมตไปช่องไหน หรือเข้าโซเชียลมีเดียผ่านแอพพลิเคชั่นใดเป็นต้องเจอกับข่าวของว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ จากพรรคไทยศรีวิไลย์ ด้วยลีลาท่าทางการพูดที่โผงผาง บวกกับคำตอบสุดยียวนก็พอจะทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่จดจำได้ไม่ยากนัก
แต่ที่มาพีกเอาสุดๆ จนทำให้สื่อหลายสำนักเล่นข่าวของเขากันไม่เว้นแต่ละวัน
ก็คงจะเป็นคลิปวิดีโอที่มงคลกิตติ์พูดคุยผ่านแฟนเพจของตนในทำนองที่มีการเล่าเรื่องย้อนไปตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า ในตอนนั้นเขาเป็น “ขาใหญ่” คุมพื้นที่บริเวณนั้นทั้งหมด
และไปไกลกว่านั้นอีกขั้นเมื่อมงคลกิตติ์เล่าถึงเหตุการณ์สมัยเรียนว่าเขาและเพื่อนๆ มีการยกพวกตีกันอยู่บ่อยๆ
ร้อนถึงบรรดาศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันเกิดความไม่พอใจในคำพูดที่ชวนให้บุคคลภายนอกมองมหาวิทยาลัยในทางที่ไม่ดี
จนมีการล่ารายชื่อถอดถอนมงคลกิตติ์ออกจากรายนามศิษย์เก่ารั้ว มจพ.ในที่สุด
หลังจากวิดีโอดังกล่าวแพร่กระจายส่งต่อกันเป็นวงกว้างมากขึ้น รายการทีวีก็พากันฉกชิงแย่งตัวเขามาจับเข่านั่งคุยล้วงแคะแกะเก่าถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์
หลายรายการมีความพยายามนำเขาไปนั่งซักถามคล้ายกับกำลังทำให้มงคลกิตติ์กลายเป็นตัวตลกในสายตาคนดู
และยิ่งไปกว่านั้น บรรดาคอมเมนต์ตามสื่อโซเชียลมีเดียก็พลอยเอนเอียงไปในเชิงแสดงความขบขันหัวเราะเยาะถึงปฏิกิริยาที่เขามีต่อพิธีกรในรายการด้วย
หลายคนออกมาคอมเมนต์ในเชิงเสียดสี
หลายคนออกมาคอมเมนต์เยาะเย้ยว่า ลักษณะแบบมงคงกิตติ์สมัยเรียนคงจะถูกแกล้งมาหนักมาก และการที่เขาออกมาพูดแบบนี้คงจะเป็นปมในใจที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กแน่นอน
สอดคล้องกับความคิดเห็นที่มีการอ้างตัวว่าเป็นเพื่อนของเขาสมัยเรียนชั้นมัธยมออกมาบอกว่า มงคลกิตติ์ไม่ใช่นักเลงหัวไม้อย่างที่เขาแสดงตัวเลยสักนิด
ตรงกันข้าม เขาเองนั่นแหละที่ถูกเพื่อนร่วมชั้นแกล้งบ่อยจนต้องวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากพี่สาวแทน
และเมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังมงคลกิตติ์ เจ้าตัวก็ยอมรับทันทีว่า เรื่องที่มีคนกล่าวอ้างถึงเป็นเรื่องจริง เพราะสมัยมัธยมเขาถูกแกล้งบ่อยมาก
ทั้งหมดที่มงคลกิตติ์อ้างถึงอย่างการใช้กำลังรุนแรงเพื่อเอาชนะ การเป็นหัวโจกในการยกพวกตีรันฟันแทง ไปจนถึงการคุยโวประสบการณ์มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดที่เรียกว่า แนวคิดชายเป็นใหญ่ (Patriarchy)
ฐานคิดที่ตีกรอบความเป็นชายอันเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง อดทน การใช้หลักตรรกะเหตุผลในการคิดตริตรอง
ตรงกันข้ามกับลักษณะของเพศหญิงที่เต็มไปด้วยความนุ่มนวล เปราะบาง ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง
ฉะนั้น ในสังคมที่ประกอบไปด้วยบุคคลสองเพศนี้ เพศชายที่ถูกนิยามด้วยร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งจึงมีคุณสมบัติในการปกครองบ้านเมืองมากกว่านั่นเอง
ทว่ากรอบคิดชายเป็นใหญ่ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ในการจัดหาที่ทางในสังคมให้กับผู้หญิงเท่านั้น
แต่นิยามความเข้มแข็ง อดทน มีเหตุผลเหล่านี้ยังไม่เอื้อให้ผู้ชายมีอารมณ์ความรู้สึกที่ผิดแผกจากคำจำกัดความเหล่านี้ด้วย
ยกตัวอย่างคำสอนที่ว่าเป็นผู้ชายต้องไม่ขี้แย ห้ามร้องไห้, เป็นผู้ชายต้องปกป้องผู้หญิง หรือกระทั่งคำด่าเสียดสีผู้ชายที่ว่า “หน้าตัวเมีย” หรือ “กลับบ้านไปใส่กระโปรงเถอะ”
หากเรามองลึกลงไปแล้วคำก่นด่าเหล่านี้สะท้อนถึงรากเหง้าการมีอยู่ของทั้งสองเพศได้เป็นอย่างดีว่า เพศชายถูกสถาปนาให้มีคุณค่าเหนือกว่าเพศหญิงเสมอ
และยิ่งเป็นการตอกย้ำไปอีกว่าสิ่งเหล่านี้ทำงานได้สมบูรณ์แบบเมื่อผู้ที่ถูกติเตียนด้วยคำเหล่านี้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับมัน การตอกย้ำภาพความเป็นชายซ้ำๆ เรื่อยมา
นำมาซึ่งผลผลิตแบบกรณีมงคลกิตติ์ที่เรียกว่า Toxic Masculinity
Toxic Masculinity แปลตรงตัวคือ ความเป็นชายที่เป็นพิษ หลักๆ แล้วผู้ชายที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะคิดว่า การใช้กำลังความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา คือตัวชี้วัดความสำเร็จของเพศชายที่ดี เพราะถูกบ่มเพาะสั่งสมตรรกะที่ว่ามาตั้งแต่เด็กด้วยกรอบคิดลักษณะความเป็นชายแบบ “ชายนิยม”
ความเป็นพิษที่ว่านำไปสู่การจัดการปัญหาแบบผิดๆ อย่างที่มงคลกิตติ์พูดถึงการยกพวกตีกันก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดทั้งการยกการใช้กำลัง การรุกรานข่มเหง และความรู้สึกที่สามารถควบคุมบางสิ่งบางอย่างได้มาโอ้อวดอย่างภาคภูมิใจ
เหล่านี้ยิ่งทำให้ความเป็นชายในตัวเขาพุ่งพล่านทวีคูณเพิ่มขึ้นๆ
บานปลายไปหยิบจับฉกฉวยในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องเพศที่เขาเล่าว่า ตนมีเซ็กซ์ครั้งแรกกับรุ่นพี่ตอนอายุได้ 17 ปีเท่านั้น
ความเข้มแข็ง การปกป้อง และเรื่องเพศทั้งหลายเป็นสิ่งที่ถูกสังคมชายเป็นใหญ่สวมครอบไว้ทั้งสิ้น
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่กดทับความเป็นชายในนิยามอื่นๆ หรือทำให้เพศหญิงต้องตกในที่นั่งลำบาก แต่ตัวของผู้ชายเองก็ต้องแบกรับความคาดหวังจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาโดยตลอดเช่นกัน
จากกรณีมงคลกิตติ์ หากเรื่องที่เขาเล่ามาเป็นความจริง นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะเขากลับหลงใหลไปกับมายาคติของ Toxic Masculinity ที่คอยกำกับสังคมอยู่
หรือหากทั้งหมดเป็นเรื่องที่ถูกกุขึ้นมาเพื่อปิดบังอำพรางบาดแผลในใจดังที่เขาเผยออกมาส่วนหนึ่งว่า สมัยมัธยมเขาถูกกลั่นแกล้งจริง
และหากในช่วงวัยมหาวิทยาลัยเขายังถูกกระทำเช่นนั้นก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพสังคมชายเป็นใหญ่ได้ชัดเจนมากขึ้นว่า เขาไม่ใช่ผู้ชายในแบบที่สังคมพึงปรารถนา
ทั้งหมดจึงผลักให้มงคลกิตติ์ต้องสร้างตัวตนในแบบที่ผู้ชาย “พึงเป็น”
แต่จะเห็นว่าเรื่องไม่ได้จบลงแค่นั้น คลิปวิดีโอของเขายังเผยให้เห็นถึงตรรกะของผู้ชายในสื่อโซเชียลหลายๆ คน ทั้งนักมวยที่ออกมาท้าชก เพื่อนวัยเรียนที่ออกมาเปิดปูมความหลัง
หรือบรรดานักเลงคีย์บอร์ดที่แสดงความคิดเห็นในทางเยาะเย้ยมงคลกิตติ์เองก็ยิ่งทำให้ภาพความเป็นชายที่เป็นพิษแจ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยจางหายไปจากสังคมเลยแม้แต่น้อย
คนที่ไม่เป็นไปตามโมเดลผู้ชายก็จะถูกกลั่นแกล้งทางสังคมอย่างโจ๋งครึ่ม ในกรณีมงคลกิตติ์เองตอนนี้ทั้งหน้าและคลิปของเขากลายเป็นไวรัลที่ถูกส่งต่อในลักษณะของ Social Bullying ไปเรียบร้อยแล้ว
ท้ายที่สุดคนที่ผิดแปลกไปจากขนบก็จะถูกสังคมตัดสิน-ตีตราให้กลายเป็นตัวตลก ไม่ว่าจะเป็นมงคลกิตติ์ เพื่อนสมัยเรียนที่ออกมาแฉ นักมวยท้าชก รายการจอมขยี้ หรือชาวเน็ตช่างคอมเมนต์ ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ต่อเติมให้ฐานคิดนี้มั่นคง แข็งแรง ยืนยงไปอีกไม่รู้จบสิ้น