‘นราธิป กาญจนวัฒน์’ หัวหน้าวง ‘ชาตรี’ สรุปชีวิตบวช 17 ปี ได้มาคำเดียว “ตั้งมั่นโพสต์ธรรมะทุกวัน”

วันนี้แม้ “นราธิป กาญจนวัฒน์” หัวหน้าวงดนตรี “ชาตรี” หรือพี่แดงของใครหลายคน จะอายุ 64 ปีแล้ว

แต่ก็ยังมีงานแสดงคอนเสิร์ตอยู่

ซึ่งบางงานเจ้าภาพอาจจะจ้างทั้งวง 5 คน หรือบางงานจ้างแค่หัวหน้าวงคนเดียวก็มี

แต่ไม่ว่าจะไปงานไหน ภรรยาสุดที่รัก “คุณบุษบา กาญจนวัฒน์ หรือกุ๊กไก่” จะอยู่ข้างกายทุกงาน

ทำเอาหลายคนแอบอิจฉาความรักของคนคู่นี้ที่คอยดูแลกันตลอด

และตอนนี้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการของวงชาตรีด้วย

ใครที่เห็นนราธิป ต่างออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ดูหน้าไม่น่าจะถึง 60 เลย แถมหุ่นยังดี ไม่มีพุง

เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า ออกกำลังกายด้วยการจ๊อกกิ้งและยืดเส้นยืดสาย ซึ่งตั้งแต่สึกจากพระมาตั้งแต่ปี 2548 ก็ยังร้องเพลงและแต่งเพลงเรื่อยมา

รวมทั้งโพสต์เรื่องธรรมะลงในเพจของวงชาตรีทุกวัน

โดยโพสต์วันละ 1 แผ่น เน้นธรรมะข้อเดียวคือ “ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ”

หัวหน้าวงชาตรีพูดถึงการโพสต์ธรรมะว่า เป็นการพิจารณาธรรมของตัวเองแล้วโพสต์ไว้ เผื่อว่าการพิจารณาธรรมจะยังประโยชน์ให้คนอื่นบ้างไม่มากก็น้อย

และทำขึ้นมาเพื่อทิ้งไว้ในโลกว่า ในระหว่างที่นราธิปยังมีชีวิตอยู่

นอกจากเขาทิ้งบทเพลงเอาไว้เป็นร้อยๆ เป็นพันเพลงแล้ว ในทางธรรมเขาก็มีธรรมะของเขาที่มันป็นเอกลักษณ์ทิ้งไว้เป็นพันเป็นหมื่นข้อเหมือนกัน คือมันเป็นอีกคัมภีร์หนึ่ง คัมภีร์โลก คัมภีร์ธรรม

“ผมบวชมา 17 ปี กลับออกมาก็เป็นนราธิปคนเดิม ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นนราธิปของวงชาตรีที่นำบทเพลงเพราะๆ ซึ้งๆ และประทับใจให้แฟนเพลงได้มีความสุขเหมือนเดิม ด้วยการแสดงบทบาทให้ดีที่สุด ที่ว่าเป็นคนเดิมหมายความว่า เวลาสวมบทบาท แต่จากที่เราได้ไปบวชมา ผมได้มาคำเดียวคือ ยอม คนเราถ้ายอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดในปัจจุบัน ทุกอย่างมันก็ดีหมด”

นราธิปบอกด้วยว่า คนเราที่มีความทุกข์เพราะว่าได้สิ่งที่ไม่พึงพอใจก็ไม่ยอม หรือว่าได้มาแล้วไม่พอใจมันเป็นทุกข์หมด

แต่ถ้ายอมรับความจริงในสิ่งที่ปรากฏขึ้น ในชีวิตประจำวันในทุกๆ วินาที และอยู่กับมันอย่างมีความสุข กลมกลืนไปกับมัน อันนี้ทำให้เบาไปจากความทุกข์

พิสูจน์กับตัวเองได้ด้วยคำเดียวเลยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้คือ “ยอม”

ยอมรับความจริง แล้วมันก็พาเราเหินขึ้นมาจากความทุกข์ ทุกข์กายบ้าง ทุกข์ใจบ้าง คุ้มค่ามากเลย เพราะไม่ใช้ธรรมะอะไรมากมาย

ถึงนราธิปจะอยู่ในคราบของมนุษย์ปุถุชนธรรมดา แต่ว่าเหมือนนักบวชคนหนึ่ง เพราะยามว่างที่ไม่ได้คิดเรื่องเพลง เรื่องการงาน มีแต่ธรรมะผุดขึ้นมาตลอดเวลา

ในการแสดงคอนเสิร์ตแต่ละครั้งนั้น เจ้าตัวเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากมิตรรักแฟนเพลงทุกเพศทุกวัย

และแม้วงชาตรีจะตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 และห่างหายไปตอนไปบวช แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังรู้จักผลงานของวงเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะเพลงฮิตอย่างเช่นแฟนฉัน, รักแล้วรอหน่อย, อธิษฐานรัก, รักอำพราง และหัวใจเจ้าชู้ ฯลฯ

อย่างที่เจ้าตัวบอก เมื่อใดที่ว่างจะมีธรรมะผุดขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้กระมังที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าหลังสึกออกมานราธิปเปลี่ยนไป บางคนถึงกับระบุไปในทางลบว่าเขาเพี้ยนไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง เป็นอย่างที่เขาแจกแจง

“จริงๆ ผมเป็นคนที่รักธรรมะมาตั้งแต่เด็กแล้ว คุณแม่ปลูกมาฝังตลอด เพราะชอบทางนี้ บางครั้งแฟนเขายังมองดูว่าผมแปลกๆ บางทีหลับไปแล้ว ล้มตัวลงนอน ธรรมะผุดขึ้นมา ลุกขึ้นมาใหม่ เปิดโทรศัพท์มือถือ บันทึกไว้ก่อนเดี๋ยวลืม เป็นอย่างนี้ เป็นคนแบบนี้ ถ้าร้องเพลงก็ร้องเพลง”

“แต่ถ้าว่างจริงๆ เรื่องทั้งหมดจะเป็นเรื่องของธรรมะ”

วกมาคุยเรื่องส่วนตัวกันบ้าง

ในครอบครัวของทั้งสองต่างรู้ดีว่านราธิปและบุษบานั้น รักและอยู่ด้วยกันมาก่อนที่ฝ่ายชายจะไปบวชนานถึง 17 ปี

ซึ่งตอนไปบวช ฝ่ายหญิงก็ตั้งท้อง กระทั่งต่อมาคุณบุษบาไปมีครอบครัวใหม่ สุดท้ายเลิกราจากกัน และในช่วงที่พระนราธิปสึกก็กลับมาอยู่เป็นครอบครัวอีกครั้ง

นราธิปเล่าถึงเรื่องนี้ว่า กับกุ๊กไก่เป็นแฟนกันมานานแล้ว แต่ว่ายุคสมัยก่อน เรื่องแบบนี้ ศิลปินสมัยโบราณบางเรื่องต้องปิด โดยเฉพาะเรื่องความรักส่วนตัว เรารักหลายสิบปี ตั้งแต่เป็นหนุ่มเป็นสาว คือเป็นเพื่อนอยู่ด้วยกัน

แต่ว่าเบื้องหลังจริงๆ กุ๊กไก่เขาเป็นคนช่วยแต่งเพลงมาหมดทุกเพลงเลย แม้กระทั่งเพลงแฟนฉัน หรือเพลงอธิษฐานรัก เขาจะอยู่เบื้องหลัง

บางเพลงช่วยแต่งทำนอง บางเพลงช่วยเนื้อ บางเพลงจะช่วยเติมเต็มให้เพลงมันจบโดยสมบูรณ์

คนเราถ้าอยู่คนเดียวบางทีมันก็ไปได้ แต่บางครั้งถ้ามีคู่ใจก็เหมือนกับมีตัวช่วย

หัวหน้าวงชาตรีคนนี้บอกด้วยว่า มีลูกที่ช่วยกันดูแล 2 คน ผู้ชายคนหนึ่ง ผู้หญิง 1 คน อายุ 30 กว่าแล้ว ตอนนี้ไปใช้ชีวิตและมีความสุขอยู่กับครอบครัวในต่างประเทศ

สำหรับการที่ลูก 2 คนไปอยู่ต่างประเทศนั้น นราธิปมองในมุมที่ว่า ต้องยอมรับความจริง บางคนเกิดเมืองไทย แต่ไปตายญี่ปุ่นก็มี

เพราะอะไร

เพราะว่าคนเรามักจะไปอยู่ในที่ที่เคยอยู่ ทำในที่ที่เคยทำ ไปพบกับคนที่เคยพบ เคยมีสายสัมพันธ์ในอดีตชาติ เขาอาจจะเป็นคนที่นั่น มีสายกรรมที่จะต้องลากไป เขาจะต้องไปมีสายกรรมของเขากับคนนั้นคนนี้ที่แผ่นดินตรงนั้น

ลูกหลานบางคนบอกอยากจะไปอยู่ที่โน่น ให้ไปเลย ถ้ามีโอกาสก็ให้ไป ไปตามความฝันของเขา

“บางทีความฝันของเขามันเป็นเสียงเรียกร้องจากกรรม บางทีก็เป็นเสียงเรียกร้องจากเจ้ากรรมนายเวร ให้ไปใช้เวรใช้กรรม ฉะนั้น เรามองอะไรเป็นธรรมะ ก็มีความรู้สึกว่าโลกนี้ทุกอย่างมันอยู่บนเหตุบนผล แต่บางทีถ้าเราใช้ว่ามันควรจะเป็นอย่างนี้สิ ก็เป็นทุกข์ใช่ไหม ทุกข์มาก นี่ก็เป็นลีลาของนราธิป”

กับคำถามว่าไม่มีลูกคนไหนที่จะมาเอาดีด้านดนตรีเหมือนพ่อ-แม่บ้างหรือ

นราธิปบอกไม่มี เขาอยู่ทางโน้น มีแต่ลูกๆ หลานๆ ที่อยู่ในเมืองไทย แบบนี้ต้องมีใจรัก คนไม่มีใจรักนี่ก็บางทีดันแล้วก็ไม่ไป

อย่างตนเองเป็นคนที่มีใจรัก เป็นคนที่รักการแต่งเพลงมาตั้งแต่เด็กแล้ว โน้ตก็ไม่ได้เรียน ไม่รู้เรื่อง แต่ว่าแต่งเพลงได้เป็นร้อยเป็นพันเพลง คิดแล้วก็เขียนไป มีวิธีการแต่งแบบของตัวเองโดยไม่ได้อาศัยโน้ตอะไร เรียกว่าใจรัก

แต่บางที เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ บางคน พยายามจะผลักดันเขา แต่ดูเหมือนเขาไม่ชอบ หรือบางทีเขาชอบ แต่ไม่ชอบแบบเรา

เขาจะชอบเป็นแนวอย่างเขา เหมือนสมัยเราเป็นเด็ก เราก็ชอบแบบของเรา ตอนนี้เราเป็นศิลปินอยู่ แต่ว่าเขาเป็นเด็ก เขาก็ชอบ แต่อยากทำแบบของเขา ก็สนับสนุนให้ทำเลย คิดแล้วก็ทำ ไม่ต้องไปกลัวผิดกลัวถูก เพราะส่วนใหญ่คนที่จะประสบความสำเร็จ ต้องมีความเชื่อมั่นสูง และทำอะไรที่เรียกว่าหนีความจำเจ แบบนี้ถึงจะประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าไปซ้ำกับคนอื่น หรือว่าคลับคล้ายคลับคลาจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ถ้าฉีกออกมาเป็นแนวของตัวเองจะดีกว่า

วันนี้แม้ว่าวงชาตรีจะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนยุคก่อน แต่ “นราธิป” ก็ยังปลื้มใจสุขใจทุกครั้งที่แฟนเพลงยังร้องเพลงยอดนิยมของเขาได้