ธเนศวร์ เจริญเมือง : คำประกาศเพื่อระบอบประชาธิปไตย A Democratic Manifesto

ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์

การปกครองระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคกรีกที่นครเอเธนส์ เมื่อปี 508 ก่อนคริสต์ศักราช นั่นคือเมื่อ 2,527 ปีก่อน เริ่มปูทางโดยโซลอน (Solon, 638-558 B.C.) จากนั้น ไคลสเธเนส (Cleisthenes, 570-508 B.C.) ก็นำการปฏิรูปด้วยการสร้างสภาประชาชนที่สามัญชนมีสิทธิเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้ง

สภานี้ออกกฎหมาย กำหนดนโยบายการบริหาร และเลือกผู้บริหาร ในเวลานั้น ระบบนี้เรียกว่า Isonomia (แปลว่าทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน)

ระบอบดังกล่าวรุ่งเรืองขึ้นสู่จุดสูงสุดในยุคของเพรีคลิส (Pericles, 495-429 B.C.) และถูกทำลายลงในปี 322 B.C. โดยกองทัพมาซีโดเนียน

สรุปว่า ประชาธิปไตยของกรีกมีอายุราว 186 ปี (508-322 B.C.)

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีนักปรัชญาสำคัญของโลก 3 คนที่ได้ประสบระบอบการปกครองนั้นด้วยตนเอง ท่านทั้งสามคือ โสเครตีส (Socrates, 469-399 B.C.), เพลโต (Plato, 428-347 B.C.) และอริสโตเติล (Aristotle, 384-322 B.C.) ได้สร้างความรู้และทัศนะที่สำคัญเกี่ยวกับสังคมและระบอบประชาธิปไตยทิ้งไว้ให้วงวิชาการและคนรุ่นหลัง

จึงขอสรุป ณ ที่นี้ไว้รวม 7 ประเด็น ดังต่อไปนี้

1. การศึกษาแสวงหาความจริงต้องมีความมุ่งมั่นที่จะค้นหา โดยเฉพาะการตั้งคำถาม และการเสวนาแลกเปลี่ยนอย่างมีเสรีและไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าวิธีการโสเครตีส (Socratic Method)

2. มนุษย์ต้องมีเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และความจริงเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมและโลก โสเครตีสมีชีวิตอย่างเรียบง่าย ใช้เวลาแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต และเมื่อถูกตัดสินประหารด้วยกลุ่มคน ข้อหายุยงคนหนุ่มสาวให้สงสัยสังคมและกระด้างกระเดื่อง ท่านก็ยอมสละชีวิตของตนเอง ด้วยความเคารพและยึดมั่นต่อหลักการเสรีภาพและการค้นหาความจริงนั้นไว้

3. มนุษย์เป็นทั้งสัตว์สังคม (ซึ่งต้องอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มๆ) และเป็นสัตว์การเมืองพร้อมๆ กัน เพราะความขัดแย้งอันเกิดจากผลประโยชน์, ทัศนะ และค่านิยมที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีระบบกฎหมายเป็นผู้ควบคุมความขัดแย้งและดูแลความประพฤติปฏิบัติของผู้คนและกลุ่มต่างๆ ในสังคม นั่นคือ ระบบนิติรัฐ (Rule of Law) และอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญทัดเทียมกันก็คือ ระบบการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสร้างความรู้ ทัศนะ และการมีเหตุมีผลของผู้คนต่อชีวิต สังคม และรัฐ

4. สำหรับเพลโต ระบบนิติรัฐจะต้องให้ความเสมอภาพต่อทุกคน ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ภายใต้กฎหมายใดๆ ส่วนระบบการศึกษานั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างค่านิยมคือความปรารถนาของแต่ละคนที่จะเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ (Perfect citizen) ตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยการสลับกันเข้าไปทำหน้าที่เป็นคนออกกฎหมาย กฎระเบียบ กำหนดนโยบาย ดำเนินการบริหารรัฐ และตัดสินคดี เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งยังมีวาระการดำรงตำแหน่งในสภา ฝ่ายบริหาร และศาล ที่แน่นอนสลับกันไป ไม่มีใครผูกขาดอำนาจใดๆ ไว้

5. การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนเราถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ค่านิยมที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมดังกล่าวจึงถือเป็นคุณธรรม (Virtue) ที่สำคัญของคนในสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวม, เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ, เกิดความยุติธรรมต่อทุกๆ ฝ่าย และเกิดความสุขกับทุกๆ คน ที่สำคัญ เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วม ก็จะเกิดการพูดคุย, เสนอปัญหา และเจรจาแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมลงได้ และที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ มีแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมและมีบทบาททางการเมืองนั่นแหละ ที่มนุษย์จะมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสูงสุด และเค้นเอาความสามารถที่มีอยู่ไปแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสังคมให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

6. เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วม ก็จะเกิดการตรวจสอบและประเมินงานแต่ละขั้น เท่ากับเป็นการควบคุมมิให้เกิดการกระทำที่เลวร้าย ป้องกันการหาประโยชน์ใส่ตน และนั่นคือ บรรทัดฐานในการกำหนดว่าจะเลือกใครเข้าไปทำงาน และตัดสินลงโทษคนทำผิด

และ 7. จะเรียกว่าระบอบดังกล่าวเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) หรือระบอบพลเมือง-นิติรัฐ (Polity) ลักษณะพื้นฐานของสังคมเช่นนี้ก็คือ การมีส่วนร่วมและตัดสินใจของประชาชนส่วนมาก, ความเท่าเทียมกันและความยุติธรรมภายใต้กฎหมายเดียวกัน, การดำรงตำแหน่งบริหาร, นิติบัญญัติ, ตุลาการมีกติกา มีวาระ

ไม่มีการผูกขาดอำนาจ, มีการตรวจสอบการทำงาน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมคือจุดหมายหลักของระบบนี้

 

ข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยของเอเธนส์

1. เอเธนส์มีปัจจัยสำคัญ 3 อย่างที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในครั้งนั้น คือ

หนึ่ง กรีกมีชายฝั่งทะเลยาว มีท่าเรือยอดเยี่ยมที่ล้อมด้วยรัฐฐานะดีและอุดมสมบูรณ์มากทั้งที่อิตาลี ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เอเธนส์เป็นเมืองท่ายอดเยี่ยมจึงร่ำรวยมากขึ้นๆ

สอง มีชนชั้นขุนนางที่เคยร่ำรวยมากและเป็นผู้ปกครอง บัดนี้ ชนชั้นกลางก็แข่งแกร่งมากขึ้นๆ จากการค้าขายที่ขยายตัว จึงสามารถเข้าควบคุมสภาด้วยเสียงข้างมาก ออกนโยบายใหม่และปรับองค์กรต่างๆ ให้ทำประโยชน์แก่คนส่วนรวม ด้วยเสียงที่มากกว่า จึงเกิดมีสภาประชาชน

และ สาม ด้วยการใฝ่รู้ใฝ่เรียน ทำให้ช่วงการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มไปด้วยการพัฒนาด้านสติปัญญาอย่างสูงสุดในแทบทุกด้าน กลายเป็นมรดกอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

สรุป 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยเอเธนส์เกิดขึ้นคือ เศรษฐกิจ ชนชั้น และสติปัญญาชั้นสูง

2. เพลโตเป็นศิษย์เอกของโสเครตีส ได้เห็นคนกลุ่มใหญ่ตัดสินประหารโสเครตีส จึงได้เขียนหนังสือ Republic ชื่นชมกษัตริย์-นักปราชญ์ว่ามีความรู้ความสามารถและคุณธรรม และบริหารงานเพื่อส่วนรวม ทั้งได้ตำหนิระบบการปกครองของคนหมู่มาก หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาไทย และได้รับการเผยแพร่ในทุกๆ สถาบันอุดมศึกษาของไทยมายาวนานกว่า 60 ปี เทิดทูนระบอบผู้นำ (คนเดียว) ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและสติปัญญา

ทว่า หลังจากนั้น เพลโตได้พบเห็นผู้ปกครองทรราช ไร้คุณธรรมและกดขี่ประชาชนตลอดจนใช้กฎหมายเอาเปรียบผู้อื่น หลายต่อหลายครั้งในช่วงตอนกลางและบั้นปลายของชีวิต เพลโตก็ได้เขียนหนังสือสำคัญอีกเล่มหนึ่งชื่อ The Laws ชี้ให้เห็นความสำคัญของระบบนิติรัฐ, ระบบการศึกษา และพลเมืองเข้มแข็ง ตลอดจนการส่งเสริมพลเมืองส่วนใหญ่ให้สลับกันเข้าไปมีบทบาททางการเมือง การออกกฎหมายและการบริหารรัฐ ว่านั่นคือ ระบอบการเมืองอันควรเป็นทางออกของสังคมมนุษย์

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่แทบไม่มีใครพูดถึงงานสำคัญชิ้นนี้ และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครแปลงานนี้เป็นภาษาไทย ส่งผลให้คนไทยเป็นจำนวนมากเข้าใจว่าเพลโตชื่นชมระบอบอำนาจนิยม และชิงชังระบอบประชาธิปไตย

3. ทัศนะบั้นปลายของเพลโตยังตรงกับข้อเขียนสำคัญของอริสโตเติลที่ชื่อ Politics กล่าวคือ ระบอบการเมืองที่ดี ต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน เป็นระบอบการปกครองโดยตัวแทนของคนส่วนใหญ่เป็นคนเลือก มีการตรวจสอบผู้บริหารและออกกฎหมายที่ยุติธรรมต่อทุกๆ ฝ่าย และระบบการศึกษาที่สร้างพลเมืองเข้มแข็ง เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเต็มที่

4. ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ มิได้หมายถึงระบอบการปกครองโดยทุกๆ คนในรัฐ แต่เป็นของผู้ชายที่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไป ต้องมีทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ส่วนสตรี เด็ก คนชรา ทาสไพร่ และคนต่างชาติไม่มีสิทธิเข้าร่วมในการปกครองนี้

จะเห็นว่า เมื่อยุโรปตะวันตกและสหรัฐเริ่มระบอบประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระยะแรกๆ ก็มีข้อจำกัดแบบนี้เช่นกัน เมื่อผ่านการเรียกร้องต่อสู้อย่างต่อเนื่อง สิทธิและความเท่าเทียมกันทางการเมืองก็แพร่ออกไปครอบคลุมผู้คนทั้งประเทศในเวลาต่อมา

 

การเดินทางของประชาธิปไตย

จักรวรรดิโรมันกว้างใหญ่ มีกองทัพเกรียงไกรมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 อำนาจรัฐเป็นของผู้ปกครองคนเดียวหรือไม่กี่คน เป็นระบบอำนาจนิยมที่กดทับประชาชนส่วนใหญ่เอาไว้ เพื่อไม่ให้มีสิทธิมีเสียงใดๆ เรื่อยมาถึงยุคกลางที่เกิดรัฐเล็กๆ มากมายหลังจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ต่างหันหลังให้กับระบบการเมือง เน้นการปกครองขนาดเล็ก และเน้นเชิดชูอำนาจการปกครองของศาสนจักรพร้อมๆ กัน

แต่เพราะเป็นสังคมเขตหนาวต้องการสินค้ามากมายเพื่อการอยู่รอดและชีวิตที่ดีกว่าเดิม การค้าจึงขยายตัวมากขึ้นๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7-8 จนในที่สุด ชนชั้นกลางก็เติบโตมากขึ้นๆ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 นำไปสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ที่ยุคมืดกดทับไว้ยาวนาน

การกลับไปศึกษาค้นคว้ามรดกอันยิ่งใหญ่ที่กรีกทิ้งไว้ให้ โดยเฉพาะงานเขียนสำคัญของ 3 นักปราชญ์ เกิดการปฏิรูปศาสนา การค้นพบโลกใหม่ ลัทธิพาณิชยนิยม ลัทธิล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (Enlightenment) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 14-18

การปฏิรูประบบสภาผู้แทนของอังกฤษในปี ค.ศ.1688, การปฏิวัติอเมริกันในปี ค.ศ.1767 และการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 สะท้อนให้เห็นการเติบโตของชนชั้นกลาง ความเท่าเทียมกันของพลเมืองทั้งด้านการเมืองและกฎหมาย และการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในประเทศเหล่านี้

ระบบทุนนิยมที่ออกไปยึดครองรัฐอื่นๆ ในเอเชีย-แอฟริกา-อเมริกา พร้อมกับการขยายตัวของลัทธิล่าเมืองขึ้น รัฐแบบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นระบบรัฐสภาหรือระบบประธานาธิบดีได้ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ และยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมทางการเมืองที่ก้าวหน้าให้แก่รัฐเมืองขึ้นเหล่านั้นด้วย

จากนั้น ตั้งแต่ ค.ศ.1917 เป็นต้นมา โลกจึงได้เห็นระบบการปกครอง 2 แบบ นั่นคือ 1.ระบอบประชาธิปไตยเสรีแบบตะวันตก และ 2.ระบอบสังคมนิยมโดยพรรคเดียว และระบบการปกครองทั้ง 2 แบบก็แตกออกเป็น 2 ค่ายที่ชัดเจนมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรัฐสังคมนิยมเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ครั้นเมื่อรัฐอาณานิคมเริ่มทยอยได้รับเอกราช จึงมีหนทางหลักๆ ให้เลือกเดิน คือ 2 แบบนั้น และก็ปรากฏว่าหลายประเทศที่เกิดใหม่และกำลังพัฒนาได้หันไปสถาปนาระบบเผด็จการทหารขึ้นแทน

 

การเดินทางของระบอบการเมืองในสยาม

เมื่อยอมลงนามสัญญาค้าเสรีกับ 14 ชาติในห้วงทศวรรษที่ 2400 สยามจึงรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น แต่ต้องถูกจองจำในระบอบอำนาจเก่าที่ยังอยู่ แต่ตกแต่งอาภรณ์แบบใหม่คือ รับความทันสมัยด้านวัตถุจากตะวันตก แต่ยังคงเข้มข้นในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าเป็นหลัก

รัฐสยามที่เป็นกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2398 เป็นต้นมาจึงเต็มไปด้วยการประดิษฐ์วาทกรรม เช่น ศิวิไลซ์ ความทันสมัย ลัทธิชาตินิยม ราชประชาสมาสัย คณะรัฐมนตรี สุขาภิบาล ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เทศบาล การปกครองส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

แต่สุดท้ายก็ชี้ขาดด้วยการคงอยู่ใต้ระบอบการปกครองแบบเก่า ที่แข็งแกร่งด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเดิม และรัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป (An Over-Centralized State) และการเสียเปรียบต่างชาติโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่กลายเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพิง ภาวะการเรียนรู้และการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่มีจำกัดมาก บวกกับระบบการศึกษา, องค์การสงฆ์ และระบบราชการสมัยใหม่ที่ได้ตกเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบเก่า ผลก็คือ ประชาสังคมอ่อนแอทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ในที่สุด การปกครองระบอบใหม่ตามอุดมการณ์ พ.ศ.2475 ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ระบอบเผด็จการทหารหลังปี พ.ศ.2490 และท่ามกลางการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวรอบๆ ไทย สหรัฐในฐานะผู้นำค่ายเสรีก็เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์

และได้ใช้ระบอบอำนาจนิยม 2 ฐาน (ด้านกองทัพและวัฒนธรรมเก่า) เป็นเครื่องมือของตนในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์จากจีน-อินโดจีน

แต่เพราะสหรัฐใช้มาตรการหลากหลายในการสร้างรัฐไทยเพื่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้แก่ ส่งเสริมกองทัพ และอำนาจเก่า ส่งเสริมตำรวจและ ตชด.

โหมพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมเพื่อสนองสหรัฐ-ญี่ปุ่น โดยใช้แผนพัฒนาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทุกๆ 5 ปี

การให้ทุนส่งข้าราชการและนักวิชาการไปฝึกอบรมในสหรัฐ กระทั่งใช้ชายหาดในไทยต้อนรับทหารอเมริกันจากเวียดนาม รวมไปถึงการส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเริ่มในปี 2512 การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจนำในไทยจึงหลากหลายมาก ฯลฯ

ดังนั้น เราจึงเห็นระบอบการเมืองที่สลับไปมาอันเกิดจากการต่อสู้ขัดแย้งกันตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ที่สำคัญมี 3 แบบหลัก คือ ระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบเผด็จการทหาร และระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ (ยุค พล.อ.เปรม 8 ปี)

ตลอด 72 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2490-2562) ความขัดแย้งต่างๆ ในประเทศนี้ทำให้เกิดการเมืองและรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ (Political and government instability) ส่งผลให้เกิดรัฐประหารถึง 10 กว่าครั้งและรัฐธรรมนูญถึง 10 กว่าฉบับ ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองก็ยังถูกกำหนดและผูกขาดด้วยคนเพียงไม่กี่กลุ่ม

ลักษณะสำคัญทางสังคมได้เปลี่ยนจากการใช้คำเดิมๆ คือ “กึ่งศักดินา” “ทุนนิยมพึ่งพา” “รัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป” “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” ไปเป็น “เครือข่ายไดโนเสาร์” และ “รัฐพันลึก”

แต่สาระสำคัญก็ยังคงอยู่ นั่นคือ “อำนาจนิยมที่ซับซ้อนและซ่อนเร้น”

 

การต่อสู้ครั้งสำคัญของไทยในโลกยุคดิจิตอล

ไทยเป็นรัฐที่มีลักษณะพิเศษบางประการ อันเกิดจากลักษณะเฉพาะตัวในยุคล่าอาณานิคมและยุคต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ นั่นคือ

1. ไม่เคยเป็นรัฐเมืองขึ้น จึงไม่มีขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช ทั้งไม่เคยมีการปลุกเร้าและความตื่นตัวทางการเมืองจนเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคักเช่นประเทศเมืองขึ้นทั้งหลาย

2. รัฐเก่าครองอำนาจนาน และเสริมคอนกรีตด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจทุกๆ มิติ บวกกับความสามารถในการปรับตัวทั้งระดับบุคคลและโครงสร้าง จึงแข็งแกร่ง

3. ขบวนประชาธิปไตย พ.ศ.2475 ขาดพลังกระฎุมพี และชนชั้นกลางที่เข้มแข็งในขณะนั้น

และ 4. การต่อสู้ในเขตชนบทต้องประสบปัญหาหลายประการ ทิ้งให้ประชาสังคมบนหนทางสันติต้องหันกลับมาต่อสู้ตามลำพังในเขตเมือง

หลายปีมานี้ กลุ่มอำนาจเก่าเห็นมหาอำนาจน้องใหม่ (จีน) ที่เติบใหญ่โดยอาศัยระบบเผด็จการพรรคเดียวจึงคิดฝันอยากจะเลียนแบบ หารู้ไม่ว่าประเทศของตัวเองได้รับเอาอุดมการณ์ประชาธิปไตยของตะวันตกตั้งแต่ยุคผู้นำไปเยือนยุโรปในปี 2440 เป็นต้นมา นั่นคือระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

การยึดอำนาจในปี พ.ศ.2549 การขับไล่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2551 การปราบปรามขบวนประชาธิปไตยกลางเมืองหลวงในปี พ.ศ.2552-2553 และการยึดอำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ.2557 สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของกลุ่มอำนาจเก่าที่จะรักษาระบอบอำนาจนิยมให้คงอยู่นานเท่านาน

หลังจากตกใจที่ได้เห็นพรรคการเมืองหนึ่งชนะการเลือกตั้งติดต่อกันหลายครั้ง ด้วยการเสนอและดำเนินนโยบายที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ฯลฯ หนทางของกลุ่มอำนาจเก่าที่หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็คือ จะทำอย่างไรให้พรรคนั้นอ่อนแอ และอาศัยวุฒิสมาชิกแต่งตั้งให้เข้ามาช่วยแต่งตั้งนายกฯ และจากปรากฏการณ์ “แตกแบงก์พัน” พวกเขาจึงต้องรีบกำจัดพรรคการเมือง “แบงก์ย่อย” ให้สิ้นไปโดยเร็วที่สุด

แต่กระแสประชาธิปไตยที่เคยเชี่ยวกรากในอินโดนีเซียและพม่า บัดนี้กลับโหมเข้ามาอีกครั้งในรัฐไทย

จากข้อเรียกร้อง “กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” บัดนี้มาเป็นนโยบายของพรรคหลายๆ พรรค

จากพรรคเดิมพรรคเดียวที่เคยได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างอบอุ่นในช่วงทศวรรษ 2540 บัดนี้ ปรากฏอีกหลายๆ พรรคที่หนุ่มแน่นกว่าและมีข้อเสนอที่เข้มข้นยิ่งกว่า

มีแม้กระทั่งพรรคทวงคืนผืนป่า พรรคครูไทย และพรรคเพื่ออำนาจท้องถิ่น จาก “จังหวัดจัดการตนเอง” และ “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ไปสู่ “ปฏิรูปการศึกษา” และ “ปฏิรูปกองทัพ” ฯลฯ

รายชื่อพรรคใหม่ๆ และนโยบายที่เสนอออกมามากมายสะท้อนให้การกระจุกตัวของอำนาจรัฐและปัญหาที่คั่งค้างมายาวนาน ไม่ยอมแก้ไข จนเกิดมีพรรคเล็กพรรคน้อยต่อสู้เรียกร้องอย่างที่เห็นในขณะนี้

 

24 มีนาคม จึงเป็นการเลือกตั้งที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะขณะที่กลุ่มอำนาจเก่ายังต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป หลังจากยึดครองมา 5 ปี

ส่วนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็หลั่งไหลเข้ามาทวงคืน เงื่อนไข 3 อย่างที่เติบใหญ่ตั้งแต่ยุคเอเธนส์ นับวันมีแต่จะพร้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ชนชั้นกลางและล่างที่เติบใหญ่ทางความคิด และอิทธิพลจากทั่วโลกที่เปี่ยมด้วยข้อมูลแสนฉับไวบนเครื่องมือสื่อสาร

และนี่คือการเลือกตั้งที่จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นอีก เพราะมีผู้ได้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกมากถึง 7 ล้านคนหลังจากปิดกั้นการเลือกตั้งมา 5 ปีเต็ม ยังไม่นับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั่วประเทศจำนวนถึง 7,800 กว่าแห่งที่คนในท้องถิ่นก็เฝ้ารอมา 5 ปีเช่นกัน

ย้อนยาวไปถึงอดีต และมองดูการเดินทางของประชาธิปไตยทุกๆ แห่ง ระบอบประชาธิปไตยมีจุดแข็งอยู่ที่การได้รู้ ได้เห็นและได้แสดงออกของคนส่วนใหญ่, การใช้เสียงข้างมากตัดสินอนาคตของประเทศ, ให้ทุกๆ คนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใครในทางกฎหมาย, ประชาชนสามารถตรวจสอบ-ประเมินการออกกฎหมายและการบริหารประเทศได้เต็มที่

จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองก็ย่อมทำได้เพราะเป็นสังคมที่มีเสรี ทุกคนเสียภาษีเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายบริการสังคม ไม่ใช่ให้คนบางกลุ่มถลุง ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องโปร่งใส อยู่ในสายตา และสามารถกำหนดปัจจุบันและอนาคตได้ด้วยตัวประชาชนเอง

24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา จึงสำคัญสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยอย่างล่าช้า เช่น รัฐไทย ที่ตามหลังเพื่อนบ้านเขาหมดเกือบทั่วทั้งอาเซียนแล้ว แถมกติกาสูงสุดยังมีกฎเกณฑ์ที่ให้ประโยชน์แก่คนบางกลุ่มแบบแปลกๆ ชนิดที่ประเทศที่เดินหน้าไปไกลแล้วยังอึ้ง … คาดไม่ถึงว่าจะเกิดเรื่องที่ล้าหลังเช่นนี้ได้

และแม้ว่านี่จะเป็นคำประกาศเพื่อระบอบประชาธิปไตยจากประเทศที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยอย่างล่าช้า (A Democratic Manifesto from a Late Democratizing Country)…

แต่ประชาชนไทยได้ลุกขึ้นแล้ว พวกเขาพร้อมแล้วที่จะเดินต่อไป…

เดินออกไปสู้ ไปช่วงชิงเอาระบอบประชาธิปไตยของประชาชนกลับคืนมา

ไม่ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคใหญ่หลวงเพียงใดท้าทายเบื้องหน้า…