รู้จักตำนาน-ความหมาย นกหัสดีลิงค์เทินบุษบก งานพิธีเผาสรีรสังขาร ‘ครูใหญ่หลวงพ่อคูณ’

เมรุลอยงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ มี ดร.กิติสันต์ ศรีรักษา และนายภราดร เสมาเพชร 2 อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ออกแบบและวิจัยค้นคว้านกหัสดีลิงค์เทินบุษบก บนยอดพระสุเมรุ

และมี รศ.นิยม วงษ์พงษ์ดำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานออกแบบและฌาปนกิจ

ซึ่งเป็นที่มาของนกหัสดีลิงค์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ

โดยโครงสร้างของตัวนกเป็นไม้เนื้อแข็งสูง 22.6 เมตร ใช้ไม้ไผ่ประกอบเป็นโครงนอก แปะรอบด้วยประติมากรรมกระดาษเปเปอร์มาเช่

โดยภายในบรรจุเตาฟืนไว้ประดิษฐ์บนฐานแปดเหลี่ยมกว้าง 16 เมตร มีตัวนาคหันหน้าไปแต่ละทิศ มีความยาว 5 เมตร 12 ตน และรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ 32 ตน

สระอโนดาตจะเพิ่มลูกเล่นใส่ควันไอน้ำ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเผาไปพร้อมกับร่างของหลวงพ่อคูณ

ก่อนจะนำอังคารของท่านไปลอยแม่น้ำโขง

แม้ว่าหนึ่งในพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณบ่งบอกถึงการจัดการศพของท่านให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย

หากแต่คณะกรรมการผู้จัดการศพหลวงพ่อคูณได้ตีความในความเรียบง่ายของหลวงพ่อคูณ ว่าต้องมีความสวยงามให้สมกับชื่อเสียงหลวงพ่อคูณ

โดยได้สร้างเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ตามประเพณีโบราณที่จะจัดขึ้นเฉพาะการฌาปนกิจศพเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่

มี ดร.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ เป็นครูช่างเมรุนกหัสดีลิงค์หลวงพ่อคูณในครั้งนี้ ซึ่งกล่าวว่า รับผิดชอบในส่วนโครงสร้างของนก ซึ่งออกแบบให้นกมีชีวิตสามารถขยับปีก ปาก งา และตาได้ ซึ่งกลไกในการขยับนั้นมาจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง

โดยสามารถเคลื่อนได้โดยไม่ต้องมีกลไกแบบเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน

หากจะขยับจะต้องใช้คนขยับถึง 8 ราย เนื่องจากมีความหนักและอาจเหนื่อยล้า เพราะพิธีกรรมค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร จึงต้องมีผลัด 2 มาเปลี่ยน

การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ตามประเพณีและความเชื่อของกลุ่มไทย-ลาว ที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมาปักหลักปักฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

เป็นการให้เกียรติครั้งสุดท้ายกับผู้ตายที่พร้อมด้วยความดีความชอบที่สังคมยอมรับและแสดงถึงอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ของผู้ตายให้ปรากฏต่อสาธารณชน

ที่แต่เดิมผู้ที่จะได้รับการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์หลังเสียชีวิตแล้วคือ เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี หรืออาญาสี่ (อัญยาสี่) ที่ประกอบด้วย เจ้าเมือง เจ้าอุปราช (อุปฮาด) เจ้าราชวงศ์ และเจ้าราชบุตร ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ทำศพแบบนี้

ระยะแรกการเผาศพทำที่ทุ่งศรีเมือง มาภายหลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ (ครั้งยังมีอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวกาว (อีสาน) ครอบคลุมท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ห้ามมิให้มีประเพณีเผาศพเจ้านายแบบนกหัสดีลิงค์ที่นำไปเผาที่ทุ่งศรีเมือง

ถือว่าเป็นคล้ายกับการถวายพระเพลิงเจ้านายที่ทุ่งสนามหลวง กรุงเทพมหานคร

หากจะทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ต้องไปทำที่วัดใดวัดหนึ่งตามที่เห็นสมควร

หลังจากนั้นข้อจำกัดที่ให้แต่เฉพาะเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี (อาญาสี่) ได้อนุญาตให้พระเถระที่ทรงคุณธรรมเมื่อมรณภาพให้จัดพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงประทานอธิบายถึงธรรมเนียมการทำเมรุศพนกหัสดีลิงค์นี้ว่า

“เป็นประเพณีจากอินเดียมาสู่เขมร จากเขมรเข้ามาไทยทางภาคอีสาน แล้วทางพายัพจึงเอาแบบอย่างจากภาคอีสานไปอีกทอดหนึ่ง”

ตามตำนานกล่าวขานกันมาว่า เมื่อสมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต พระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง

ขณะนั้นมีนกหัสดีลิงค์หรือที่ออกเสียงตามสำเนียงพื้นถิ่นเมืองอุบลว่า “นกสักกะไดลิงค์” เป็นสัตว์หิมพานต์ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินโฉบลงมาเอาพระศพ

เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้น ก็ประกาศให้คนดีต่อสู้กับนกเพื่อเอาพระศพคืนมา

คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้ แต่สู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด

ธิดาแห่งพญาตักศิลานามว่า “สีดา” จึงเข้ารับอาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์นั้น

ได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตายตกลงมาพร้อมกับพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น

พระมหาเทวีจึงโปรดให้ทำเมรุ คือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน

นับแต่นั้นมาเจ้านายในพระราชวงศ์นั้นแห่งเมืองตักศิลาเชียงรุ้งแสนหวีได้ถือเอาประเพณีทำเมรุนกหัสดีลิงค์นั้นขึ้น เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถึงแก่อสัญกรรม

ประเพณีนี้จึงถือกันมาตลอดสายกษัตริย์องค์นั้นสืบทอดกันมาจนถึงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อรรถ นันทจักร ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า

“การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ในภาคอีสาน กลุ่มแรกคือกลุ่มพระวอ-พระตา ถือเป็นต้นเหง้าของสายเมืองอุบลราชธานีที่เคลื่อนย้ายครอบครัวชาวลาวที่ใหญ่ที่สุดมาอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่าภาคอีสานไทยในปัจจุบัน”

และจากตำนานเมืองอุบลก็บ่งบอกไว้ว่า กลุ่มพระวอ-พระตา นั้นสืบเชื้อสายจากเจ้านครเชียงรุ้งแสนหวี

ก่อนจะมีพิธีเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ทุกครั้ง จะต้องทำพิธีสำคัญคือฆ่านกก่อน โดยการทำพิธีเชิญเจ้านางสีดาเข้าประทับร่างทรงก่อนใช้ศรยิง โดยผู้ที่จะฆ่านกหัสดีลิงค์ก็ต้องเป็นผู้หญิงสืบเชื้อสายมากจากเจ้านางสีดา รับช่วงต่อมาเฉพาะคนในตระกูลเท่านั้น

เรียกกันว่า “นางเทียมเจ้านางสีดา”

เท่าที่สืบทราบนางเทียมเจ้านางสีดาที่ประกอบพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ในเมืองอุบลราชธานี มีดังนี้

๑. ญาแม่นางงัว ฆ่านกหัสดีลิงค์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๒๔

๒. ญาแม่สุกัญ ปราบภัย (บุตรีญาแม่งัว)

๓. ญาแม่มณีจันทร์ ผ่องศิลป์ (บุตรญาแม่สุกัญ)

๔. คุณยายสมวาสนา รัศมี (บุตรีญาแม่มณีจันทร์)

๕. คุณยายประทิน วันทาพงษ์ (บุตรีญาแม่มณีจันทร์, พี่สาวคุณยายสมวาสนา)

๖. คุณเมทินี หวานอารมณ์ (หลานคุณยายประทิน)

และเป็นนางเทียมสีดาในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ วัดบ้านไร่ เมรุลอยนกหัสดีลิงค์ ณ พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น วัดที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

“บําเพ็ญ ณ อุบล” อดีตอัยการชั้นฎีกาเขต ๔ กล่าวถึงพิธีเชิญนางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ไว้ว่า

“ในการที่จะเชิญนางสีดาลงมาฆ่านกนั้น โบราณมีว่า ตัวแทนของอัญยาสี่จำนวนผู้ชาย ๔ คน ผู้หญิง ๔ คน ที่เป็น “บุตรหลานเชื้อสายของอัญยาสี่”

จะต้องนำขันธ์ห้า คือ ดอกไม้ขาว ๕ คู่ เทียนแท้ ๕ คู่ ยาวคืบหนึ่ง ใส่พานไปที่ตำหนักทรงของเจ้าแม่สีดา เพื่อจะบอกกล่าวเชิญเจ้าแม่ไปฆ่านก

เมื่อผู้ทรงได้รับ ร่างทรงรับจะไปฆ่านกแล้ว ก็จะมีการตกลงรับเครื่องครูทั้งสองคราวคือ เครื่องบูชาครูเมื่อจะไปฆ่านกเรียกว่า “คายหน้า” คือ บูชาบวงสรวงก่อนที่จะไปฆ่านกนั้น จะต้องมีการบวงสรวงเข้าทรงเสียก่อนตามประเพณีโบราณ

เมื่อขบวนแห่ไปถึงบริเวณที่ตั้งเมรุนกสักกะไดลิงค์แล้ว ขบวนก็จะเดินไปรอบๆ พอนกเห็นเช่นนั้นก็จะหันซ้ายหันขวา งวงจะเขว่คว้า ตาก็จะเหลือกขึ้นลง หูก็จะกระพือ ปากก็จะอ้าร้องเสียงดัง พร้อมที่จะต่อสู้

เจ้าแม่สีดาก็จะทรงศรยิงไปที่นก แล้วก็แห่ไปอีกรอบหนึ่งแล้วก็จะยิงนกอีกครั้ง แห่ไปอีกก็จะกลับมายิงนกอีก จนนกหมดแรงไม่เคลื่อนไหว ซึ่งแสดงว่านกตายแล้ว

แผลที่ถูกยิงก็จะมีเลือดไหลออกมา เมื่อเห็นว่านกหมดกำลังแล้วบริวารของเจ้าแม่สีดาก็จะช่วยกันเอาหอกเอาดาบฟันนก

เมื่อเสร็จจากการฆ่านกแล้วขบวนเจ้าแม่สีดาก็กลับตำหนักพักผ่อนรอจนสามคืนก็จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สีดาอีกเรียกว่า บวงสรวงกินลาภนก

การบวงสรวงครั้งหลังเรียกว่า “คายหลัง”

เครื่องบวงสรวงก็เช่นเดิมเหมือนคายหน้า, คายหลัง ต้องใช้เงินบูชาครู ๑๕ ตำลึง

ในงานศพแบบนกสักกะไดลิงค์หรือหัสดีลิงค์นี้ เจ้าภาพในฐานะเป็นอัญยาสี่ จะต้องทิ้งทานเรียกว่ามหาทาน คือ ทานช้าง ทานม้า ทานข้าชาย ทานข้าหญิง ทานวัว ทานควาย ทานรถ ทานเสื้อ ทานผ้า ทานเงิน ทานทองคำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงท่านที่ถึงแก่อสัญกรรม มีโรงทานตลอดสามวัน

กลางวันมีการแสดงกีฬา จะเป็นมวยคาดเชือก ปืนไม้แย่งเงิน แย่งลูกมะพร้าว กลางคืนจะมีมหรสพครบครัน ตลอดจนเผาศพเสร็จ นับเป็นงานใหญ่มากสำหรับเจ้านาย

ในงานนี้จะต้องมีการเกณฑ์เอากำลังพลจากหมู่บ้านที่เป็นเชลยขึ้นกับเจ้านายองค์นั้นมาช่วยชักลากนกใหญ่ไปสู่ช่วงเมรุ”