พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : จาก “ชุดนักเรียน” สู่เสรีภาพบนชุดไปรเวต มากกว่าเสื้อผ้า คือเครื่องมือควบคุมแห่งรัฐ

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในกระแสข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด

คงจะหนีไม่พ้นกรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ประกาศนโยบายนำร่องให้นักเรียนสามารถแต่งกายด้วยชุดไปรเวตได้ทุกวันอังคารเป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา

เพื่อประเมินเบื้องต้นก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อพันธกิจของนักเรียนมากน้อยเพียงใด

อาทิ ทำให้ผลการเรียนแย่ลงหรือส่งผลต่อการเรียนการสอนหรือไม่

ซึ่งหลังจากมีภาพการแต่งกายด้วยชุดไปรเวตหลากสไตล์เผยแพร่ออกไปก็มีทั้งเสียงชื่นชมถึงวิสัยทัศน์อันเปิดกว้างของผู้อำนวยการโรงเรียน

และแน่นอนว่าเสียงก่นด่าต่อว่าถึงนโยบายดังกล่าวก็มีไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บรรดาความคิดเห็นของผู้ที่ออกมาต่อว่าคัดค้านนโยบาย บ้างก็ให้เหตุผลคลาสสิคว่าเป็นการบ่อนทำลายเอกลักษณ์-วัฒนธรรมอันดีของประเทศ

ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่ครอบครัวมีกำลังซื้อและเด็กที่พ่อ-แม่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย

รวมไปถึงการตัดสินอย่างเหมารวมว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ยังขาดวุฒิภาวะ จึงไม่เหมาะที่จะนำไปเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมอย่างนักเรียนเมืองฝรั่ง

 

ทุกท่านเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า นิยามว่าด้วยเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันดีที่ไปยึดโยงกับเครื่องแบบชุดนักเรียนมีที่มาที่ไปอย่างไร

เหตุใดเราจึงมองว่าการใส่ชุดนักเรียนคือเรื่องที่ถูกที่ควร และการใส่ชุดไปรเวตกลับเป็นสิ่งต้องห้าม

นี่ยังไม่รวมถึงระเบียบเรื่องทรงผม การแต่งหน้า ถุงเท้า เล็บ ฯลฯ

เรียกว่าตั้งแต่หัวจรดเท้า เอาเข้าจริงแล้วไม่มีส่วนไหนที่ผู้สวมใส่มีอิสระในการเลือกได้ด้วยตัวเองเลย

 

เหล่านี้ชวนให้ผู้เขียนนึกสงสัยว่า ข้อกำหนด ระเบียบ แพตเทิร์นของความ “เหมาะสม” เกิดจากอะไร ทำไมการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาด

“ก็เขาทำกันมาอย่างนี้” เราจึงต้องก้มหน้าก้มตาทำตามต่อๆ กันไปเช่นนั้นจึงเป็นเรื่องปกติหรือ?

“รัฐจะไม่มีความหมายเลยหากอำนาจรัฐไม่สามารถฟังก์ชั่นในชีวิตของพลเมืองได้”

นี้คือประโยคสำคัญที่ผู้เขียนจะชวนให้คุณผู้อ่านทำความเข้าใจสถานการณ์ที่ว่าไปพร้อมๆ กัน

 

แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของรัฐชาติมาพร้อมกับการถือกำเนิดขึ้นขององค์กรและระเบียบแบบแผนมากมายเพื่อการดำรงอยู่ของประชากรหลายสิบล้านคนที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ สีผิว และศาสนา

การจะควบรวมให้ผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้อยู่ร่วมกันได้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักยึดอันเหนียวแน่นแบบเดียวกัน ซึ่งก็คืออุดมการณ์

ชุดของอุดมการณ์จะทำหน้าที่ในการสวมครอบและจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของปัจเจกบุคคลไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งจนทำให้เราเองรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องปกติ

และอุดมการณ์จะไม่สามารถฟังก์ชั่นได้อย่างเต็มกำลังเลยหากขาดเครื่องมือสำคัญอย่าง “กลไกอุดมการณ์” ไป

 

กลไกอุดมการณ์คืออะไร?

อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นไปตอนต้นว่า รัฐจะไม่มีความหมายเลยหากรัฐไร้ความสามารถในการฟังก์ชั่นพลเมือง

เครื่องมือที่รัฐใช้ควบคุมผู้คนจนผลิดอกออกผลสู่รูปแบบของอุดมการณ์จึงมาจากกลไกที่ว่า อันประกอบไปด้วย กลไกการปราบปราม และกลไกอุดมการณ์

กลไกการปราบปรามเป็นสิ่งที่เห็นและจับต้องได้ ได้แก่ แขนขาของรัฐอย่างตำรวจหรือทหาร

พูดให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ กลไกการปราบปรามเน้นการใช้กำลังในการควบคุมผู้คนอย่างหลวมๆ

ทว่าสิ่งที่ฝังลึกลงสู่ระดับจิตสำนึกจนกลายร่างเป็น “อุดมการณ์” คือหน้าที่ของกลไกอุดมการณ์แห่งรัฐ

และหนึ่งในสถาบันสำคัญที่ขับเคลื่อนกลไกอุดมการณ์ไปได้อย่างดีเยี่ยมเสมอก็คือ

สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน

 

ตั้งแต่เราก้าวเท้าเข้าโรงเรียน ชีวิตของเด็กน้อยวัย 3 ขวบกว่าๆ ก็ไม่มีวันเหมือนเดิมไปตลอดกาล

โรงเรียนจะเปลี่ยนคุณตั้งแต่การแต่งตัว

คุณไม่สามารถใส่ชุดปีกนางฟ้าหรือเสื้อสกรีนดราก้อนบอลไปเรียนได้

แต่คุณต้องใส่ยูนิฟอร์มหรือเครื่องแบบของโรงเรียนเท่านั้น

ถ้าเป็นผู้ชายต้องตัดผมเกรียนหรือไม่ก็รองทรงสูง

หากเป็นผู้หญิง คุณต้องมีผมสีดำ ห้ามซอยหรือจัดแต่งทรงผมมากจนเกินควร

บางโรงเรียนให้มัดหางม้าหรือถักเปียก็แล้วแต่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมกัน

หากพวกเขาเหล่านั้นไม่พอใจกับระเบียบที่ว่าล่ะ?

คุณก็จะกลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว แหกกฎ

ถูกจัดโซนนิ่งให้อยู่ในหมวดของ “เด็กดื้อ”

รังแต่จะถูกจับตาจากผู้คุมกฎอย่างครู-อาจารย์มากกว่าเดิม

 

ขยับมาที่ “หน้าที่” ของนักเรียนกันบ้าง

แผนการเรียนการสอนที่ถูกจัดวางอย่างถึงพร้อมตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมก็มักจะมุ่งให้ความสำคัญกับวิชาการ

การเลือกจัดวางลำดับความสำคัญของแต่ละวิชาล้วนมาจาก “ผู้ใหญ่” ของรัฐอีกเช่นเดียวกัน

ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างรุ่นน้องท่านหนึ่งที่ถูกจัดหมวดหมู่ในตำแหน่งของ “เด็กหลังห้อง”

กระทั่งได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาสู่คณะที่เขาให้ความสนใจ และสามารถทำได้ดีมากจนผู้เขียนย้อนกลับไปทบทวนดูว่า เหตุใดในโรงเรียนจึงไม่มีที่ทางให้สิ่งที่เขาถนัด

นั่นก็เป็นเพราะความถนัดของรุ่นน้องคนนี้ไม่ใช่สิ่งที่รัฐพึงส่งเสริม

เพราะมันหาได้สร้างมูลค่าให้รัฐเท่ากับวิชาการตามแผนการเรียนการสอนไม่

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนเองก็คือ การบ่มเพาะมารยาทในรั้วโรงเรียน ทุกครั้งที่ผู้เขียนพูดคุยกับครูเมื่อคุณครูท่านนั้นอยู่ในท่าของการนั่งบนเก้าอี้ สิ่งที่นักเรียนทุกคนพึงทำไม่ใช่การนั่งบนเก้าอี้แบบเดียวกัน

แต่เป็นการย่อตัวคุกเข่าลงไปนั่งกับพื้น

ท่วงท่าของนักเรียนที่ต้องเงยหน้ามองและสายตาของครูที่สามารถก้มหน้าลงมาพูดคุยกับเราได้กลายเป็นเรื่องปกติในรั้วโรงเรียน

 

กลไกอุดมการณ์รัฐจึงทำหน้าที่ด้วยการกดให้ปัจเจกไม่มีความมั่นใจ

การโต้แย้งไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการเถียงคำไม่ตกฟาก ก้าวร้าวไม่เหมาะสมเสียมากกว่า

ท้ายที่สุดฟันเฟืองชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านี้จะปะติดปะต่อให้เราเชื่องต่อระบบ ยำเกรงต่ออำนาจ และหล่อหลอมให้ทุกคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญของรัฐสืบไป

มาถึงตรงนี้ผู้เขียนเชื่อว่าหลายท่านคงจะเห็นภาพเค้าลางสถานการณ์ของการแต่งชุดไปรเวตมาโรงเรียนได้กระจ่างชัดขึ้น

ความคิดเห็นที่ต่อต้านและดูแคลนวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าฉงนสักเท่าใด

หากเราพบแล้วว่า กระบวนการกล่อมเกลาผ่านระบบการศึกษามีสิ่งใดซ่อนเร้นไว้ภายใต้ใบหน้าเปื้อนยิ้มของครูอาจารย์ และเสียงหัวเราะของนักเรียนทุกคน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงจากยูนิฟอร์มชุดนักเรียนสู่การแต่งกายด้วยชุดไปรเวตก็คล้ายกับเป็นการเขย่าชุดความคิดดั้งเดิมที่ถูกปักหมุดแห่งความเชื่อมานานหลายทศวรรษแล้วว่า นี่คือสิ่งที่ถูก

และนั่นคือสิ่งที่ผิด…ผิดอย่างมหันต์

“เราไม่เคยสัมผัสโลกด้วยความเปลือยเปล่า แต่เรามองโลกผ่านแว่นและกรอบบางอย่างเสมอ”

และกรอบที่ว่าก็แน่นหนาไปด้วยความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นที่ยากจะพังครืนลงมาได้ภายในวันสองวัน

ทว่าปฏิกิริยาโต้กลับของผู้อำนวยการและนักเรียนต่อเสียงค่อนแคะเหน็บแนมเหล่านั้น

ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสร้างรอยร้าวบนก้อนอิฐฉาบซีเมนต์ได้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน