สมณศักดิ์ หลักประกันความเป็นผู้ใหญ่ จริงหรือ?

ตามที่มีข่าวเป็นประเด็นเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของสมเด็จพระสังฆราชและพระเถระผู้ใหญ่ จนเกิดเป็นปัญหาถกเถียงกันขึ้นมานั้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นห่วงกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศดังกล่าวด้วย

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้กล่าวว่า ประเด็นนี้ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีความชัดเจนว่าองค์สมเด็จพระสังฆราชไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช. เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์ แต่ไม่รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสภามหาวิทยาลัย

ดังนั้น พระเถระหลายๆ รูป ก็จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ทันทีที่ประธาน ป.ป.ช.ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างนี้ ก็มีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งได้ออกมาติงข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ในประเด็นคำว่า เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์ ว่า พระเถระผู้ใหญ่ทุกรูปก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์เช่นกัน

ในประเด็นนี้เป็นความถูกต้องตามที่พระเถระผู้ใหญ่รูปนั้นได้กล่าวชี้แจงออกมานั้นเสมือนเป็นการบอกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า พระเถระผู้ใหญ่ทุกรูปก็ควรได้รับการยกเว้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเช่นกัน

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ล้วนได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับตำแหน่ง และในบางตำแหน่งต้องกล่าวคำปฏิญาณตนด้วย อย่างนี้ก็ควรได้รับการยกเว้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเช่นกัน ถ้าจะจับประเด็นเพียงคำว่า โปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีนัยให้วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า พระเถระผู้ใหญ่กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

เหมือนกันโดยได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์เหมือนกัน

ต่างกันโดยการเป็นบรรพชิตกับการเป็นคฤหัสถ์

บรรพชิตเป็นผู้ถูกรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 96 ว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

นั่นแสดงว่า ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ไม่สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในทุกมาตราของหมวด 3 นี้

แต่คฤหัสถ์สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยได้สมบูรณ์ทุกมาตรา

ถามว่า ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช มิใช่เป็นปวงชนชาวไทยหรือ?

ทุกรูปเป็นคนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย โดยกำเนิดร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ถูกแยกเอาไว้โดยพระวินัยในทางพระพุทธศาสนาว่าเป็นอนาคาริยวินัย คือวินัยของผู้ไม่ครองเรือน ได้แก่บรรพชิต

เมื่อทางพระวินัยแยกภิกษุ สามเณร ออกจากการเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ละขาดจากโลกียวิสัยโดยสิ้นเชิง

แต่เมื่อนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยอยู่ในอาณาจักรใดก็ให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎหมายของอาณาจักรนั้น

ประเทศไทยมีราชอาณาจักรปกครองโดยพระมหากษัตริย์ นักบวชก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่บรรพชนได้จารึกการสืบทอดพระพุทธศาสนาในประเทศไทยมาตั้งแต่อาณาจักรสุวรรณภูมิเรื่อยมาจนถึงเมืองท้าวอู่ทองที่พอจะกำหนดความเป็นพระพุทธศาสนาในอาณาจักรที่ชื่อว่าประเทศไทยปัจจุบัน จากหลักฐานเจดีย์ พระพุทธรูปปางต่างๆ และสัญลักษณ์ศาสนาพุทธมากมาย

จนมาถึงกรุงสุโขทัยที่ได้ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบช่วยงานเผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้ปวงประชาอยู่เย็นเป็นสุข พระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์แก่ภิกษุสงฆ์ในฝ่ายศาสนจักรให้ควบคู่กับบรรดาศักดิ์ของฝ่ายอาณาจักร

ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงบัดนี้ สมณศักดิ์ในฝ่ายศาสนจักรก็ยังคงอยู่ แม้บรรดาศักดิ์ในฝ่ายอาณาจักรจะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม

บรรดาศักดิ์มีตั้งแต่ชั้นขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา สมเด็จเจ้าพระยา แต่ละชั้นยังมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเครื่องกำหนดคุณงามความดีในยามที่มีชีวิตอยู่ เมื่อยามสิ้นชีวิตก็มีโกศเป็นเครื่องประดับในการตั้งศพบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม

โกศ ประกอบด้วย โกศโถ โกศแปดเหลี่ยม โกศเกราะ โกศราชนิกุล พระโกศราชวงศ์ พระโกศไม้สิบสอง พระโกศมณฑปน้อย พระโกศมณฑปใหญ่ พระโกศกุดั่นน้อย พระโกศกุดั่นใหญ่ พระโกศทองน้อย พระโกศทองเล็ก พระโกศทองรองทรง และพระโกศทองใหญ่

ภิกษุที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่จะได้รับพระราชทานโกศประดับศพนั้นมีอยู่ 4 ชั้น ประกอบด้วย

พระราชาคณะชั้นธรรม เมื่อมรณภาพจะได้รับพระราชทานโกศโถประดับเกียรติ เสมอด้วยบุคคลผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย

พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ หรือที่เรียกว่ารองสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อมรณภาพจะได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยมประดับเกียรติ เสมอด้วยหม่อมเจ้าที่ไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และบุคคลผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือกขึ้นไป

สมเด็จพระราชาคณะ เมื่อมรณภาพจะได้รับพระราชทานพระโกศไม้สิบสอง เสมอด้วยขุนนางชั้นเจ้าพระยา หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง ประดับเกียรติยศ

สมเด็จพระสังฆราช เมื่อสิ้นพระชนม์จะได้รับพระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ประดับพระเกียรติยศ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อสิ้นพระชนม์จะได้รับพระราชทานพระโกศทองน้อยประดับพระเกียรติยศ

ความสำคัญของเกียรติยศและพระเกียรติยศย่อมแตกต่างกันด้วยลักษณะเช่นนี้

ความหมายที่ท่านประธาน ป.ป.ช.กล่าวถึงสมเด็จพระสังฆราชว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์นั้นคงหมายถึงการสถาปนาจากสามัญชนเป็นพระบรมวงศานุวงศ์เสมอในพระราชนิกุล โดยเมื่อจะพูดกับพระองค์ต้องใช้ราชาศัพท์ตามลำดับของพระราชนิกุล เช่น การใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า ฝ่าบาท หรือการทำหนังสือถึงพระองค์ต้องใช้คำว่า ทูล หรือกราบทูล มิได้ใช้คำว่า กราบเรียน หรือนมัสการ เหมือนกับสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะทั่วไป

นี่คือข้อแตกต่างว่า ทำไม? สมเด็จพระสังฆราชจึงควรยกเว้นการยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ในฝ่ายศาสนจักรมีเฉพาะสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้นที่มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระบรมวงศานุวงศ์

พระเถระผู้ใหญ่นอกจากนี้เป็นบรรพชิตที่มีเกียรติยศเสมอด้วยสามัญชนทั่วไป

แต่ถ้าจะมองถึงหลักปฏิบัติจริงๆ ของบรรพชิตที่เป็นบรรพชิตผู้ชื่อว่า ภิกษุผู้เป็นสมณะตามเชื้อสายของพระสมณโคดมพุทธเจ้า ดังคำว่า สมโณ โหติ สกฺยปุตฺติโย ย่อมได้รับการยกเว้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเช่นกัน เพราะภิกษุในพระพุทธศาสนาย่อมเป็นผู้ไม่มีทรัพย์สิน ไม่ถือครองทรัพย์สิน

เมื่อไม่มีทรัพย์สิน ไม่ถือครองทรัพย์สิน แล้วจะเอาบัญชีทรัพย์สินที่ไหนมายื่นให้ ป.ป.ช.

แม้ในปัจจุบันจะมีญาติโยมผู้มีศรัทธาถวายปัจจัยสี่โดยยึดเงินตราเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต แต่ว่าบรรพชิตทั้งหลายก็ประพฤติตัวปฏิบัติตนเสมือนบุรุษไปรษณีย์ รับมาก็จ่ายไป

ศาสนวัตถุในปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้ให้ความอุปถัมภ์ให้สมควรแก่ฐานานุฐานะในแต่ละวัดแต่ละรูป การสร้างศาสนสถานต้องอาศัยศรัทธาจากพุทธบริษัทที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้ช่วยให้ความอุปถัมภ์ค้ำชู เพราะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาดั่งปฐมบรมกษัตริย์รัชกาลที่ 1 เรื่อยมาทุกพระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามโดยที่พระภิกษุ สามเณร มิต้องนำหลักธรรมคำสอนไปแลกทรัพย์สินเงินทองมาสร้างวัด บูรณะโบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา ดั่งเช่นปัจจุบัน

สมัยพุทธกาลไฟฟ้าก็ไม่ต้องเสีย น้ำประปาก็ไม่ต้องจ่าย น้ำมันรถก็ไม่มี รักษาโรคก็สมุนไพร กุฏิ วิหาร เจดีย์ ก็มีพระมหากษัตริย์และศรัทธาสาธุชนดำเนินการสร้างให้เสร็จทุกวัดทุกสถานที่

ปัจจุบัน ไฟฟ้าก็เสียเอง น้ำประปาก็จ่ายเอง ค่ารถ น้ำมันรถก็ต้องออกเอง เข้าโรงพยาบาลก็จ่ายเอง กุฏิ วิหาร โบสถ์ ศาลา ก็หาเงินสร้างกันเอง

รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมองภิกษุ สามเณร นักบวช เหมือนคนที่ไม่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ไม่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ แต่นักการเมืองก็คอยจะวิ่งหาพระในยามเลือกตั้ง เห็นพระเป็นเทวดา พอหลังเลือกตั้งแล้ว เห็นพระสงฆ์เหมือนหุ่นขี้ผึ้ง

พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาทรงบัญญัติโดยผู้ไม่มีกิเลส จึงอยู่มาได้ 2,561 ปี ไม่มีการแก้ไขหรือฉีกทิ้งหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ภิกษุ สามเณรยังคงปฏิบัติพระธรรมวินัยตามพุทธบัญญัติ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติโดยผู้มีกิเลส จึงอยู่ได้แค่ 3-4 ปี หยิบยกขึ้นมาแก้ไข ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไป ระยะเวลาแค่ 86 ปี มีรัฐธรรมนูญเป็นสิบๆ ฉบับ

บรรดาผู้มีกิเลสทั้งหลายพยายามเบียดเบียนผู้ห่างไกลจากกิเลส นำอาวุธยุทโธปกรณ์ไปบีบบังคับขับไล่ผู้ไร้อาวุธ ผู้สงบกาย วาจา ผู้ไร้สัญญาแห่งบัณฑิตก็วางจิตประทุษร้ายภิกษุสงฆ์ ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา ทำลายสายธารศรัทธาของสาธุชน

พยายามใช้อำนาจควบคุม บังคับ ให้ยอมรับกฎหมายอยู่เหนือพระธรรมวินัย

สมณศักดิ์หลักประกันในความเป็นผู้ใหญ่จริงหรือ?

ถ้าบุคคลใดหรือภิกษุรูปใดเกิดสภาวะจิตคิดว่า สมณศักดิ์เป็นหลักประกันในความเป็นใหญ่นั้น ผมว่าท่านผู้นั้นคิดผิดตามหลักพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา

เพราะสมณศักดิ์มิได้บ่งบอกถึงคุณธรรมแห่งมรรคผล แต่บ่งบอกถึงลักษณะแห่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต

มีภิกษุจำนวนมิใช่น้อยยังหลงอยู่ในสมณศักดิ์ เพราะสมณศักดิ์เป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งกิเลส เป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งความโลภ เป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งความอคติ เป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งความแข่งดี

เป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งทิฏฐิมานะ

เป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งการยกตนข่มท่าน

เป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งความหลงมัวเมา และเป็นเหตุนำมาซึ่งอำนาจแห่งตัณหาในโลกียวิสัย มิใช่หนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทาของสัตบุรุษผู้เจริญด้วยอริยมรรคมีองค์ 8

ซึ่งเป็นหนทางแห่งพระอริยบุคคลจะพึงประพฤติปฏิบัติตลอดกาลเพียงไรแห่งชีวิต