แมลงวันในไร่ส้ม : จากยูทูบสู่พื้นที่สื่อ ‘ประเทศกูมี’ ยอดกระฉูด สัญญาณเตือน ‘ใคร’

แมลงวันในไร่ส้ม

 

จากยูทูบสู่พื้นที่สื่อ ‘ประเทศกูมี’ ยอดกระฉูดสัญญาณเตือน ‘ใคร’

 

เพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่ม Rap Against  Dictatorship หรือ RAD กลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อและหน้าหนังสือพิมพ์

กลุ่ม RAD ปล่อยเพลงนี้ออกมาในยูทูบเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา

เนื้อหาเพลง เสียดสีและประชดประชันปัญหาการเมือง ปัญหาสังคมที่เกิดในประเทศไทย ด้วยถ้อยคำภาษาตรงไปตรงมาแบบคนรุ่นใหม่ และตามแบบของ “ฮิปฮอป” ที่มักจะแรง เต็มไปด้วยพลังทะลุทะลวง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเพลงนี้แพร่กระจายในวงกว้าง ด้วยการโพสต์ซ้ำ แชร์ และส่งต่อกัน ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐออกมาขู่จะดำเนินคดี และมีผู้ออกมาตำหนิโจมตีว่า เพลงนี้มีเนื้อหาทำร้ายประเทศชาติ

แต่ยิ่งขู่ กลับยิ่งมีคนเข้าไปฟังเพลงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ยังเกิดปรากฏการณ์มีผู้ที่สนับสนุนรัฐประหารออกมาแต่งเพลงตอบโต้ เขียนกลอนตอบโต้ หรือวิพากษ์วิจารณ์ โดยกลุ่มจุดยืนเดียวกันออกมาปลาบปลื้มชื่นชมว่า มีเนื้อหาดีงาม รักและรับใช้ประเทศชาติ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เพลง บทกวี หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่งัดมาตอบโต้นั้น ถูกวิจารณ์ว่าคุณภาพของความคิด เนื้อหา และคุณภาพการสร้างสรรค์ เห็นชัดว่ามีความด้อยกว่า มีความน่าสนใจน้อยกว่าเพลงประเทศกูมี อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้

ยอดเข้าชมเอ็มวี “ประเทศกูมี” พุ่งผ่าน 10 ล้านไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงวันที่ 27-28 ตุลาคม หรือประมาณ 5 หรือ 6 วันหลังจากอัพโหลดเพลงลงในยูทูบ

ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ยอดวิวพุ่งไปเกิน 20 ล้านแล้ว

เป็นสัญญาณเตือนและตัวชี้วัดอารมณ์ของคนในสังคมไปพร้อมกัน

 

สําหรับเนื้อเพลง “ประเทศกูมี” ร่ายยาวถึงปัญหาต่างๆ อาทิ คดีเสือดำ ประเทศเคร่งศีลธรรม แต่สถิติอาชญากรรมสูงลิ่ว ปัญหาการใช้กฎหมาย ค่านิยมสังคมที่ยกย่องคนเป็นไอดอล ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร การทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่มีการตรวจสอบ กรณีนาฬิกา ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ศิลปินวางท่าเป็นขบถ แต่เดินตามรัฐเป็นฝูงมด

คนใส่สูทปากว่าตาขยิบ ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิ์เลือก ด่าไม่ได้ ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่ มีกฎหมายไว้ให้ตำรวจข่มขู่ ประเทศที่บอกให้อยู่เฉยๆ ถ้าไม่อยากนอนเรือนจำ

ประเทศที่พรรคการเมืองเสือกแบ่งเป็นสองขั้ว พลเมืองแบ่งเป็นสองข้าง คนตายในม็อบทั้งสองขั้ว ประเทศที่ 4 ปียังไม่เลือกตั้ง ประเทศที่เลือกนายกฯ ต้องให้ทหารมาเลือกให้ คนยังสุขสำราญแต่ใช้ชีวิตอยู่ในกะลา

มิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ เป็นภาพของแร็พเปอร์แต่ละคนออกมาแร็พ โดยมีฉากเป็นภาพการทารุณกรรม ทำร้ายศพที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวง คล้ายกับภาพจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในอดีต

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล

 

คําเตือนเรื่องเนื้อหาหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายในระยะแรกๆ มาจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ซึ่งระบุว่า ต้องดูว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ ดูคลิปดังกล่าวแล้ว พบว่า 50 : 50 ต้องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบว่าเนื้อหาเข้าข่ายหรือไม่

ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 3 ปอท. ชี้ว่า “ประเทศกูมี” น่าจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย มองในเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากตอนนี้บรรยากาศการลงทุนกำลังดี ซึ่งเนื้อหาเพลงโดยรวมเป็นการบอกว่าประเทศเราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เป็นเชิงลบ

ผู้ที่แชร์เพลงประเทศกูมีจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(5) อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเพลงประเทศกูมีเข้าข่ายการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ตามมาด้วย บิ๊กโจ๊ก หรือ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รรท.ผบช.สตม. ฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ชี้ว่า ผู้ที่ทำคลิปเพลงดังกล่าวผิดอยู่แล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิสูจน์ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะทราบตัวบุคคล จากนั้นจะรวบรวมหลักฐาน ขอหมายจับดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม พล.ต.ต.สุรเชษฐ์โพสต์ข้อความในเพจว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมในทุกๆ ด้าน

ผู้ใหญ่ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่สามารถห้ามหรือจำกัดความคิดเห็นส่วนบุคคลได้ โดยเฉพาะความคิดเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ถือเป็นการสะท้อนความคิดเห็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ควรรับฟัง

ส่วนที่มองว่ากระทบประเทศชาติ การดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล ให้ความเป็นธรรม

ส่วน พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวในวันที่ 29 ตุลาคมเช่นเดียวกันว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดได้ เพราะเนื้อหาของเพลงยังไม่มีการระบุวันเวลา สถานที่ อย่างชัดเจน

ประชาชนยังสามารถฟัง ร้อง และแชร์เพลงนี้ได้ ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ยอดวิวเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลกับคดีอาญา

ลดความแข็งกร้าว จากเดิมที่ประกาศเดินหน้าดำเนินคดี

 

ขณะที่ทีม Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลงชี้แจงว่า เนื้อเพลงนั้นทางทีมมีการรีเสิร์ชจากสิ่งที่เป็น ‘ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์’ คือเป็นเนื้อหาที่ใครก็พูดกัน มาผสมผสานในเนื้อเพลง มันอาจจะดูรุนแรงขึ้นด้วยดนตรีแนวฮิปฮอป แต่ตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าจะต่อสู้ตามวิถีทางกฎหมาย ไม่ทำอะไรผิดกฎหมายอยู่แล้ว

และกล่าวว่า หากโดนเรียกไปให้ปากคำจริงๆ ก็จะไป เพื่อยืนยันเจตนาบริสุทธิ์

ความเห็นที่น่าสนใจ มาจาก ฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดรุ่นใหม่ ที่เกิดและเติบโตในอเมริกา โพสต์คลิปพร้อมแสดงความเห็น ระหว่างกำลังฟังเพลงประเทศกูมี

ฌอนระบุว่า ที่อเมริกา ฮิปฮอปเป็นเพลงที่พูดเรื่องราวทางสังคม ส่วนตัวชอบสไตล์ของกลุ่มนี้ ไม่ได้จะพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ชื่นชมที่นักร้องกลุ่มนี้ใช้ฮิปฮอปทำตามเจตนารมณ์ที่ฮิปฮอปถูกสร้างมา เพื่อสะท้อนสังคม เพราะรากของฮิปฮอปคือการแสดงความคิดเห็น

ที่อเมริกามี The First Amendment (บทบัญญัติเพิ่มเติมที่ 1 ของรัฐธรรมนูญประเทศสหรัฐอเมริกา – First Amendment of the Constitution of the United States) รับรองให้บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ได้อย่างเสรี

ฮิปฮอปถูกสร้างมาเพื่อช่วยสังคม เพื่อระบายอารมณ์ และบางสิ่งที่คนบางคนไม่กล้าพูด มันจึงเป็นศิลปะที่ถูกสร้างมาให้ใช้แบบนี้

ถือเป็นมุมมองที่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดมุมมองหนึ่งต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น