กษิต ภิรมย์ : ผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากรข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ ได้ประกาศว่า จะปราบ “กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่เกินกำหนด” โดยมีคำสั่งให้ “กำจัดเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ” ดูเหมือนว่า คำสั่งนี้มีขึ้นหลังจากมีการร้องเรียนว่า มีชาวต่างชาติบางกลุ่มเข้ามาทำธุรกิจที่น่าสงสัยในประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากคำประกาศของ พล.อ.ประวิทย์ ถือได้ว่าเป็นห้วงเวลาอันเลวร้ายสำหรับผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

เพียงหนึ่งวันหลังจากมีคำสั่งของ พล.อ. ประวิตร ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้นำกำลังเข้าตรวจอาคารย่านจรัญสนิทวงศ์แห่งหนึ่ง และจับกุมผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานอย่างน้อย 77 คน ซึ่ง 43 คนในนั้นยังเป็นเยาวชนอยู่ ตำรวจได้ทำการเข้าค้นและจับกุมลักษณะเดียวกันอีกหลายครั้งในสัปดาห์นั้น ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทยอยยกเลิกการให้ประกันตัวต่อกลุ่มผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยโดยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แม้ว่า บุคคลเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวมาหลายปีแล้วก็ตาม

ก่อนหน้านี้ไม่นานเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ก็มีเหตุการณ์บุกเข้าตรวจค้นในจังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่จับกุมชาวกัมพูชาและเวียดนามประมาณ 180 คน โดยรวมถึงเด็กกว่า 50 คนด้วย ซึ่งต่อมาเด็กเหล่านี้ถูกพรากจากพ่อแม่ ระหว่างถูกควบคุมตัว

รวมๆ แล้วมีชาวต่างชาติประมาณ 200 คนถูกจับในช่องสองเดือนที่ผ่านมา พฤติการณ์ของพวกเขาเหล่านี้ห่างไกลจากความเป็น “อาชญากรข้ามชาติ” ที่รัฐบาลประกาศมาก พวกเขาเป็นเพียงคนที่มาหลบภัยในประเทศไทยเพราะถูกกดขี่ข่มเหงในประเทศบ้านเกิด เช่น ชาวปากีสถานที่ถูกคุกคามเพียงเพราะนับถือศาสนาคริสต์ ชาติพันธ์ชนกลุ่มน้อยจากเวียดนามและกัมพูชาที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่เพียงเพราะความเชื่อทางศาสนาที่ต่างจากชนกลุ่มใหญ่ และชาวโซมาเลียที่หนีภัยสงครามซึ่งยืดเยื้อยาวนานมายังประเทศไทย พวกเขาสมควรได้รับการปกป้องจากพวกเขา ไม่ใช่ถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากร

ปัจจุบันประเทศไทยให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 103,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และยังมีผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกกว่า 6,000 คน แม้ว่าหลายคนในจำนวนนี้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว พวกเขากลับแทบจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิผู้ลี้ภัย และไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงอยู่ในสถานะที่ก่ำกึ่งทางกฎหมาย และอาจถูกจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เนื่องจากไม่สามารถไปทำงานอย่างถูกกฎหมายได้ พวกเขาต้องดิ้นรนใช้ชีวิตในพื้นที่สีเทาเพื่อหาเลี้ยงชีพ ทั้งยังต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงว่าอาจโดนจับเมื่อไรก็ได้ ทำให้หลายๆ คนไม่เคยออกจากบ้านเลย เพราะกลัวถูกจับ และขังตัวเองในห้องเช่าอันสกปรกและคับแคบ

ผู้ลี้ภัยที่ถูกจับจำนวนมาก จะถูกควบคุมตัวที่สถานกักกันตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีสภาพ “เลวร้ายยิ่งกว่าคุก” จากปากคำของอดีตผู้ถูกคุมขัง สภาพภายในสถานกักกันตรวจคนเข้าเมืองนั้นมีความแออัดยัดเยียด มีพื้นที่ไม่พอให้นอนราบ อาหารมีไม่เพียงพอ การรักษาพยาบาลไม่ทั่วถึง ผู้ลี้ภัยบางคนถูกควบคุมตัวที่นี่เป็นเวลาหลายปีอย่างไม่มีกำหนดปล่อย นโยบาย “ควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด” นี้ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อปรามไม่ให้ผู้ลี้ภัยรายอื่นพยายามเดินทางมาประเทศไทย

มีรายงานว่า บางส่วนของผู้ลี้ภัยที่ถูกจับช่วงสองเดือนที่ผ่านมาได้ “สมัครใจ” เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกขังอยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างไม่มีกำหนด การบังคับให้เลือกเช่นนี้ อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศข้อสำคัญ ว่าด้วยการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่พวกเขาหนีมา เพราะอาจทำให้ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

สิ่งที่ทำให้การปราบผู้ลี้ภัยครั้งนี้น่าผิดหวังมากขึ้นไปอีก คือเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเพิ่งได้ให้คำมั่นสัญญาในการส่งเสริมสิทธิผู้ลี้ภัย โดยในปี พ.ศ. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศว่า จะสร้างกลไกในการตรวจคัดกรองผู้ลี้ภัยเพื่อมาแทนที่กลไกของ UNHCR แม้จะมีความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้เห็นอยู่ แต่ก็ยังไม่มีการบังคับใช้กลไกดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้เคยแสดงถึงเจตนาที่จะยุติการกักขังเด็กและเยาวชน แต่ปัจจุบันยังมีเด็กผู้ลี้ภัยจำนวน 100 คนที่อยู่ในสถานกักกันตรวจคนเข้าเมือง และอีก 50 คนที่อยู่ในสถานคุมขังอื่นๆ ของรัฐ (แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวในเชิงบวกเล็กๆ ให้เห็น คือ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีเด็ก 19 คนได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันตรวจคนเข้าเมือง)

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผมได้ไปเยือนประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในสามประเทศในภูมิภาคที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ซึ่งในหลายทศวรรณที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้ต้อนรับคลื่นผู้ลี้ภัยที่หนีการกดขี่ข่มเหงจากทั่วโลก มีตั้งแต่ชาวรัสเซียซึ่งหนีการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2460 ชาวยิวซึ่งหนีการกดขี่และฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และ ชาวเวียดนามที่หนีมาทางเรือ ชุมชนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้หล่อหลอมเข้ากับสังคมฟิลิปปินส์อย่างสมบูรณ์และร่วมกับชาวฟิลิปปินส์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศ

ประเทศไทยควรเอาอย่างฟิลิปปินส์โดยมีแนวนโยบายการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่เป็นมิตรมากขึ้น ในเบื้องต้นประเทศไทยควรทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในการอย่างเร่งด่วน ในการสร้างกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัย และยุติการกักขังเด็กและเยาวชน ส่วนในระยะยาว เราจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย และให้สัตยาบันอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

แต่โดยรากฐานแล้ว เราต้องหยุดมองเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาความมั่นคง และหันมาดูมิติด้านมนุษยธรรม บรรดาผู้คนที่หลบหนีเอาชีวิตรอดมายังประเทศของเรานั้นควรได้รับการดูแลปกป้อง ไม่ใช่มาถูกซ้ำเติมโดยการจับกุมคุมขัง

ที่มา : กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR)