เด็กยังเป็นเหยื่อความรุนแรง ที่ชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

เหตุการณ์สังหารสองแม่ลูก (ชาวพุทธ) บนถนนสายปะลุกาสาเมาะ-ต้นไทร บ้านปะลุกาสาเมาะ หมู่ 2 ต.ปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2561 ก่อนวันแม่แห่งชาติ 1 วัน สร้างความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง

(โปรดดู https://www.isranews.org/south-news/other-news/68556-condem-68556.html)

เป็นที่ทราบดีว่าวันที่ 11 สิงหาคมของทุกปี หลายแห่งจะจัดกิจกรรมทำความดีเพื่อแม่รวมทั้งชายแดนใต้เพราะ 12 สิงหาคม 2561 คือวันแม่แห่งชาติ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าแม่ลูกคู่นี้กลับต้องมาลิ้มรสความโศกเศร้าในวันที่ผู้คนกำลังฉลองหรือจะฉลองวันแม่แห่งชาติ

ผู้เขียนขอร่วมกับทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มด้วยใจ, กลุ่มลูกเหรียง สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ We Peace และสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประณามและต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และผู้บริสุทธิ์ ขอให้ทุกฝ่ายยุติการทำร้ายต่อพวกเขาโดยเฉพาะเด็ก สตรีผู้เป็นมารดาของประชาชาตินี้ ไม่มีทางสู้

ขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำผู้กระทำผิดมารับโทษ ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้และสอดคล้องมาตรฐานสากล

ความเป็นจริงตามหลักศาสนธรรมไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์และอิสลามได้ห้ามทำร้ายผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะอิสลามที่กล่าวเฉพาะเจาะจงกับเด็ก สตรี ถึงแม้ภาวะสงคราม

งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นคนใต้ ทำงานด้านสันติภาพตลอดได้ตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “หากว่าเราต้องการจะยุติวัฏจักรความรุนแรง และไม่อยากเห็นความสูญเสียเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร”

“เหตุการณ์ยิงเด็ก/ผู้หญิงที่ชายแดนใต้เมื่อวานนี้ (11/8/61) สร้างความรู้สึกสะเทือนใจกับผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่จำนวนมากอีกครั้งหนึ่ง มีการแสดงความรู้สึกและตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก รวมทั้งออกแถลงการณ์”

วิธีการครั้งนี้ก็ไม่ต่างกับที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุกับ “พลเรือน” และคนกลุ่มน้อยในพื้นที่

เราเองก็มีคำถาม : ทำไมถึงรู้สึก? เราอยู่ตรงไหน/ทำอะไร ระหว่างความรุนแรง? ใครควรรับผิดชอบ? ทางออก/ป้องกันคืออะไร? บางคำถามอาจยังไม่มีคำตอบ แต่คิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ เราอาจต้องกลับมาทบทวนตัวเองกันอยู่ไม่น้อย หากว่าเราต้องการจะยุติวัฏจักรความรุนแรง และไม่อยากเห็นความสูญเสียเกิดขึ้นอีก#ทำไมถึงสะเทือนความรู้สึกของผู้คน

เพราะพวกเขาทั้งสองเป็น “เด็ก/ผู้หญิง” เป็น “พลเรือน”

หากย้อนหลังเหตุการณ์นี้ไป 10 วัน (ก่อน 11 สิงหาคม) เกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนใต้? เราอยู่ตรงไหนของเหตุการณ์ทั้งหมดนี้? เรารู้สึกอย่างไร? คนเหล่านี้คือใคร?

31 กรกฎาคม เกิดเหตุยิงคอเต็บ (นำศาสนาในชุมชน) หน้ามัสยิดอัดดารีลคอยรียะฮ์ บ้านโคกนิบง ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี

1 สิงหาคม มีการควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิและชาวบ้านที่สายบุรีและไม้แก่น รวม 5 คน ไปที่ค่ายอิงคยุทธ ภายใต้กฎอัยการศึก

2 สิงหาคม พบศพนายอานูวา มะลี นอนเสียชีวิตอยู่บริเวณสวนยางพาราพื้นที่บ้านกูวา อ.แว้ง จ.นราธิวาส

4 สิงหาคม คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงนายอิดิเรส สุหลง ที่ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

6 สิงหาคม เจ้าหน้าที่จาก ฉก.ทพ.33 (ยีลาปัน) ควบคุมตัวมูฮัมหมัดกาดาฟี สะเต๊าะ ประชาชนในพื้นที่ ม.1 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา โดยอ้างว่าเป็นบุคคลต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบในพื้นที่อำเภอธารโต เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และได้นำผู้ต้องสงสัยไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เพื่อซักถามข้อมูล

7 สิงหาคม เกิดเหตุยิงนายมะซูกีพลี หลงเป๊าะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต

7 สิงหาคม เกิดเหตุลอบวางระเบิด จนท.อส.ชุด รปภ.ครู เขตสุไหงปาดี แล้วยิงซ้ำ เสียชีวิต 2 ราย

8 สิงหาคม คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงกระสุนถูกนายลุกมัน มะแวซา อส.กะพ้อ จ.ปัตตานี ได้รับบาดเจ็บ

8 สิงหาคม คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนพกไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงนายดอยะ เจะหะ บ้านบาลาแต อ.มายอ จ.ปัตตานี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

11 สิงหาคม คนร้ายไม่ทราบชื่อและจำนวนใช้อาวุธปืนยังไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงราษฎรเสียชีวิต 2 รายคือ นางนิตยา แก่นเรือง และ ด.ญ.อัจฉริยา แก่นเรือง ที่ปะลุกาสาเมาะ จ.นราธิวาส

11 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนายฟาอิส แมยู คณะทำงานเครือข่ายมูลนิธินูซันตารา สาขานราธิวาส และกำลังศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ ฉก. วัดเชิงเขา ต ปะลุกาสาเมาะ (ข้อมูลอาจจะยังตกหล่น แต่ก็ให้เห็นภาพความรุนแรงก่อนจะมาหยุดลงที่เหตุการณ์ยิง “เด็ก/สตรี”)

ถ้ากลับไปดูรายงานทางวิชาการพบว่า ตั้งแต่ความรุนแรงปี 2547 ตลอด 10 กว่าปี สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกดำเนินคดีและคุมขัง ถูกพลัดพรากจากครอบครัวอันเนื่องมาจากคนในครอบครัวถูกดำเนินคดี ถูกวิสามัญฆาตกรรม หายสาบสูญหรือหลบหนี และเด็กที่กลายเป็นเด็กกำพร้า ความรุนแรงยังส่งผลให้เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรง มีผลกระทบทางจิตใจที่อาจจะนำไปสู่ภาวะความซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือทำให้ชอบใช้ความรุนแรงเสียเอง ยังไม่นับรวมที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่

จากสถิติเหตุไม่สงบระหว่างมกราคม 2547-ธันวาคม 2557 พบว่า มีเด็กและเยาวชน (อายุต่ำกว่า 15 ปี) เสียชีวิต 81 คน แยกเป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ 20 คน ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม

ส่วนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 445 คน เป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ 156 คน และนับถือศาสนาอิสลาม 287 คน

โดยปีที่มีเด็กเสียชีวิตสูงสุดคือปี 2550 จำนวน 21 คน และในปีเดียวกันมีเด็กที่ได้รับบาดเจ็บสูงสุดด้วยเช่นกัน คือ 55 คน

สำหรับผลกระทบทางอ้อมต่อเด็กและเยาวชนในสถานการณ์ชายแดนใต้ด้วย เช่น

1. กรณีที่มีครูถูกยิงเสียชีวิตทางโรงเรียนก็จะปิดเรียน 2 วัน ซึ่งทำให้การเรียนของเด็กหยุดชะงักไปด้วย

และ 2. กรณีโรงเรียนถูกเผาและทำลาย (รวมไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง) ส่งผลกระทบให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีที่เรียนหรือต้องใช้สถานที่ที่ไม่เอื้อต่อการเรียน เป็นต้น

ดังนั้น การช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ควรทำไปพร้อมกัน อย่างน้อย 4 ด้าน โดยเฉพาะภาคประชาชน

ดังนี้

1. การเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่

2. การสื่อสารเพื่อสารนำเสนอเรื่องของเด็กสู่สาธารณะมากยิ่งขึ้น

3. การทำฐานข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการไปช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป

4. สร้างศักยภาพในการทำงานของเครือข่ายคุ้มครองสิทธิเด็กฯ (Safety Net) เพื่อให้เครือข่ายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น

ในขณะที่หน่วยงานรัฐจะหนุนเสริมหน่วยภาคประชาชนอย่างไรให้สามารถทำงานทั้ง 4 ด้านให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลรวมทั้งกลุ่มขบวนการเห็นต่างจากรัฐที่ติดอาวุธจะให้ความสำคัญในประเด็นนี้เช่นกันอย่างไร ซึ่งหวังว่าจะช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่รัฐกำลังขับเคลื่อนอยู่