โมเดลปัตตานี : ส่องปัจจัยให้ชีวิตรอด “การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน แบบฉบับจากจังหวัดชายแดนใต้”

“หัวใจวายเฉียบพลัน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการเกี่ยวกับกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 1 ใน 4 อันดับเพชฌฆาตต้นเหตุการตายคนไทย

ทุกๆ ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 6 คน เฉพาะในปี 2560 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุกลุ่มโรคหัวใจมากถึง 54,530 คน

สำหรับจังหวัดปัตตานี ในปีที่ผ่านมาปรากฏว่าเป็นโรคอันดับต้นๆ ของสถิติผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ดังที่ทราบกันดี จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดเล็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง

ส่วนระบบสุขภาพก็ยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เฉพาะโรงพยาบาลปัตตานีที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกเข้ามารับการรักษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน

และมีผู้ป่วยในในความดูแลอีก 450 เตียง

ในขณะที่มีอัตราสถิติการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงถึง 20 คนต่อประชากร 100,000 คน

สวนทางกับจำนวนแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจที่มีเพียงคนเดียวเท่านั้น

แต่หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงทีและส่งถึงมือหมอได้โดยเร็วที่สุด พวกเขาอาจมีโอกาสรอดสูงมากถึงครึ่งต่อครึ่ง

นั่นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบส่งต่อและดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เกิดขึ้นของจังหวัดปัตตานี

ล่าสุดสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เห็นว่าการวางระบบแบบเครือข่ายจังหวัด หรือ “ปัตตานีโมเดล” ที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานีพัฒนาขึ้น เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งได้รับรองมาตรฐานเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด

ด้วยความหวังว่า โมเดลต้นแบบจากเมืองเล็กๆ ปลายด้ามขวานแห่งนี้จะได้รับการต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อต่อสู้กับความสูญเสียและความทุกข์ทรมานจากโรคภัยได้

นพ.ศักดิ์ชัย ตั้งจิตวิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี เปิดใจว่า

“การได้รับการรับรองจาก สรพ. มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาโรคหัวใจและแก้ปัญหาอย่างมีทิศทางเดียวกัน และจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชน เพราะทำให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน การได้รับการรับรองคุณภาพก็เหมือนการประกาศตัวว่า เราทำสิ่งนี้ได้ดี ได้มาตรฐานแล้ว ใครที่ความรู้ยังไม่แน่นก็ต้องยกระดับตัวเองขึ้นเพื่อทำให้ได้มาตรฐานที่ประกาศไป”

“เป็นการสื่อสารถึงทุกคนในโรงพยาบาล และเมื่อเราประกาศทำทั้งจังหวัดก็หมายความว่า มีสิ่งที่ต้องทำคือการไปคุยกับโรงพยาบาลอำเภอดูแลผู้ป่วยโดยตรง ในลักษณะสร้างเครือข่าย เพื่อเอาความรู้ ทักษะ วิธีปฏิบัติลงไปพื้นที่ จากโรงพยาบาลอำเภอก็ลงไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือแม้แต่อาสาสมัครเพื่อถ่ายทอดความรู้ต่อให้ประชาชน ความจริงจังในเรื่องนี้ทำให้แม้แต่ในส่วนชาวบ้านก็เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น จากเดิมที่เขาไม่เคยรู้ว่าทำไมจึงเป็นโรคหัวใจก็เกิดความรู้ความตระหนัก ดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้องมากขึ้น”

ด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น นพ.เอกอนันต์ อนันต์ฐานิต นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หรือแพทย์โรคหัวใจเพียงหนึ่งเดียวของจังหวัด มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไม่อาจรอตั้งรับปัญหาในโรงพยาบาลได้อีกต่อไป เพราะนอกจากจำนวนคนไข้ที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายแล้ว

ปัญหาจากระยะทางและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ป่วยอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ทั้งที่คนไข้ในกลุ่มโรคหัวใจ หากการตรวจคัดกรองพบกลุ่มเสี่ยงได้เร็ว หรือได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเมื่อมีอาการเฉียบพลัน จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น การเสริมศักยภาพให้กับส่วนงานบริการสุขภาพทั้งจังหวัดจึงเป็นเรื่องจำเป็น

“นั่นหมายถึงต้องมีการส่งต่อและการรักษาที่สามารถเข้าได้ถึงพื้นที่ชุมชน สมัยก่อนกว่าจะเดินทางมารักษาที่จังหวัดได้ บางคนมีค่าเดินทางถึง 1,600 บาท แพงมาก แพงกว่าค่ายาเสียอีก เขามียังมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ต้องมาให้ทันรถเที่ยวเดียวคือตี 5 ทั้งยังต้องมาจากพื้นที่เสี่ยง แล้วต้องกลับให้ทัน 6 โมงเย็น ตอนนี้เราพัฒนาระบบให้สามารถรับยาในพื้นที่รวมถึงดูแลคนไข้ที่มีความซับซ้อนได้แล้ว”

นพ.เอกอนันต์อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบการดูแลและส่งต่อที่พัฒนาขึ้นคือการจัดทำระบบฐานข้อมูลออนไลน์ที่เก็บจากทุกชุมชนหมู่บ้านเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลอำเภอและจังหวัด การอบรมบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. รวมทั้งอาสาสมัคร เพื่อให้มีความรู้ในการปฐมพยาบาลกู้ชีพและลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอย่างเป็นระบบ

โดยจะต้องบันทึกอาการ ประวัติการรักษา การประเมินเบื้องต้น การปักหมุดสถานที่ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นปรึกษาคนไข้ในชุมชนอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลอีกชั้นจากอายุรแพทย์ของโรงพยาบาลประจำอำเภอดูแลผู้ป่วยแบบปรึกษาทีมงานเฉพาะได้ตลอดเวลา

ส่วนในกรณีที่มีผู้ป่วยอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการดูแลเบื้องต้นจากอายุรแพทย์ในโรงพยาบาลประจำอำเภอได้ทันที โดยจะมีการประสานข้อมูลการรักษากับหมอโรคหัวใจที่โรงพยาบาลปัตตานีโดยตรง เพื่อดูแลให้ผู้ป่วยในระยะวิกฤตให้ปลอดภัยก่อนส่งต่อ แตกต่างจากในอดีต หากมีอาการเฉียบพลันจะต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น ซึ่งเสียเวลามาก

แต่นั่นกลับเป็นปัจจัยสำคัญของโอกาสในการรอดชีวิต จากระบบการดูแลและส่งต่อที่พัฒนาขึ้น พบว่าสามารถทำให้สถิติการเสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 8 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปีเท่านั้น

อามีน๊ะ เจ๊ะดาแม หนึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจ ชาวบ้านตำบลปะเสยาวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เล่าถึงประสบการณ์โรคหัวใจซึ่งกำเริบเฉียบพลันให้ฟังว่า วันนั้นขณะกำลังจะพักจากการขายขนมเหมือนในทุกๆ วันและเตรียมไปละหมาด อยู่ดีๆ ก็เริ่มรู้สึกหน้ามืด เจ็บหน้าอก จุกด้านหลัง แขนเหมือนโดนบีบขึ้นไปตา ลำคอ ใบหน้า และอาเจียน จึงรีบให้คนนำส่งโรงพยาบาล

หากเป็นอดีต กรณีของอามีน๊ะ จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี

แต่ด้วยระบบที่วางเอาไว้ทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดเพื่อแก้อาการให้พ้นภาวะวิกฤตก่อนส่งต่อได้

การเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วทำให้รอดชีวิตและเกือบหายเป็นปกติ เธอได้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน มีเพียงการต้องกินยาและติดตามอาการเป็นระยะเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้จะมีอาสาสมัครในชุมชนที่ผ่านการอบรมและทีมหมอครอบครัวดูแลอย่างใกล้ชิด

อามีน๊ะ เจ๊ะดาแม กล่าวว่า “ถ้าให้คะแนนได้จะให้เต็มเลย เจ็บเมื่อไหร่ก็มีคนมาดูแลทันที ไปโรงพยาบาล ถ้ารู้ว่าเป็นโรคหัวใจหมอจะรับเข้ารักษาด่วน โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับคนไข้กลุ่มนี้มาก ระบบขั้นตอนการส่งต่อทำให้คนไข้สบายใจกับการทำงานของทีมหมอ”