จากมารดา “ธงทอง จันทรางศุ” กับงานเขียน “แม่คุยกับลูก” : การทำบุญ

แม่คุยกับลูก (9)

จากวันที่แม่นั่งเขียนจดหมายอยู่นี้ อีกไม่กี่วันก็จะเป็นอาสาฬหะและวันเข้าพรรษา

สตางค์ที่แม่ขอลูกมารวมกันเข้ากับของแม่ แม่ได้นำไปซื้อผ้าไตรมาหนึ่งชุดเตรียมเอาไว้ถวายหลวงตาดำ ตอนแม่ออกไปใส่บาตรในเช้าวันนั้นเพื่อเป็นการร่วมทำบุญกันตามประสาพ่อแม่ลูก เช่นที่เราเคยทำกันมาตามวาระและโอกาสต่างๆ

พูดถึงตรงนี้ทำให้แม่นึกถึงคำว่ามูลนิธิเหรียญสลึง แม่ชอบคำนี้ เพราะมันทำให้นึกถึงการสะสมกันวันละเล็กละน้อยจากกองเล็กๆ ไปหาใหญ่

เหมือนหยดน้ำทีละหยดที่ไหลมารวมกันจนกระทั่งกลายเป็นขันเป็นตุ่ม

การทำบุญที่แท้จริงนั้น เราไม่ต้องไปหวังอะไรดอกลูก พระท่านสอนว่า การทำบุญ เช่น การบริจาคทั้งหลายนั้นมันเป็นการกำจัดความเหนียวแน่น ความเห็นแก่ตัว ความรักตัวเอง

ให้รู้จักกับการเผื่อแผ่ แบ่งปันของที่มีเหลือกินเหลือใช้ไปให้แก่ผู้อื่นเสียบ้าง

ถ้าเราทำได้เช่นนี้บ่อยๆ เราก็จะรู้สึกสบายใจ จิตใจแช่มชื้นขึ้น แล้วนานวันไปลูกก็จะมีจิตใจที่อ่อนโยนลงโดยไม่รู้ตัว

นั่นแหละจ้ะ คือ “บุญ” ที่ลูกได้รับ

แม่คิดถึงคุณยาย เมื่อสมัยแม่ยังเป็นเด็ก พวกเราทุกคนจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน

พอถึงวันสำคัญทางศาสนา คุณยายก็ให้บริวารทำของใส่บาตรทั้งคาว-หวานอย่างละถาดเพื่อไปใส่บาตรกันที่วัด

พวกเราเด็กๆ ก็จะหัดเจียนใบตอง ห่อของใส่บาตร ห่อแล้วจะมีใบตองอีกชิ้นหนึ่งคาดทับก่อนกลัดไม้กับใบตองชิ้นเล็กที่เขาเรียกว่าเตี่ยว

เสร็จแล้วก็จะมีคนใช้มีดคมๆ แต่งเตี่ยวที่อยู่เหนือไม้กลัดขึ้นไปให้เป็นรูปสวย ตรงนี้เราใช้เป็นที่จับเวลาหยิบของใส่บาตร

ห่อของคาวมักจะใหญ่กว่าห่อของหวาน สมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักคำว่าพลาสติก

ถึงเวลาวันเกิดของใคร คุณยายก็ให้ใส่บาตรอีกนั่นแหละ แต่ให้ใส่เติมอายุไว้หนึ่งรูปเสมอ

เช่น เราอายุเก้าขวบ คุณยายก็ให้ใส่บาตรเสียสิบรูป

แต่ใส่บาตรวันเกิดเราไม่ต้องเดินไปถึงวัดเพราะจะมีพระเดินรับบาตรตอนเช้าๆ ผ่านหน้าบ้านเราไปเป็นแถว

เราก็ออกไปคอยท่านก่อนเวลานิดหน่อย เพื่อว่าพอใส่บาตรเสร็จแล้วกลับเข้าไปรับประทานอาหารเช้าแล้วก็ต้องรีบไปโรงเรียน

แม่จำไม่ได้ว่าแม่เคยเล่าให้ลูกฟังแล้วหรือยัง ถ้าเล่าแล้วก็ถือเสียว่าดูหนังฉายซ้ำก็แล้วกัน แม่จะเล่าว่า บ้านที่แม่เคยอยู่เมื่อสมัยเด็กๆ นั้นอยู่ที่ต่างจังหวัด มีคนเคยเล่าให้ฟังว่าตรงบริเวณบ้านที่เราอยู่นั้นเดิมเคยเป็นวัด

เขาว่ามีคำเรียกคล้องจองไว้ว่า “วัดสิงห์อยู่เหนือ วัดเสืออยู่กลาง วัดท่ามะปรางอยู่ใต้”

ตรงที่บ้านแม่ตั้งอยู่นั้นเขาว่าเดิมเป็นที่ตั้งของ “วัดเสือ” จ้ะ

ด้านหลังของตัวเรือนเป็นดงกล้วยและป่ารก มีบริเวณกว้างขวางมาก มีทางเดินเล็กๆ ทางด้านขวามือลึกเข้าไปมีศาลพระภูมิเล็กๆ ตั้งอยู่ จะตั้งมาตั้งแต่ครั้งไหนแม่ก็ไม่ทราบ หลังศาลมีต้นมะเดื่อใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาดูมืดครึ้ม

แม่ชอบไปเดินดูใต้ต้นมะเดื่อซึ่งจะมีลูกของมันหล่นอยู่เกลื่อนสีแดงสวย แต่ทุกลูกจะมีรูเล็กๆ อยู่หลายรูซึ่งแม่เคยเห็นแมลงหวี่บินออกมาจากในนั้น

บางลูกแม่ลองบิออกดูพบตัวแมลงหวี่อยู่ในนั้นก็เคย

แม่ก็เลยคิดเอาเองว่าแมลงหวี่นั้นมันมีกำเนิดมาจากลูกมะเดื่อ ซึ่งจริงแท้อย่างไรก็ไม่ทราบได้ เพราะแม่ยังไม่มีโอกาสได้ถามกับนักชีววิทยา

ส่วนทางหลังบ้านจริงๆ นั้นจะมีต้นขนุนใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แล้วก็บนขนุนต้นนี้อีกนั่นแหละที่แม่เคยเห็นตุ๊กแกมันวิ่งหนีงูเขียวอยู่บนนั้น

พอหนีไปหนีมาหนีไม่พ้นมันก็ยอมจำนนโดยอ้าปากออกแล้วงูเขียวก็เอาหัวใส่หายเข้าไปในปากตุ๊กแก ทำยังงั้นนิ่งๆ อยู่พักใหญ่ มันก็เลยทำให้แม่คิดอยู่ในใจว่านี่ละกระมังที่เขาบอกกันว่างูเขียวเข้าไปกินตับตุ๊กแก

หลังต้นขนุนก็เป็นดงชะพลู ต่อจากชะพลูก็เป็นดงกล้วย ดงกล้วยนั้นกว้างใหญ่มากทำให้เรามีกล้วยรับประทานกันทั้งปี แล้วก็มีใบตองใช้กันอย่างเหลือเฟือ

หน้าดงกล้วยแถบหนึ่งมีต้นชะอมขึ้นเป็นแนวสูงใหญ่ แทงยอดอ่อนให้เก็บกินได้เกือบทั้งปี

ยายแปงเป็นคนเหนือจึงมีฝีมือในการแกงแค ซึ่งพวกพี่น้องแม่พากันเรียกว่า “แกงลาว” เราชอบให้ยายแปงแกงให้เรากินกันบ่อยๆ

วันไหนยายแปงถูกเกณฑ์ให้แกงลาว ซึ่งมักจะแกงเป็นหม้อใหญ่ๆ ยายแปงก็จะเกณฑ์ลูกน้องออกไปเก็บชะอมกับใบชะพลูหลังบ้านเพื่อเอามาใส่ในแกง

วันหนึ่งไม่มีใครว่าง ยายแปงลงไปเก็บใบชะพลูอยู่คนเดียว ยายแปงเด็ดใบชะพลูเพลินเข้าไปในดงกล้วยซึ่งอยู่ติดต่อกัน กำลังก้มๆ เงยๆ ยายแปงตาไวเหลือบเห็นงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้าไปในป่ากล้วย

ยายแปงก็เดินตาม คอยมองดูว่าเลื้อยหายไปตรงไหน จะได้คอยระวังไม่เดินไปเหยียบเข้า

มองไปมองมาตรงโคนต้นกล้วยที่งูเลื้อยหายไป ยายแปงเห็นแหวนทองคำวงหนึ่งวางอยู่บนพื้นดิน

ยายแปงเป็นคนกล้า จึงเดินเข้าไปหยิบสวมไว้กับนิ้ว ปรากฏว่าสวมได้พอดิบพอดี

ยายแปงกลับขึ้นมาเล่าให้พวกเราฟัง ตื่นเต้นกันไปพักใหญ่

เท่านั้นยังไม่พอ อีกอาทิตย์หนึ่งต่อมา ยายแปงเข้าไปตัดกล้วยในป่าอีกพบงูตามเคยเลื้อยหายเข้าไปในดงกล้วยอีก ยายแปงตามเข้าไป คราวนี้พบแหวนอีกสองวงวางอยู่เคียงกัน

แหวนที่พบคราวแรกกับคราวหลังเป็นแหวนทองเกลี้ยงชนิดเดียวกัน เนื้อทองออกสีดอกบวบเหมือนแหวนโบราณ ลักษณะเป็นแหวนซ้อนกันสามวงพอดิบพอดี วงแรกเล็ก วงกลางใหญ่ ส่วนวงที่สามขนาดเท่ากับวงแรก แหวนทั้งสามวงขนาดพอดีกับนิ้วของยายแปง

คุณยายบอกว่าแหวนที่พบนี้คงจะเป็นแหวนของยายแปงมาแต่ดั้งเดิม เมื่อพบเจ้าของเก่าเข้าเทวดาที่รักษาอยู่ท่านก็คืนให้

แล้วก็ต้นชะอมที่เกาะกันเป็นแผงนี่แหละ ที่บางครั้งชาวบ้านเขาก็แอบเก็บกันเอาไปขาย

คนที่แอบมาเก็บชะอมในบ้านเรานี่มักจะวิ่งหน้าตื่นกลับกันออกไป แล้วก็ไปเล่าให้คนอื่นฟังว่าต้นชะอมบ้านเรานั้นคนกำลังเก็บอยู่ดีๆ ก็สั่นได้ สั่นรุนแรงราวกับมีคนมาจับเขย่า

เขาก็เกิดกลัวขึ้นมาเลยต้องวิ่งหนีไป

ลึกเข้าไปอีก หลังดงกล้วย ซึ่งเป็นที่ที่แม่คุ้นเคยมากเพราะเข้าไปเล่นอยู่เป็นประจำ

บริเวณนั้นเต็มไปด้วยอิฐหักกากปูนหรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นซากปรักหักพังของบริเวณโบสถ์หรือวิหารเก่า

แถวนั้นมีเสาศิลาแลงซึ่งปรักหักพัง มีเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งใหญ่มากวางตะแคงอยู่บนพื้น ภายในเศียรที่ชำรุดและหงายอยู่มีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์เล็กองค์น้อยใส่อยู่เต็ม ก็เป็นพระพุทธรูปที่เราเก็บกันได้แถวๆ นั้นนั่นแหละ บางองค์ก็อยู่ตามทางเดิน ฝังอยู่แถวดงกล้วยบ้าง โคนต้นไม้บ้าง ซึ่งพอใครพบก็มักจะหยิบเอามารวมใส่ไว้ในเศียรพระ

ใกล้ๆ เศียรพระ มีศาลเก่าแก่อยู่ศาลหนึ่ง สร้างไว้ค่อนข้างใหญ่ ตามบริเวณศาลและใกล้เคียงก็มีพระพุทธรูปอีกนั่นแหละวางไว้เป็นกองๆ

รอบๆ ศาลเต็มไปด้วยต้นตะขบ ฝรั่งขี้นก มะละกอ และที่สูงใหญ่กว่าเพื่อนก็คงจะเป็นต้นมะหวด

แม่เกือบลืมบอกไปว่าศาลแห่งนั้นเราเรียกกันว่า “ศาลเจ้าพ่อ”

พวกเราทุกคนได้รับการอบรมมาจากคุณยายอย่างเข้มงวดมากในเรื่องกิริยามารยาท คุณยายสอนไม่ให้เรายืนค้ำหรือหยิบสิ่งของเหนือผู้ใหญ่ หรือถ้าจำเป็นต้องทำ เราก็ต้องกราบท่านเสียก่อน

คุณยายยังสอนให้พวกเรารู้จักวิธีไหว้, กราบ, หมอบ, คลาน, ย่อเข่า, ก้มหลังเวลาเดินผ่านผู้ใหญ่ ฯลฯ

พวกเราคุ้นเคยกับการกล่าวคำขอโทษหรือการขออนุญาตจากผู้ใหญ่เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น เวลาที่คุณยายสอนให้แม่ขออนุญาต “เจ้าพ่อ” ทุกครั้งที่แม่เข้าไปเล่นซนอยู่ในนั้น เป็นต้นว่าขึ้นไปปีนเก็บมะละกอหรือลูกมะหวดอยู่ก็ตาม

แม่ก็เลยมีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่า “เจ้าพ่อ” นี่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นญาติผู้ใหญ่ที่แม่สนิทด้วยมากๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง

แล้วก็ป่าแห่งเดียวกันนี่แหละที่แม่เคยเล่าให้ลูกฟังว่าพวกคุณลุงเข้าไปยิงนกกัน บ้างก็เข้าไปหากิ่งฝรั่งเพื่อเอามาทำหนังสติ๊ก และบ่อยที่สุดเราก็มักจะใช้เป็นที่เล่นซ่อนหากัน เพราะความรกเรื้อแห่งนี้สามารถจะทำให้เราซ่อนตัวกันอยู่ได้เป็นครึ่งวันค่อนวัน โดยไม่มีใครมาตามพบ

มีเรื่องประหลาดอยู่เรื่องหนึ่ง แม่จะเล่าให้ฟัง

ตอนนั้นน้านิดยังเล็กๆ อยู่ มีเรื่องขัดใจอะไรแม่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่ก็ทำให้น้านิดร้องไห้ไม่ยอมหยุดอยู่นั่นแล้ว จนเป็นที่รำคาญใจของคุณป้าขวัญและป้าเล็กซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของน้านิดเป็นอันมาก

คุณป้าขวัญคิดวิธีจะให้น้านิดหยุดร้องไห้ออก จึงให้อาณัติสัญญาณกับป้าเล็ก พร้อมกับขู่น้านิดว่า ถ้าไม่หยุดร้องไห้จะพาไปให้เจ้าพ่อหักคอ พร้อมกันนั้นป้าเล็กก็ทำท่าแสร้งทำเป็นฉุดมือน้านิดจะลากเอาตัวไปหาเจ้าพ่อ

ปรากฏว่าน้านิดกลัว หยุดร้องไห้ได้ แต่เช้าวันรุ่งขึ้นคุณป้าขวัญคอเคล็ดไปข้างหน้า ส่วนป้าเล็กนั้นอยู่ดีๆ ก็ขาสั้นข้างยาวข้างเดินกะเผลกอยู่ได้ทั้งวันโดยหาสาเหตุไม่พบ

ร้อนถึงคุณยายทราบเรื่องเข้าจึงบอกให้ทั้งสองคนไปจุดธูปขอขมาเจ้าพ่อเสีย จึงได้หายเป็นปกติได้

มาไม่กี่เดือนมานี้ แม่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดที่แม่เคยอยู่มา แม่ได้ไปยืนอยู่บนอาคารแห่งหนึ่งมองลงมายังสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของเรา แล้วก็เคยเป็นที่ที่ศาล “เจ้าพ่อ” ตั้งอยู่ ซึ่งบัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอาคารหลายๆ หลัง ซึ่งมิได้มีรูปโฉมเดิมเหลืออยู่แม้แต่น้อย

แม่ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า

ทุกสิ่งเกิดขึ้น…ตั้งอยู่…ดับไป เป็นของธรรมดา

สิ่งที่คงเหลืออยู่คือ ความดีงามที่คุณยายเพียรปลูกฝังลงในตัวพี่น้องแม่ทุกๆ คน

ถ้าหากจะยังคงมีความดีงามอะไรที่หลงเหลืออยู่บ้างในตัวของพวกเราที่พอจะให้ผู้ที่ได้มาคบหาพูดถึงในด้านบวกมากกว่าด้านลบแล้ว

แม่ขอยกความดีอันนั้นให้แก่คุณตาคุณยายผู้ที่ได้พากเพียรปั้นพวกเรามาให้เป็นตัวเป็นตนมาจนทุกวันนี้