อุ๊ยอินคำ : ชายชราผู้กลายร่างเป็นปลาบึก ในนวนิยาย “สายน้ำและชายชรา เรื่องเล่าจากคอนผีหลง”

“บางทีแกอาจเคยเป็นปลาบึกมาก่อนที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์อย่างเช่นทุกวันนี้ ปลาบึกตัวนี้อาจเคยเป็นพี่น้องของแก หรือไม่มันอาจจะเคยเป็นคู่ชีวิต หรือเป็นครอบครัวของแกมาก่อนก็ได้”

จากประโยคข้างต้นคือบางเสี้ยวตอนหนึ่งในนวนิยาย “สายน้ำและชายชรา เรื่องเล่าจากคอนผีหลง” นวนิยายดีเด่นรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปี 2554 เขียนโดยวุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล

โดยนวนิยายเรื่องดังกล่าวบอกเล่าถึงเรื่องราวของ “อุ๊ยอินคำ” ชายชราหาปลาริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เชียง วัย 76 ปี กับ “มอน” หลานชาย ที่ได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่เคยอาศัยอยู่กับตาและยายตั้งแต่เด็ก

แต่เมื่อเขาย้ายตามพ่อแม่ไปอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย จึงทำให้เด็กหนุ่มเริ่มหลงลืมแม่น้ำโขงที่ตัวเองเคยแหวกว่ายมาตั้งแต่น้อย

แม้แต่ผู้ที่เคยเลี้ยงดูและมีความผูกพันกับเขา อุ๊ยอินคำผู้เป็นตากับอุ๊ยจันเป็งผู้เป็นยาย โดยเฉพาะอุ๊ยอินคำ ชายชราผู้สอนให้เขารู้จักแม่น้ำโขง แม่น้ำที่ได้ชื่อว่าไม่มีแม่น้ำสายใดเสมอเหมือน

แต่หลังจากที่เขากลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง กลับเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาได้มีโอกาสออกหาปลาร่วมกันกับอุ๊ยอินคำ

จากวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง มีโครงการระเบิดเกาะแก่ง บริเวณคอนผีหลง เพื่อการเดินเรือพาณิชย์

ปัญหาการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีน ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนทิศทางของน้ำ ปัญหาการกัดเซาะตลิ่งพัง จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงวิถีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ

จากแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่เคยได้ทำงานร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์เชียงของ จึงทำให้วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราว รวมไปถึงความมหัศจรรย์ของแม่น้ำโขง การเคารพปลาบึกในฐานะปลาเทพเจ้า ซึ่งมีพีธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก โดยมีการจัดงานบวงสรวงอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี ก่อนที่พรานปลาบึกจะออกไหลมองในอีกสองวันต่อมา

นวนิยาย “สายน้ำและชายชรา เรื่องเล่าจากคอนผีหลง” ถือเป็นนวนิยายเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนทางจิตวิญญาณ โดยมีตัวละครอย่าง “อุ๊ยอินคำ” แทนจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยเก่าที่กำลังจะถูกหลงลืมไป

ในขณะที่ตัวละครอย่าง “มอน” เป็นเสมือนตัวแทนของเด็กหนุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องกลับมาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม ผ่านภูมิปัญญาบรรพชน เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ เพื่อกอบกู้ไว้ซึ่งจิตวิญญาณความใฝ่ฝัน และอิสรภาพของชีวิตในที่สุด

“มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อดอกซอมพอ (เป็นชื่อเรียกดอกหางนกยูงของคนเหนือ) แย้มบานในหน้าร้อน ชาวบ้านจะเร่งตระเตรียมมองสำหรับการล่าปลาบึก และเมื่อเห็นฝูงนกนางนวลบินขึ้นมาจากปลายน้ำ พรานปลาบึกจะเริ่มออกไหลมองบริเวณร่องน้ำตรงหน้าวัดหาดไคร้กับดอนแวง เพราะพวกเขาเชื่อกันว่านกนางนวลเป็นล่ามที่จะนำพาปลาบึกให้ว่ายน้ำตามขึ้นมา”

จากประสบการณ์ของอุ๊ยอินคำ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาเชิงนิเวศแบบดั้งเดิม (Traditionnal Ecological Knowledge : TEK) ที่อุ๊ยอินคำได้รับการสืบทอดมาจากบรรพชนคนรุ่นก่อน จนเกิดการเรียนรู้ จนนำมาสู่การเข้าใจในธรรมชาติของสายน้ำและลักษณะนิสัยของปลาบึก

ดังตามคำบอกเล่าถึงแผ่นดินในสมัยก่อน ผ่านเรื่องราวของปู่ละหึ่งหรืออ้ายคำฟ้า ซึ่งชาวเมืองเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวเมือง และถือเป็นปฐมบทของสรรพสิ่ง

“ในสมัยก่อนแผ่นดินไม่ได้เป็นแบบนี้ แม่น้ำไม่ได้กว้างใหญ่ถึงเพียงนี้ หากจะมีก็เพียงปู่ละหึ่งเท่านั้นที่มีร่างกายใหญ่โต ก้าวแต่ละครั้งจะมีเสียงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นติดตามไปทุกฝีก้าว ปู่ละหึ่งมีอาชีพเผาถ่านขาย ได้เดินทางย่ำย่างหาบถ่านไปขายตามที่ต่างๆ ทุกรอยเท้าที่ก้าวเดินกลายเป็นร่องน้ำสายน้ำหลากไหล วันหนึ่งปู่ละหึ่งหาบคอนถ่านเดินทางขึ้นไปขายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง แต่ด้วยถ่านมีน้ำหนักมากเกินไปไม้คานจึงเกิดหักลง ถ่านจึงตกลงมากระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ แล้วกลับกลายมาเป็นหินผา ซึ่งมีหินผาโขดหนึ่งอยู่ที่ริมฝั่งน้ำวัดท่ากลาง ชาวบ้านเรียกกันว่าผาถ่าน เพราะมันมีลักษณะคล้ายกองภูเขาถ่าน ซึ่งชาวบ้านวัดหลวงจะมาทำพิธีบวงสรวงกันทุกปี ส่วนไม้คานที่หักหล่นจึงเกิดเป็นบ้านเมืองกานขึ้น”

หรือแม้แต่การบอกสอนมอนผู้เป็นหลานถึงเรื่องการเรียนรู้แม่น้ำว่า “ช่วงน้ำลดเอ็งต้องคอยสังเกตร่องน้ำให้ดี โดยเฉพาะร่องน้ำทางซ้ายมือ แต่ไม่ต้องไปกลัวมันหรอก เพราะถ้าเรายิ่งกลัว น้ำของก็จะยิ่งทำให้เราหวาดกลัวยิ่งขึ้น”

จนมอนเองอดคิดไม่ได้ว่า เหตุใดชายชราวัย 76 ปี อย่างอุ๊ยอินคำถึงได้แข็งแรงและมีสายตาเฉียบคมมองดูสายน้ำอย่างกับจะหยั่งเห็นถึงเบื้องลึกภายใต้สายน้ำ

“เขารู้ดีว่าอุ๊ยอินคำอยู่กับแม่น้ำโขงมาเกือบจะทั้งชีวิต แม่น้ำจึงเป็นเหมือนเพื่อนที่คุ้นเคย หรืออาจจะเป็นเหมือนกับตัวแกเองก็ได้ แม้บางครั้งจะกราดเกรี้ยวไปบ้าง แต่หลายครั้งก็เย็นเยือกราวกับสายน้ำ นิ่งงัน สงบเงียบ และรอคอย แต่ก็ยังมีแรงพลังที่กระเพื่อมอยู่ในเบื้องลึกพร้อมที่จะแตกพล่านขึ้นมาเมื่อไหร่ไม่มีใครล่วงรู้ คงเหมือนกับแก่งหินที่แอบซ่อนคมอยู่ใต้แม่น้ำที่อาจจะโผล่พ้นออกมาในฤดูแล้ง”

จากประสบการณ์ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อุ๊ยอินคำได้รับ จึงทำให้แกพยายามย้ำบอกหลานอยู่เสมอ ในฐานะลูกแม่น้ำโขง

“เป็นฝูงนกนางนวลที่เราเห็นเมื่อวานจริงๆ ด้วย ที่พาปลาบึกขึ้นมา ไม่น่าเชื่อเลย อุ๊ยรู้ได้ยังไงกันนะ” เขาพูดยิ้มๆ อุ๊ยผงกศีรษะงึกงัก

“ลูกน้ำของเขารู้กันทุกคน มีแต่เอ็งเท่านั้นแหละที่ไม่รู้” อุ๊ยอินคำพูดสัพยอก

แม้ว่ามอนจะเป็นเด็กหนุ่ม แต่ด้วยเคยใช้ชีวิตอยู่กับอุ๊ยอินคำมาแต่เด็ก ความผูกพันระหว่างมอนกับแม่น้ำโขง จึงเสมือนเป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่านชีวิตและจิตวิญญาณที่อุ๊ยอินคำได้บอกสอนอยู่ทุกขณะ

“เห็นอุ๊ยเคยเล่าว่าชาวบ้านนับถือปลาบึกเป็นปลาเทพเจ้า เขาเลยต้องทำพิธีบวงสรวงเพื่อขอจากผีผู้เป็นเจ้าปกปักรักษาปลาบึกเสียก่อนที่จะออกไปล่า ดอกซอมพอบานเมื่อไหร่ ฤดูกาลล่าปลาบึกก็จะมาถึง”

แต่เมื่อรู้ว่าปลาตัวเดียว กลับมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายมหาศาล มอนจึงเริ่มรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเสียเลยกับการพยายามจ้องเอาผลประโยชน์จากปลาบึกฝ่ายเดียว

“เด็กหนุ่มคิด ปลาแค่ตัวเดียวเท่านั้น แต่เราทุกคนปรารถนาที่จะตักตวงผลประโยชน์จากมัน คนหาปลาเองก็อยากได้เงิน พ่อค้าก็อยากได้ปลาเร็วๆ เพื่อเอาไปค้ากำไรต่ออีกทีหนึ่ง ส่วนคนจากกรมประมงเองก็คงอยากรีดไข่ รีดน้ำเชื้อของมันเพื่อเอาไปผสมเทียม แล้วยิ่งคนมีความเชื่อว่าใครกินเนื้อปลาบึกแล้วจะฉลาดเหมือนขงเบ้งอีก ชาวบ้านก็คงอยากกินมันเหมือนกัน เพราะใครๆ ก็อยากฉลาดเหมือนกับขงเบ้งทั้งนั้น นี่ขนาดแค่ปลาตัวเดียวเท่านั้น ยังมีผู้รอรับผลประโยชน์มากขนาดนี้ ไม่ใช่สิ เพราะมันเป็นถึงปลาเทพเจ้าต่างหากคนถึงต้องการกินเนื้อของมัน ต้องการผลประโยชน์จากมัน การบวงสรวงก็คงจะเป็นแค่การหลอกลวงว่าผู้คนยังเคารพนบนอบต่อผีเจ้า แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว”

แม้ว่าแม่น้ำโขงยังคงไหลไม่ขาดสาย หากแต่ชายชราอย่างอุ๊ยอินคำกลับกำลังร่วงโรยตามกาลเวลา

“เขามองดูชายชรายืนเด่นบนหัวเรือ ร่างกายของแกมิได้ดูแข็งแรงหรือใหญ่โตอีกแล้วในสายตาเขา ร่างกายของแกดูอ่อนล้าและไร้แรงพลัง แผ่นหลังที่เคยยืดตรงดุจหินผา ก็โค้งงอลงอย่างเห็นได้ชัด ผิวกายก็ยับย่นเหี่ยวแห้ง จนดูเหมือนร่างกายของแกหดลีบและเล็กลงกว่าแต่ก่อนมาก”

เมื่อชีวิตและจิตวิญญาณเป็นเหมือนสะพานผูกแขวนเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ความเป็นลูกบ้านไหน? ของมอนจึงไม่อาจปฏิเสธได้ผ่านห้วงเวลา

“จริงสินะ ถึงแม้ว่าจะกี่ปีก็ตาม ยังไงเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นลูกแม่น้ำโขง ไม่ว่าเขาจะไปชุบตัวในเมืองหลวงเนิ่นนานสักเท่าใด ความเป็นลูกแม่น้ำโขงก็ยังมีอยู่ในตัวตนของเขา ไม่ว่าเขาจะพยายามหลีกหนีจากมันมากขนาดไหนก็ตาม”

เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเป็นลูกแม่น้ำโขงด้วยแล้ว วิชาหนึ่งที่ต้องเรียนก็คือ การเรียนรู้รอยฟันปลา เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของปลาแม่น้ำโขง

“คนหาปลาเขาต้องรู้จักร่องรอยต่างๆ ของปลา รอยฟันปลานี้ก็เช่นเดียวกัน มันก็คงเหมือนกับพรานล่าเสือที่ต้องรู้จักและเข้าใจร่องรอยของเสือ ขนาดของรอยเท้า หรือร่องรอยตามต้นไม้ที่เสือตัวนั้นผ่านไป ก็เพื่อเรียนรู้ลักษณะนิสัยของเสือตัวนั้น เพราะถ้าไม่รู้จักเรื่องราวพวกนี้แล้ว แทนที่จะเป็นผู้ล่า เราจะกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง”

เพราะแม่น้ำโขงเปรียบเสมือนสายน้ำแห่งชีวิตของอุ๊ยอินคำ เป็นเหมือนบ้านอีกหลังของแก เป็นแม่ที่เฝ้าเลี้ยงดูแกและครอบครัวมาตั้งแต่น้อย เมื่อวันหนึ่งแม่น้ำโขงกำลังจะถูกรุกราน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนและการระเบิดเกาะแก่งเพื่อเดินเรือพาณิชย์ เพียงเพื่อต้องการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขง แกจึงมิอาจทนนิ่งดูดายได้อีกต่อไป

“แล้วถ้าจีนเข้ามาระเบิดแก่งจริงๆ ลุงอินคำจะทำยังไงคะ” นักข่าวรีบซักถามต่อ

“ถ้ามันมาระเบิด ผมจะไปนั่งให้มันระเบิดพร้อมกับมะหินมะผาพวกนั้น เพราะมะหินมะผามันเป็นชีวิตของเรา เป็นชีวิตของทุกคน” แกบอก

วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล ค่อยๆ บอกเล่าเรื่องราวผ่านปากคำของอุ๊ยอินคำและมอนอย่างมีลำดับขั้นตอน

ขณะเดียวกันเรื่องราวที่เขาผูกโยงอาจเป็นเพียงเรื่องราวของวิถีชีวิตครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง

หากแต่จุดเล็กจุดนี้เองกลับสร้างความหมายและจิตสำนึกเชิงนิเวศ (Ecological Conscience) ผ่านตัวตนเชิงนิเวศ (Ecological Self) อย่างอุ๊ยอินคำได้อย่างงดงาม

เพราะมนุษย์ ธรรมชาติและสรรพสิ่งต่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

หลังจากที่มอนได้ฟังคำประกาศของอุ๊ยอินคำ เด็กหนุ่มกลับครุ่นคิดถึงในสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากอุ๊ยอินคำตั้งแต่เด็ก

“เขาเริ่มครุ่นคิดถึงสิ่งที่อุ๊ยพยายามสอนเขามาตั้งแต่เด็ก ความสัมพันธ์ของปลากับหินผาเหล่านั้น พืชพรรณไม้น้ำที่เป็นอาหารของปลา ในเมื่อพืชพรรณเกิดขึ้นตามแก่งผา ตามดอนตามหาด ปลาจึงเข้ามาอาศัย หากินและวางไข่ และเลี้ยงลูกจนเติบโตก่อนจะว่ายกลับไปตามน้ำ เพราะฉะนั้น แก่งหินผาจึงเป็นเหมือนบ้านของปลา และก็คงเป็นเหมือนกับแม่ที่คอยให้อาหารแก่พวกเราที่เป็นมนุษย์ ระเบิดแก่งหินก็เหมือนกับฆ่าแม่ของเรา”

แม้ว่าในตอนจบของนวนิยายเรื่องดังกล่าว จะดูคลุมเครือในเรื่องการหายตัวไปของอุ๊ยอินคำ ขณะที่ทุกคนช่วยกันตามหาร่องรอยของอุ๊ยอินคำ แต่ก็ไร้ซึ่งวี่แววร่องรอยใดๆ ของแก นอกจากเรือของแกที่ถูกผูกติดไว้กับหาดด้านหนึ่ง ภายในเรือไม่มีสิ่งใดผิดสังเกต หากแต่การจบเรื่องแบบดังกล่าว กลับทำให้เรื่องราวยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด

“เขาเชื่อเสมอว่าอุ๊ยอินคำยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งบัดนี้เขากลับเริ่มไม่แน่ใจเสียแล้ว แต่ถึงแม้อุ๊ยจะตายไปแล้วแต่เขาก็ยังมีความเชื่ออยู่ว่า อุ๊ยคงไปเกิดเป็นปลาบึกเหมือนกับที่อุ๊ยเคยเชื่อมาตลอด แล้ววันหนึ่งอุ๊ยจะว่ายทวนน้ำกลับขึ้นมาอาศัยอยู่ในวังน้ำแห่งนี้ และหากเขายังคงกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ในช่วงปลายฤดูร้อนของทุกปี เขาเชื่อว่าบางทีเขาอาจจะได้พบกับอุ๊ยอินคำอีกครั้งหนึ่ง”