ส่องแผนพีอาร์เชิงรุกรัฐบาล เมื่อ “บิ๊กตู่” กุมสื่อในมือเพียบ ลุยปฏิบัติการป้อนข้อมูลก่อนเลือกตั้ง

ปีนี้รัฐบาลเร่งงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากที่สุด เนื่องด้วยเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล ก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า 2562

แม้มีสื่อในมือมากและหลากหลาย แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับยังไม่พอใจข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งออกไปถึงประชาชน

ซึ่ง “บิ๊กตู่” ย้ำหลายครั้งว่า แม้จะ “พูดจนปากเปียกปากแฉะ” แต่ประชาชนกลับไม่สนใจรับฟัง

สำหรับการประชาสัมพันธ์ จะว่าไปแล้วรัฐบาลนี้ได้เปรียบรัฐบาลเลือกตั้งอย่างมาก

เพราะมีทั้งรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทุกเย็นวันศุกร์ รายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ออกอากาศทุกวัน

ทั้ง 2 รายการนี้แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดแบบทหาร ที่คล้ายปฏิบัติการ IO ให้เกิดความเชื่อ จึงป้อนข้อมูลสู่การรับรู้ของประชาชนทุกวันๆ

พร้อมกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้สื่อกระดาษที่มีในมือ อย่างวารสาร “ไทยคู่ฟ้า” ซึ่งเป็นวารสารประชาสัมพันธ์กิจการงานของรัฐบาล

โดยในช่วงแรกๆ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกความสนใจด้วยการเขียนบทนำด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าแนวทางทำงานของรัฐบาล สร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ วิธีการนี้สร้างความสนใจให้กับสื่อมวลชนได้ดีทีเดียว

แฟ้มภาพ

เพื่อให้การพีอาร์มีประสิทธิภาพ 27 กันยายน 2559 “บิ๊กตู่” เซ็นคำสั่งมาตรา 44 ตั้ง “เสธไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด นั่งรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อีกตำแหน่ง โดยให้เหตุว่า เพื่อให้งานประชาสัมพันธ์สอดคล้องกับงานของ คสช. ในช่วงเปลี่ยนผ่านปฏิรูป

เดือนตุลาคม 2559 “บิ๊กตู่” กำชับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เน้นการประชาสัมพันธ์ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เสนอแผนพีอาร์เชิงรุกและผ่านความเห็นชอบ 4 แนวทาง ให้เป็นข้อปฏิบัติของข้าราชการตั้งแต่ปลัด อธิบดี ตลอดจนผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ

1. เน้นการชี้แจงผลงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะสิ่งที่ประชาชนสนใจ พร้อมกับแก้ไขข้อมูลที่ถูกบิดเบือน

2. ใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โฆษกของหน่วยราชการ หนังสือชี้แจง แถลงข่าว และสื่อโซเชียลมีเดีย

3. หากมีปัญหาในการใช้สื่อให้ปรึกษากรมประชาสัมพันธ์

4. การประชาสัมพันธ์นี้ ถือเป็นตัวชี้วัดประเมินผลการทำงานของหัวหน้าส่วนราชการด้วย

ก่อนหน้านั้น “ไก่อู” เริ่มรุกใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการสื่อสารแล้ว โดยมีการตั้งเพจ “PAGE IR” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “แจงสี่เบี้ย” มีผู้ติดตาม 17,000 คน

มุ่งชี้แจงประเด็นที่มีการบิดเบือน โดยมีทีมงานคอยมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสาร แล้วส่งข้อมูลเชิงลบไปยังกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ แก้ไขข้อมูล ก่อนจะนำมาเผยแพร่ในเพจ

เพจ “ไทยคู่ฟ้า” ดูแลโดยสำนักโฆษกฯ มีผู้ติดตาม 38,500 คน นอกจากข้อมูลข่าวสารที่นำมาเผยแพร่แล้ว “ไทยคู่ฟ้า” ยังไลฟ์สดการลงพื้นที่และการปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

เมื่อเดือนกุมภาพัน 2561 เจ้าหน้าที่สำนักโฆษกฯ ได้แจกหมวกแก่เกษตรกร ที่มารอรับ “บิ๊กตู่” ระหว่างเดินทางไปประชุม ครม.สัญจรที่จันทบุรี เพื่อแลกกับการกดไลก์เพจ

เพจ “Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน” มีผู้ติดตาม 20,400 คน คล้ายเพจประจำตัว พล.อ.ประยุทธ์ มีแอดมินที่ไม่ใช่ทีมงานเดียวกับ “ไก่อู” ทว่า เป็นทีมโฆษกที่มีความใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก โดยเฉพาะตอนที่ไปต่างประเทศ เพจนี้มักจะมีโมเมนต์ความเป็นส่วนตัวในเชิงพีอาร์ “บิ๊กตู่” เช่น ทำงานขณะนั่งเครื่องบิน ทานอาหารเรียบง่าย หรืออิริยาบถเป็นกันเองระหว่างการทักทายคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเพจ “เปรี้ยง” มีผู้ติดตาม 27,800 คน เป็นเพจที่คนในรัฐบาลไม่กล้ายอมรับว่าเป็นผู้จัดทำ เพราะเพจ “เปรี้ยง” ที่ผุดขึ้นมาช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2560 นั้น มีเนื้อหาฮาร์ดคอร์ อวยรัฐบาล โจมตีฝ่ายตรงข้าม ไม่ต่างจากเพจการเมืองการเลือกข้างทั่วไป

เพจนี้เปิดตัวด้วยการเผยแพร่กลอนบทใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่แรก กระทั่งต่อมาก็ได้เผยแพร่กลอนบทใหม่ของ “บี๊กตู่” เรื่อยมา จนมีคำถามว่า ถ้าไม่ใช่คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ แล้วเหตุใดจึงมีกลอนจากลายมือ พล.อ.ประยุทธ์ มาเผยแพร่เป็นที่แรก

แผนพีอาร์เชิงรุกยังออกมาในรูปแบบของการลงพื้นที่ด้วย เดือนพฤศจิกายน 2560 “บิ๊กตู่” ลุยลงพื้นที่อย่างหนักใน 4 จังหวัด นครศรีธรรมราช, ปัตตานี, สงขลา, ตรัง ต่อมาเดือนธันวาคมทัวร์อีก 3 จังหวัด กาฬสินธุ์, พิษณุโลก, สุโขทัย

ขึ้นปีใหม่ 2561 เดือนมกราคม “บิ๊กตู่” เยือนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนที่เดือนกุมภาพันธ์ จะทัวร์อีก 3 จังหวัด ตราด, จันทบุรี, นครปฐม บวกอีก 3 จังหวัดในเดือนมีนาคม สมุทรสาคร, เพชรบุรี, หนองบัวลำภู, ตามด้วยจังหวัดปัตตานีในต้นเดือนเมษายน

เดือนมกราคม 2561 สำนักโฆษกฯ เสนอโครงการมูลค่า 7 ล้านบาท จัดทำ line official และ sticker line ประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล ภายหลัง “บิ๊กตู่” สั่งเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้หลากหลายมากขึ้น เช่น แอพพลิเคชั่น และอินโฟกราฟิก

โครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ผุดขึ้นมาในเดือนมกราคม 2561 เช่นกัน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนประชาสัมพันธ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้นำสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกชุมชน หมู่บ้าน ตำบล พร้อมรับฟังความต้องการของชาวบ้านเพื่อหาแนวทางแก้ไข

โครงการนี้เป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ คำตอบมีในตัวอยู่แล้ว แม้รัฐบาลจะอ้างว่าต้องการลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชน ทว่า ในแง่หนึ่งก็แฝงแนวคิดทางการเมืองที่ว่า จะต้องเลือกรัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาล ใส่ไปในสมองประชาชนด้วย

ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่า โครงการนี้เป็นการชี้นำ แต่ชี้นำสิ่งดีๆ

นั่นเป็นเวลาเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เข้ามาช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยนายกอบศักดิ์ได้ตั้งทีมขึ้นมาติดต่อสื่อสารกับนักข่าวทำเนียบ มีกรุ๊ปไลน์ “Insighe ครม.” เผยแพร่คลิปสั้นๆ เกี่ยวกับเบื้องหลังมติ ครม. สำคัญๆ

จนกระทั่งผุดกิจกรรม “Meet The Press สื่ออยากรู้รัฐบาลอยากเล่า” ซึ่งจัดขึ้นทุกสัปดาห์มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยมีรองนายกฯ รัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ สลับกันมาชี้แจงแถลงข่าวในขอบเขตงานของตัวเอง

เริ่มแรกกิจกรรมนี้จัดอย่างอลังการในตึกใหม่ภักดีบดินทร์ ก่อนจะย้ายมาจัดในห้องแถลงข่าวตึกสันติไมตรี

รายการ “สื่ออยากรู้รัฐบาลอยากเล่า” ใช้สื่อหลายช่องทางให้เข้าถึงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเฟซบุ๊กไลฟ์ผ่านเพจ “ไทยคู่ฟ้า” เผยแพร่คลิปผ่านช่องยูทูบของรัฐบาล ที่สำคัญข่าวสารได้เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนด้วย

ต่อมา 3 เมษายน “บิ๊กตู่” เปิดตัว เพจเฟซบุ๊กใหม่ “สายตรงไทยนิยม” หรือในชื่อ “HotlinePM” เป็นเพจที่เปิดขึ้นระหว่างการเดินหน้าโครงการไทยนิยมฯ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้เป็นอีกหนึ่งในช่องทางการสื่อสารกับประชาชน

เพจสายตรงไทยนิยม เรียกเรตติ้งด้วยการดึงนักแสดงจากละครดัง “บุพเพสันนิวาส” มาช่วยโปรโมต โดย “ไลฟ์” กิจกรรมระหว่างที่นักแสดงนำ ไม่ว่าจะเป็น “พี่หมื่นสุนทรเทวา” โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ “แม่หญิงการะเกด” เบลล่า-ราณี แคมเปน “คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกหลวงสุรสาคร” หลุยส์ สก๊อตต์ “ท้าวทองกีบม้าหรือแม่มะลิ” ซูซี่-สุษิรา แอนจิลีน่า แน่นหนา “หมื่นเรืองราชภักดี” ปั้นจั่น-ปรมะ อิ่มอโนทัย และ “แม่หญิงจันทร์วาด” มะปราง-กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล เข้าพบ “บิ๊กตู่” ที่ทำเนียบ ก่อนเข้าประชุม ครม. จนทำให้วันนี้มีผู้ติดตาม 9,900 คน

รัฐบาล “บิ๊กตู่” ให้ความสำคัญกับอีเวนต์ในเช้าวันอังคารก่อนเข้าประชุม ครม. ค่อนข้างมาก โดยปกติจะมีการจัดอีเวนต์จากกระทรวง และหน่วยงานอื่นๆ ทุกครั้งก่อนประชุม ครม. ซึ่งบางครั้งมี 5-6 อีเวนต์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังใช้เวลากับอีเวนต์เหล่านี้ค่อนข้างมาก

กระทรวงวัฒนธรรม โดยรัฐมนตรี “วีระ โรจน์พจนรัตน์” มาจัดอีเวนต์พีอาร์บ่อยที่สุด เรียกว่ามาทุกวันสำคัญทางศาสนา มีกิจกรรมอะไรของกระทรวงก็มาจัดที่ทำเนียบ

อีเวนต์ก่อนประชุม ครม. ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะนอกจากนักแสดง “ออเจ้า” แล้ว

2 สัปดาห์ต่อมา “น้องแบม” น.ส.ปณิดา ยศปัญญา และ “น้องเกมส์” น.ส.ณัฏกานต์ หมื่นพล 2 ฮีโร่ผู้กล้าแฉขบวนการโกงเงินคนไร้ที่พึ่งของกระทรวง พม. เข้าพบ “บิ๊กตู่” เพื่อรับโล่เชิดชูเกียรติ

กระทั่งสัปดาห์ต่อมา มีอีเวนต์เปิดตัววิทยุเพื่อครอบครัวของกรมประชาสัมพันธ์ ได้ศิลปินวัยใส BNK48 มาช่วยโปรโมต ทำให้มีภาพที่ “บิ๊กตู่” เต้นเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” แชร์กันว่อนสังคมออนไลน์

อย่างไรก็ตาม แผนการประชาสัมพันธ์ในครึ่งปีหลังนี้น่าจะรุกหนักขึ้น เนื่องด้วย “ไก่อู” เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดล็อกให้รายการโทรทัศน์ในกรมประชาสัมพันธ์ สามารถหาโฆษณาเองได้ เพราะเห็นว่าทางสถานีไม่มีงบฯ เพียงพอที่จะจ้างผู้ผลิตที่มีคุณภาพตามต้องการ

แน่นอนเงินโฆษณาจะไม่เข้ากรมประชาสัมพันธ์ แต่เข้าบริษัทผู้ผลิตรายการ

ฉะนั้นแล้ว คงต้องจับตาดูว่า บริษัทผู้ผลิตรายการป้อนช่อง NBT เป็นของใครบ้าง