ชุติมา นุ่นมัน : คนร้อยพวงมาลัย คราบน้ำตาบนดอกมะลิ

เวลาตีสี่ของทุกวัน “ป้าแส” ประแส ทองอ้น และเพื่อนบ้านที่มีอาชีพเดียวกันอีก 4 คน จะมานัดเจอกันหน้าปากซอย เพื่อหุ้นกันนั่งรถแท็กซี่ไปรับดอกไม้สดจากปากคลองตลาดมาร้อยมาลัยส่งขาย

แกบอกว่ามีชีวิตประจำวันอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2512 ประมาณ 37 ปีแล้ว ทำมาตั้งแต่ดอกมะลิปากคลองตลาดราคาลิตรละ 50 สตางค์ จนวันนี้ขึ้นไปเป็นลิตรละ 250 บาทแล้ว แกก็ยังเป็นคนร้อยมาลัยขายเหมือนเดิม

ผิดกันตรงที่อยู่ยากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น เพราะทุกอย่างราคาแพงไปเสียหมด แต่พวงมาลัยของแกกลับขายยากขึ้น

“ตอนรุ่นๆ ป้าเคยชายผักบุ้งมาก่อน เก็บเอาตามบึงไปขายมัดละสลึงแถวตลาดกิ่งเพชร ต่อมาที่ที่ไปเก็บถูกเวนคืนเลยเปลี่ยนมาขายหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นรับมาเล่มละ 70 สตางค์ มาขายเล่มละบาท 10 เล่มก็ได้กำไร 7 บาท พออยู่ได้ เพราะข้าวสารกิโลละบาทห้าสิบ พอมีลูกป้าก็เปลี่ยนมาขายก๋วยเตี๋ยว ขายให้เด็กขายหนังสือพิมพ์แถวนั้นนั่นแหละ ชามละบาทสองบาท ใครไม่มีให้ก็ติดไว้ก่อน” ป้าแสรำลึกชีวิตในวัยเยาว์ให้เราฟัง

วันนั้น…เรานั่งสนทนากับป้าแสที่ชุมชนซอยสวนเงินใกล้ๆ แยกตึกชัยฯ ท่ามกลางดอกไม้จำนวนมากที่แกไปซื้อมาจากปากคลองตลาดเมื่อตอนเช้ามืด แม้บ้านไม้หลังนั้นจะเก่าค่อนข้างอับทึบและร้อน แต่บรรยากาศเต็มไปด้วยมิตรภาพ

“พอลูกโตคิดจะลองเปลี่ยนอาชีพดูบ้าง ไปซื้อมะลิมาขาย ตอนนั้นมีคนขายพวงมาลัยน้อยมาก พี่สาวที่อยู่บ้านใกล้ๆ กันเขาสอนให้ป้าร้อยเป็นมาลัยสามแฉกบ้าง สี่แฉกบ้าง ห้าแฉกบ้าง ลงทุน 50 บาท ขายพวงละ 2 บาทบ้าง 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง ได้กำไรวันละ 50 บาทถือว่าอยู่ได้”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม้ผู้นำรัฐบาลแต่ละยุคจะพยายามออกมาบอกว่าเศรษฐกิจยุคของตัวเองดีแค่ไหน แต่ชีวิตของป้าแสกลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะค่าครองชีพสูงต้นทุนการซื้อดอกไม้มาทำมาลัยถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว รอบข้างแกเต็มไปด้วยรายจ่าย จากที่ต้องเลี้ยงลูก 5 คน มิหนำซ้ำสามีตกงานและป่วยเป็นอัมพฤกษ์ มีหลานตัวเล็กๆ วัยกำลังกินกำลังนอนและเรียนหนังสืออีก 3 คน แม้ลูกๆ ทุกคนจะช่วยกันทำมาหากินอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย แต่ชีวิตแกยังไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้น

ช่วงที่มีการประชุมเอเปค ทางกรุงเทพมหานคร(กทม.)ส่งเจ้าหน้าที่ไปหาแกที่บ้านแล้วบอกว่าให้หยุดขายพวงมาลัยสัก 7 วัน เพราะประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งสำคัญ มีแขกบ้านแขกเมืองมากันมาก ถ้าแกยังร้อยมาลัยขาย ประเทศชาติจะตกเป็นขี้ปากแขกบ้านแขกเมือง โทษฐานปล่อยให้คนจนออกมาทำมาหากินเกะกะสายตาเขาเหล่านั้น

“ตอนนั้นก็อึ้งเหมือนกันที่เขามาบอกให้หยุดขาย เพราะเราไม่รู้จะไปทำอะไรกิน แต่ก็หยุด เขาว่าให้เห็นแก่ความเป็นระเบียบของบ้านเมือง เราก็เชื่อไม่ร้อยมาลัย ไม่ให้เด็กเอาไปขาย หยุดขายได้ 2 วัน ที่บ้านไม่มีเงินติดบ้านสักบาทเดียว นั่งมองหลานกินข้าวน้ำตาไหลพูดอะไรไม่ออก ต้องไปขอกู้เงินนอกระบบมากินมาใช้ไปพลางๆ ก่อน พอเขาประชุมเสร็จอนุญาตให้ขาย ทุนก็ไม่มีอีก ต้องไปกู้มาอีก ทุกวันนี้ยังเป็นหนี้เขาอยู่อีก 4-5 หมื่น ต้องจ่ายทั้งต้นทั้งดอกรายวัน” ป้ากระแสเล่าเสียงสั่นเครือ

ทุกวันนี้ป้าแสต้องนั่งร้อยมาลัยวันละ 300 พวง ตั้งแต่เช้ายัน 3 ทุ่ม จะมีเพื่อนบ้านวัยหนุ่มสาวในละแวกเดียวกันมารับไปขายช่วงกลางวันและรอบเย็นๆ ถึงค่ำ จะมีเด็กๆ ที่กลับจากโรงเรียนมารับไปขายบ้าง แกมีกำไรวันละ 300-400 บาท ในจำนวนนี้ต้องแบ่งใช้หนี้ เป็นค่ากับข้าว และค่าเรียนของหลานๆ รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟรายเดือนอีก

ก่อนหน้านี้เคยมีหลายหน่วยงานออกมาให้ข่าวว่าจะเข้าไปช่วยเหลือ ช่วยฝึกอาชีพ ให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำกับชาวบ้านที่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะชาวชุมชนสวนเงินที่มากกว่าครึ่งทำอาชีพร้อยพวงมาลัยขาย แต่เมื่อประชุมเอเปคผ่านไป คำสัญญาทุกอย่างหายไปในกลีบเมฆ

“ป้าไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ หมอเขาแนะนำป้าว่าลองไปปรึกษาที่สภาสังคมสงเคราะห์ดู เขาอาจจะให้กู้เงินไม่คิดดอกเบี้ยได้สักพันสองพัน ป้าก็ไป เจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกว่าให้ลงทะเบียนเอาไว้ก่อน แล้วเขาจะมาตรวจดูว่าจนจริงไหม ถ้าจนจริงจะอนุมัติให้คงได้ประมาณ 2 พันบาท”

เราถามป้าว่าเคยน้อยใจในชีวิตตัวเองไหม

“เคยเหมือนกัน หลายครั้งคิดจะผูกคอตาย แต่คิดอีกทีสงสารหลาน เพราะพ่อกับแม่เขาแยกกัน และลูกสาวป้าก็ช่วยป้าร้อยมาลัย เขาจะอยู่กันอย่างไรถ้าไม่มีเรา ก็สู้กันต่อไป จะอดจะอยากก็จะสู้ เราทำอาชีพสุจริตไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แม้บางคนจะรังเกียจหาว่าเราเกะกะสร้างความรำคาญทางสายตาให้คนอื่นบ้าง แต่เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือถ้าคิดว่าเราผิด ก็อยากขอร้องว่าให้เห็นใจคนทำมาหากินอย่างเราบ้าง ให้เราได้มีที่ยืน มีที่ทำมาหากิน ไม่ต้องมาช่วยเราก็ได้ แต่อย่าห้ามเราทำมาหากินเลย”

เราเดินฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงในช่วงบ่ายวันนั้นออกมาจากซอยสวนเงินด้วยหัวใจเปียกโชก เด็กนักเรียน 2 คนเดินสวนทางเข้าไปบ้านป้าแส เราได้ยินเสียงเขาพูดกันว่า

“พรุ่งนี้ต้องเอาเงินไปจ่ายค่าชุดลูกเสือ วันนี้คงต้องอยู่ขายมาลัยจนดึก”…