บ้านเมืองของ “อะไรก็ได้”-ประชาชนต้องการการดูแล หาใช่สิทธิเสรีภาพ

สาเหตุหนึ่งที่ประเทศต้องมี “รัฐบาลทหาร” ทั้งที่รับรู้กันว่าเป็นรูปแบบการบริหารประเทศที่ยากจะทำให้ต่างชาติได้รับการยอมรับ และเมื่อเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับ “การส่งออก” รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะทำให้ประเทศถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก ยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิดเสรีมากขึ้นส่งผลต่อการแข่งขัน การสูญเสียตลาดสินค้าไทยจะส่งผลต่อการค้าการขายในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้จะรับรู้เช่นนี้ ทว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะเชื่อมั่นต่อ “รัฐบาลทหาร” มากกว่า “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

ทั้งนี้ เหตุใหญ่ใจความเกิดจาก “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” มีภาพลักษณ์ที่เสียหายหนักมาก

แม้จะมีความพยายามอ้างว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อประชาธิปไตย แต่ผลที่เกิดเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่คิดในทางลบต่อพฤติกรรมนักการเมือง

สถานการณ์ในขณะนี้จึงไม่เพียงกำลังจะมี “รัฐธรรมนูญ” ที่ลดทอนบทบาทของ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” และ “พรรคการเมือง” ลงเท่านั้น

แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ยังมีการเสนอในทางที่จะกด “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ไว้ในที่ทางที่ไม่ให้มีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศ

แม้ในส่วนที่เปิดให้ยังวางกลไกทั้งควบคุม และตรวจสอบไว้อย่างเข้มข้น ชนิดที่ว่าไม่ว่าใครก็ตามหากหลุดเข้ามามีอำนาจได้ โอกาสที่จะเผชิญข้อกล่าวหาที่เลวร้ายมีความเป็นไปได้ตลอดเวลา

จนมีเสียงบ่นกันว่าต่อไปนี้ใครจะอยากมาเป็นนักการเมือง เพราะเสี่ยงสูงยิ่ง

ที่สำคัญการควบคุมนักการเมืองอย่างเข้มข้นนี้ ไม่เพียงจะ “เครือข่ายผู้ทรงอำนาจ” และ “ไอ้ห้อย ไอ้โหน” ที่หวังโอกาสจาก “การแต่งตั้ง” เท่านั้นที่ยินดีปรีดากับการออกกฎหมายกด “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ไม่ให้เผยอหน้าขึ้นมาได้เท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปยังเห็นดีเห็นงามไปกับกระแสกดทับนักการเมืองไว้เช่นนี้ด้วย

กระแส “ปฏิรูปการเมือง” ที่ประเด็นหลักที่เห็นชอบให้ต้องการจัดการคือ “ธุรกิจการเมือง” จะต้องหมดไป “การลงทุนทางการเมือง” หลังจากนั้นใช้อำนาจ “สร้างกำไร” ซึ่งเท่ากับทุจริตต่อหน้าที่ เป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้

“การหาเสียงจะต้องไม่ใช่การลงทุน เพื่อเข้ามาทำกำไรในช่วงมีอำนาจ” คือทิศทางการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ

ดังนั้น มีข้อเสนอว่า “พ.ร.บ.พรรคการเมือง” ที่จะร่างขึ้นมา จะให้ “ประชาชนที่สมัครเป็นสมาชิกการเมืองจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้พรรคการเมือง”

เป็นการจัดการที่นำสู่ในทิศทางตรงกันข้ามจากเดิมที่พรรคการเมืองจะเป็นผู้ดูแลสมาชิก

เสนอกันมาเพราะเชื่อว่าเมื่อนักการเมืองไม่ต้องลงทุน เพราะประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกเป็นผู้ให้การสนับสนุนทุนแล้ว จะทำให้การถอนทุนคืนในภายหลังที่นำมาซึ่งการทุจริตหมดไป จะทำให้การเมืองไทยดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเสนอไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่ที่ไม่ง่ายคือการเปลี่ยนความเคยชินของประชาชน จากผู้รับมาเป็นผู้ให้ว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน

เรื่องนี้ “นิด้าโพล” ได้ทำการสำรวจมาแล้ว ในหัวข้อ “พระราชบัญญัติพรรคการเมือง”

ในการสำรวจครั้งนี้มีคำถามที่ว่า “คิดเห็นอย่างไรต่อแนวคิดที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการให้ประชาชน ผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องเสียค่าสมาชิกพรรคเป็นรายปี”

พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 39.12 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 0.32 ระบุว่า เฉยๆ จะอย่างไรก็ได้ และร้อยละ 7.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

และ “คืออย่างไรต่อกำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินสมทบให้พรรคการเมืองตามจำนวนเงินที่แต่ละพรรคได้รับจากค่าสมาชิกพรรค (เช่น ถ้าพรรคได้รับเงินค่าสมาชิกพรรค 1 ล้านบาท รัฐก็จะจ่ายสมทบให้พรรคการเมืองนั้นอีก 1 ล้านบาท)” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.52 ระบุว่าไม่เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 26.24 ระบุว่าเห็นด้วย ร้อยละ 0.16 ระบุว่าต้องดูเป็นรายกรณีๆ ไป และร้อยละ 6.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

และหากถือเอาผลสำรวจนี้คือความเป็นจริงเรื่องราวที่สะท้อนออกมาคือ “ประชาชนส่วนใหญ่” ไม่มีความคิดว่าจะต้องเป็นผู้จ่ายให้เงินให้พรรคการเมือง

ค่านิยมยังยืนอยู่ในจุดที่ต้องการเป็น “ผู้รับ”

ดังนั้น หาก “พ.ร.บ.พรรคการเมือง” ออกมากำหนดให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินให้พรรคการเมือง จะเป็นเริ่องที่น่าคิดไม่น้อยว่าจะเหลือพรรคที่จำนวนสมาชิกมีเท่าที่กฎหมายกำหนดสักกี่พรรค

ยิ่งในยุคสมัยที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับ “รัฐบาลที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง” ด้วยแล้ว เป็นการง่ายดายอย่างยิ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง

การจัดการคืนประชาธิปไตยให้ประเทศ เพื่อให้สากลโลกยอมรับ เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นอะไรที่จะผสมอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้าไป

เพราะถึงที่สุดแล้ว ประชาชนเพียงแต่ต้องการการดูแลเท่านั้น หาได้ต้องการสิทธิเสรีภาพอะไรไม่