โครงสร้างอำนาจและเครือข่ายทางอำนาจ ที่ซับซ้อนขึ้นกว่าใน “ยุคจอมพลถนอม”

หากกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นักวิชาการหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ชื่อของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คงเป็นชื่อที่ทุกคนนึกถึงเป็นลำดับต้น ๆ เหตุและผลมาจากวิทยานิพนธืของ อ.ประจักษ์ และ นี่คือคำตอบและมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อปรากฎการณ์ 14 ตุลา 2516

14 ตุลา เป็นขบวนการที่เรามองว่ายิ่งใหญ่ สามารถล้มทหารได้ การพูดถึง14 ตุลา ส่วนใหญ่ไปเพ่งเล็งเหตุการปะทะช่วง 10 วันนั้น แต่จริงๆกว่าจะก่อเกิดมันใช้เวลาเป็นทศวรรษ บทเรียนก็คือขบวนการภาคประชาชนในยุคที่เสรีภาพมันจำกัด มันต้องหาพื้นที่ในการเคลื่อนไหว ค่อยๆก่อตัวขึ้นมาจากกลุ่มเล็กๆมันไม่มีทางที่จะรวมตัวกันเป็นขบวนการใหญ่ๆได้ เพราะตอนนั้นยุคสฤษดิ์-ถนอม มีการปิดกั้นเต็มที่ มีคำสั่งคณะปฏิวัติ มีมาตรา 17 ซึ่งสามารถสั่งประหารชีวิตได้ ยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็นมีการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใครต่อต้านรัฐบาล แสดงความเห็นที่แตกต่าง ก็มีโอกาสตายได้เลยมันก็ไม่ปลอดภัย

และมันเริ่มจากที่เล็กในมหาวิทยาลัยก่อน แล้วจึงขยายตัวออกไปพื้นที่นอกมหาวิทยาลัย และปัญญาชนข้างนอก บทบาทของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษ์มีความสำคัญมากในการเชื่อมต่อปัญญาชนรุ่นเก่า ใช้พื้นที่นอกมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาได้ขับเคลื่อนด้วย บางทีมันก็เริ่มจากประเด็นทางวัฒนธรรมและสังคมก่อนไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองโดยตรง เพราะรัฐเผด็จการเรื่องการเมืองเขาไม่ให้คุณเคลื่อนไหวได้เลย นักศึกษาเขาก็เริ่มจากการะประท้วงเรื่องหน่วยกิต เรื่องภายในมหาวิทยาลัย ต่อมาเขาก็ไปประท้วงเรื่องนอกมหาวิทยาลัย เรื่องรถเมล์  เรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน ก็ได้ใจประชาชน ประชาชนก็รู้สึกว่านักศึกษาเป็นพวกเขา การประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นนักธุรกิจไทยก็สนับสนุน เพราะการขาดดุลการค้า นักศึกษาก็เคลื่อนไหวปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจพ่อค้าไทย มันก็ได้ใจประชาชน

จากตรงนี้และที่มันค่อยๆสะสมและขยับไปสู่เรื่องทางการเมือง คือพูดง่ายๆมันก็ต้องดูสถานการณ์ทางการเมืองว่าประเด็นไหนเคลื่อนไหวได้หรือไม่ได้อย่างไร และมันสะสมแนวร่วมไปเรื่อยๆ จนใหญ่ขึ้น สร้างแนวร่วม ให้ประชาชนมาอยู่ข้างคุณและทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลลดลงเรื่อยๆ

ถนอม กิตติขจร

และว่าที่จริงรัฐบาลถนอมก็ทำตัวเองผิดพลาดในหลายเรื่อง พออยู่นานและมันเหิมเกริม มันเสพติดอำนาจ และมันย่ามใจคิดว่าทำอะไรก็ได้ การพยายามสืบทอดอำนาจ การตั้งลูกขึ้นมามีอำนาจ พอใช้อำนาจบาตรใหญ่ คนก็ไม่พอใจเยอะขึ้น เรื่องคอรัปชั่นที่อื้อฉาวมันก็กัดกร่อนความชอบธรรมของรัฐบาลลงไปเรื่อยๆ การล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ที่มีการใช้งบหลวงและใช้ทรัพยากรหลวง ไปล่าสัตว์ยิงสัตว์กันสนุกสนาน เรื่องอื่นๆมันก็โผล่ขึ้นมาตรงนี้มันก็กัดกร่อนความชอบธรรม

ที่สำคัญก็คือว่ามันมีการผ่อนคลายระดับหนึ่ง ให้รัฐธรรมนูญให้อะไรต่างๆ ให้มีการเลือกตั้ง จอมพลถนอมหลังปกครองมา 5 ปี ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ ปี 2511 หลังจากร่างกันมาตั้ง 10  ปี ยอมให้มีการเลือกตั้งในปี 2512 แต่พอมีสภาแบบที่ต้องมาอภิปรายตนเอง จอมพลถนอมไม่พอใจ รู้สึกยุ่ง จอมพลถนอมเคยชินกับการสั่งการมาโดยตลอด  เลยทำรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นฉนวนสำคัญ เราจะเห็นเลยว่าหลังจากนั้นความไม่พอใจของคนมันพุ่งสูง มันเหมือนกับหมดศรัทธาแล้ว มันเหมือนกับว่าคุณไม่ได้มีความจริงใจกับการคืนประชาธิปไตยให้สังคม เพิ่งมีรัฐธรรมนูญได้ 3 ปีด้วยซ้ำ และรัฐธรรมนูญนั้นคุณก็ไม่ได้ร่างเองด้วยซ้ำ ร่างรัฐธรรมนูญ 2511 ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ ก็ยังมารัฐประหารตัวเองอีก มันเหมือนมาดับความฝันของคน พอเกิดรัฐประหาร 2514 ประชาชนก็รู้แล้วถ้าไม่ต่อสู้ จอมพลถนอม ก็จะปกครองแบบเผด็จการ ยาวเลยคราวนี้ ไม่ให้มีประชาธิปไตย มันก็เป็นอีกชนวนหนึ่ง

ที่สนใจศึกษาเรื่องนี้เพราะยังมีคำถามยังมีปริศนาอีกหลายเรื่องเลยที่ยังไม่ถูกตอบ มีคำถามว่า 14 ตุลาคมซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ทำไมมันไม่ถูกค้นคว้าและศึกษาอย่างจริงจัง  ขณะนั้นกำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เลยอยากลองศึกษาดู เพราะรู้สึกไม่พอใจกับคำตอบต่างๆที่หนังสือขณะนั้นมีอยู่ มันมีอีกหลายคำถามเลยที่คนยังไม่ได้ถาม มีอีกหลายประเด็นเลยที่ยังไม่ได้เจาะลึกลงไป นี่คือจุดเริ่มต้นในการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ 14 ตุลาคม

แต่ถามว่าทำไมมาลงเอยที่การศึกษาการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชน เพราะตอนนั้นงานศึกษาด้าน 14 ตุลา ส่วนใหญ่ไปโฟกัสตอนที่มันเกิดการประท้วงขึ้นแล้ว คือไปโฟกัสในปี 2516   ตอนนั้นจริงๆระบอบถนอมเริ่มสุกงอมแล้ว สถานการณ์มันเริ่มสุกงอมแล้ว  ระบอบถนอมเสื่อมความชอบธรรม นักศึกษาจัดชุมนุมประท้วง มีคนมาเข้าร่วม มันอธิบายแค่ตรงนั้น เราอ่านแล้วก็รู้สึกว่าคำถามคือเหตุการณ์นี้มันก่อตัวมาได้ยังไงกับกระบวนการที่มีคนมาเข้าร่วมตั้ง 5 แสนคน

ในยุคที่ประเทศปกครองด้วยทหารทำไมคนกล้าออกมาขนาดนี้ มันเป็นการเคลื่อนไหวขบวนการประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย มันไม่มีทางจะเกิดขึ้นชั่วข้ามคืนใช่ไหม อยู่ดีๆคนมารวมกันได้ยังไงตั้ง 5 แสนคน แล้วทำไมคน 500,000 คนถึงยอมรับการนำของนักศึกษาอายุ 20 21 และ 22 มันเหมือนกับคนไปโฟกัสแต่ตอนจบ ตอนเคลื่อนขบวนออกมามันคือ Episode สุดท้ายแล้ว เราอยากถอยกลับไปว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้มันมายังไง ถอยกลับไปตั้งแต่ Episode แรกๆ

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จึงศึกษามาตั้งแต่การก่อกำเนิดเลย ว่าในช่วงสฤษดิ์ปกครองอย่างเข้มงวด มันมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหรือไม่ ถ้ามี มันก่อตัวมาได้อย่างไร  ก็ค้นพบว่ามันเริ่มมีแล้ว ตั้งแต่ตอนจอมพลสฤษดิ์ยังไม่ตาย มีนักศึกษากลุ่มเล็กๆพิมพ์หนังสือตั้งคำถามกับการปกครองระบบทหาร ตั้งแต่จอมพลถนอมขึ้นมาปกครองปีแรก นักศึกษาก็เริ่มเคลื่อนไหวแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่การประท้วงบนท้องถนน แต่เป็นการตั้งชมรมในมหาวิทยาลัย มีการเสวนากัน มีการพิมพ์หนังสือที่เรียกว่าหนังสือเล่มละบาท พิมพ์กันเองขายกันเองไปยืนขายหน้าประตูมหาวิทยาลัย คนก็มาซื้อ

มันมีการเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆที่เรามองไม่เห็น ถ้าเราไปดูแค่ม็อบบนท้องถนนก็อาจจะมองว่าสังคมมันเงียบเชียบจัง บางคนบอกเป็นยุคสมัยของสายลมแสงแดด แต่ที่จริงมันมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเล็กๆน้อยๆ

แม้กระทั่งเรื่องที่ดูไม่เป็นการเมือง แต่พอศึกษาไปก็พบว่ามันเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง เช่นการแต่งกายที่นักศึกษาต้องการแต่งกายแบบเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ผมยาว สะพายย่าม รองเท้ายาง จริงๆ มันคือการขบถนะ ขบถกับเผด็จการที่มาควบคุมแม้แต่ร่างกาย  เพราะจอมพลสฤษดิ์และถนอมเป็นเผด็จการที่เข้ามาควบคุมแม้แต่ทรงผม มันเป็นเรื่องอำนาจในการควบคุมพลเมืองไง นักศึกษาก็ขบถ ผมศึกษาแบบนี้ก็รู้สึกสนุกเราเห็นอะไรมากขึ้นเยอะเลย ถอยกลับไป 10 ปีว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเข้าใจส่วนนี้ก็จะเข้าใจฉากจบเอง ว่าทำไมฉากจบมันเป็นแบบนั้น  ถ้าใครอ่านหนังสือผมแทบจะไม่บรรยายช่วงที่เคลื่อนขบวนบนถนนราชดำเนิน ไม่ไปอธิบายตัวเหตุการณ์ใน Episode 10 แต่ผมจะอธิบาย Episode ที่ 1 ถึง Episode ที่ 9 ว่ามันเกิดอะไรขึ้น นักศึกษาค่อยๆเชื่อมต่อและเคลื่อนไหวกันอย่างไร

ยิ่งรัฐเป็นเผด็จการมากเท่าไหร่คุณยิ่งต้องมีศิลปะในการต่อสู้กับรัฐแบบนี้ ถ้าคุณไปสู้แบบโต้งๆทื่อๆก็โดนจับขังคุกหมด  โดนประหารชีวิตแน่

การปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร ถือเป็นอิฐก้อนแรกของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลาคมถือเป็นการวางอิฐก้อนที่ 2 มันคือการยกระดับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปอีกระดับหนึ่ง การปฏิวัติ 2475 ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมของราษฎรยังไม่มากเท่าไหร่ 

แต่ตอน 14 ตุลา ผมคิดว่ามันได้สร้างการเมืองของมวลชนขึ้นมา จิตสำนึกที่ว่าประเทศนี้มันก็เป็นของเรา มันเลิกวัฒนธรรมการเมืองแบบอยู่เป็นที่ว่าใครจะปกครองหรือใครจะเป็นรัฐบาล ฉันก็จะทำมาหากินของฉันไป ยิ่งเป็นเผด็จการมากยิ่งอย่าไปเคลื่อนไหว  14 ตุลา มันทำลายวัฒนธรรมการเมืองแบบอยู่เป็น  มันเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนอย่างกว้างขวางมาก

ลองนึกถึงคนครึ่งล้านที่ออกไปต่อสู้ทั้งที่ประเทศยังมีกฎอัยการศึก  ยังมีคณะปฏิวัติปกครองอยู่  มันแปลว่าคนต้องรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าอยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนี้  บ้านเมืองนี้ก็เป็นของเราไม่ใช่ของทรราช 3 คนนั้น  หรือแค่ทหารมายึดกุมอำนาจ  ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ผมคิดว่ามันได้ฉีกทำลายการเมืองแบบชนชั้นนำ มันได้เปิดศักราชการเมืองของมวลชนการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม มันปล่อยยักษ์ออกมาจากตะเกียง จากแต่ก่อนที่ประชาชนโดนกดมาตลอด

และนับตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะพยายามจับยักษ์ตนนี้เข้าไปในตะเกียงก็ไม่สำเร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไปแล้ว ประชาชนได้ออกมาจากตะเกียงแล้ว  ตรงนี้ผมคิดว่าคือคุณูปการที่สำคัญที่สุด

ที่บอกว่าคนรุ่นหลังหรือนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังเขาไม่ค่อยอินกับ 14 ตุลา แล้วก็เป็นเรื่องจริง  ทั้งที่มันสำคัญมาก แต่ต้องเข้าใจว่า 14 ตุลา มันมี 2 ด้าน แล้วมันถูกขับเน้นแค่ด้านเดียว  คือ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าเราไม่สามารถไปลดทอนความสำคัญทางประวัติศาสตร์ได้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้ 14 ตุลา มันมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่  ในแง่เพดานทางอุดมการณ์ ซึ่งข้อจำกัดนี้ต้องเข้าใจว่ามันเป็นข้อจำกัดของยุคสมัย  ถ้าเราอยู่ในยุคนั้นเราก็อาจจะเคลื่อนไหวได้เท่าที่นักศึกษายุคนั้นเคลื่อนไหวมันไม่มีใครสามารถที่จะฉลาดเกินกว่ายุคสมัยของตัวเองได้  เพราะตอนนั้นเราก็รับรู้แค่นั้น  ในยุคนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวยังไม่รู้จักปรีดี พนมยงค์เลย มองคณะราษฎรและการปฏิวัติในแง่ร้าย กลายเป็นว่าไปรับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมมา

ดูง่ายๆ กรณี 13 นักศึกษาที่ไปแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้วโดนจับ กลายเป็น 13 ขบถ ที่เป็นชนวนให้คนมารวมตัวกันที่ธรรมศาสตร์จนกลายเป็นจุดเริ่มต้น 14 ตุลา ประเด็นก็คือหน้าปกของใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการเอาพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 มาตีพิมพ์  ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นแบบราชาชาตินิยม ซึ่งเป็นการสร้างวาทกรรมอีกแบบหนึ่งขึ้นมาเพื่อดิสเครดิตและโจมตีคณะราษฎร ด้วยการบอกว่าประชาธิปไตยไทยเกิดจากการพระราชทาน แต่กลับถูกคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม แย่งชิงอำนาจไป นักศึกษาที่เคลื่อนไหวยุค 14 ตุลาคมอยู่ในเวอร์ชั่นประวัติศาสตร์แบบนี้ เขารับรู้ประวัติศาสตร์แบบนี้ เป็นประวัติศาสตร์ภายใต้วาทกรรมชิงสุขก่อนห่าม มองว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็นพระเอก และคณะราษฎรเป็นผู้ร้าย การออกไปสู้กับจอมพลถนอมและประภาสก็คือการออกไปสู้กับทายาทของคณะราษฎร ซึ่งคณะราษฎรก็คือทหารที่มายึดอำนาจไป

 

ดังนั้นอย่างที่ผมบอกไปว่าการต่อสู้ 14 ตุลา  มันมี 2 ด้านด้านหนึ่งคือการลุกขึ้นสู้ของประชาชน นักศึกษา คนจากหลากหลายอาชีพ เป็นการเมืองมวลชน แต่ตอนจบมันไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน  แต่เป็นรัฐบาลพระราชทาน

ถ้าเราไปดูรัฐธรรมนูญ 2517 ที่คลอดออกมา เราไปดูคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์  เราก็จะพบว่าเป็นรัฐบาลของ Elite รัฐบาลชนชั้นนำทั้งสิ้น เพียงแต่เปลี่ยนมือจากจอมพลถนอม-ประภาส มาเป็นชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกลุ่มอื่น  ประชาธิปไตยที่ต่อสู้ได้มาตอนนั้นมันเลยเป็นประชาธิปไตยที่มีข้อจำกัด ชนชั้นนำยังเข้ามาควบคุมอยู่ เพียงแต่ชนชั้นนำเขาสู้กันเอง  คือพูดง่ายๆประชาชนไปต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

แต่สุดท้ายประชาธิปไตยมันโดนไฮแจ็คไปโดยชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม พอเป็นแบบนี้นักศึกษารุ่นหลังนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังเขาเลยไม่อินกับ 14 ตุลา เพราะเขาไม่ได้ต้องการการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแบบนี้  ที่มันไม่ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงมา มันยังเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนำ เขาไม่แฮปปี้กับฉากจบของ 14 ตุลา

คนที่ต่อสู้ยุค 14 ตุลา ไม่ได้เป็นเอกภาพทั้งหมด  งานวิจัยของผมจะชี้ให้เห็นว่ามันมีความแตกต่างในร่องรอยทางความคิดอยู่สูงมากอยู่แล้วตั้งแต่สมัยนั้น มีทั้งเป็นกลุ่มที่เป็นชาตินิยม กลุ่มรอยัลลิสต์ หรือที่เป็นฝ่ายซ้าย มีความคิดแบบหัวก้าวหน้าก็มี มันผสมกันอยู่ มันมีความหลากหลายแต่ความหลากหลายมันอยู่ร่วมกันได้เป็นขบวนการใหญ่ เพราะว่ามันมีศัตรูร่วมกันคือระบอบเผด็จการทหาร ของจอมพลถนอม-ประภาส-ณรงค์ นั่นแหละ เพราะทุกคนเห็นว่าถ้าไม่สามารถยุติระบอบเผด็จการทหารนี้ได้ ยังไงสังคมมันก็จะหยุดนิ่ง สังคมมันไม่เจริญ เปลี่ยนผ่านไม่ได้

ฉะนั้นพูดง่ายๆ ว่าเราต้องขจัดภัยเขียวก่อน ภัยเขียวซึ่งก็คือระบอบเผด็จการทหาร ต้องจัดการกับ military dictatorship  ซึ่งเป็นศัตรูร่วมของทุกฝั่ง ไม่ว่าคุณจะมีเฉดทางอุดมการณ์แบบไหน กลุ่มที่เป็นรอยัลลิสต์ ก็จะมองว่าระบอบเผด็จการทหารมาท้าทายพระราชอำนาจ จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าเรามองเห็นความหลากหลายของคนเดือนตุลา ว่าทำไมตอนหลังบางคนถึงเปลี่ยนไปเป็นแบบโน้นแบบนี้  บางคนเขาไม่ได้เปลี่ยนแค่คุณอาจไปเข้าใจว่าเขาเป็นหัวก้าวหน้าในตอนนั้น ซึ่งในตอนนั้นเขาไม่ได้เบี่ยงซ้ายอะไรเขาอาจจะเป็น conservative หน่อยๆ อยู่แล้วตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งตอนนั้นมันยากมากที่ใครจะชอบระบอบถนอม คือในหมู่ประชาชนกับนักศึกษาเขาไม่ได้มีความแตกแยกกันเลยในเรื่องนี้ คือมันเป็นระบอบที่บริหารเศรษฐกิจก็ล้มเหลว ผูกขาดอำนาจ กดขี่ผู้คน คอรัปชั่นแหลกราญ คือไม่มีจุดไหนที่คุณจะไปเชียร์ได้ มันเลยเกิดจุดร่วมกันขึ้นมา คนยุค 14 ตุลา บางคนเขาจึงไม่ได้เปลี่ยนไปแบบที่เราเข้าใจ  เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น

แต่คนที่เปลี่ยนไปก็มี คนที่มีแนวคิดก้าวหน้าเอียงซ้ายในสมัยนั้น ตาสว่างแล้วในสมัยนั้น แล้วมาเปลี่ยนกลับแบบ 360 องศาก็มี บางคนก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ตำแหน่งอำนาจวาสนา หรือบางคนเขาก็เปลี่ยนความคิดไปจริงๆ เขาอาจจะมองว่าโจทย์ช่วง 14 ตุลาคมก็แบบหนึ่ง โจทย์การเมืองปัจจุบันมันก็แบบหนึ่ง มนุษย์มันก็ซับซ้อน ความคิดมันก็เปลี่ยนได้  มันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่จะมาบันทึกสิ่งเหล่านี้เอง ใครเปลี่ยน ใครไม่เปลี่ยน วันหนึ่งเราก็อาจจะเปลี่ยนก็ได้ อีก 30 ปี มันก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่จะมากร่นด่าเราเอง พิพากษาเราเอง

ระบอบประยุทธ์ที่ไม่มีประยุทธ์ | ประจักษ์ ก้องกีรติ - มติชนสุดสัปดาห์

งานชิ้นหนึ่งที่อยากให้อ่านคืองานของอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ศึกษาระบอบถนอม ซึ่งเป็นการศึกษาอีกครึ่งหนึ่งของผม คือศึกษายุคเดียวกันเป๊ะ ช่วง 10 ปีของรัฐบาลถนอม แต่ผมศึกษาฝั่งต่อต้านรัฐบาลถนอม  ส่วนอาจารย์ธำรงศักดิ์ศึกษาฝั่งรัฐบาล ว่าเขาครองอำนาจอย่างไร  อ่านไปอ่านมาคุณจะรู้สึกขึ้นมาเลยว่าประวัติศาสตร์มันซ้ำรอย

ระบอบประยุทธ์ในแง่ของเทคนิคการปกครองและการครองอำนาจแทบจะลอกมาจากระบอบถนอม ผมว่าเกินครึ่ง การถ่วงเวลาในการที่จะกลับไปสู่การเลือกตั้ง กว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้งนี่พอๆกันคือ 5 ปี  กว่าจะยอมให้มีรัฐธรรมนูญ การฝังกลไกต่างๆไว้ในรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลนอมินีของทหารขึ้นมา การที่ทหารสามารถชุบตัวเองไปเป็นนักการเมืองและนักเลือกตั้งกลับมาสู่อำนาจได้ การใช้กลไกราชการมาช่วย หลายอย่างมากๆ คือพูดง่ายๆ ภูมิปัญญาของทหารในยุคหลัง ก็ไม่ได้พ้นไปจากสิ่งที่ถนอมทำไว้เท่าไหร่ คือไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่มาก ตรงนี้ผมว่าคือส่วนที่เหมือนหลายอย่าง

แต่มันก็มีส่วนที่ต่าง ซึ่งส่วนที่ต่างนี้สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือว่าสมัยนั้นทหารเป็นใหญ่จริงๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์กับถนอม อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทหาร ทหารเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจมากที่สุด เป็นคนที่ผูกขาดอำนาจได้จริงๆ อยู่บนยอดของพีระมิด ในยุคปัจจุบันทหารยังคงอยู่ในการเมืองและยังมีอำนาจมาก  แต่ว่าทหารไม่ได้อยู่บนยอดของพีระมิดอีกต่อไป หุ้นส่วนทางอำนาจมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเทียบกับยุคจอมพลสฤษดิ์-ถนอม ตอนนี้ทหารมาเป็นหุ้นส่วนรองทางอำนาจ  รองรับการใช้อำนาจของชนชั้นนำจารีต  มันสลับกัน  รวมถึงชนชั้นนำจารีตและทหาร ฉลาดมากขึ้น ในการปรับตัว ซึ่งในที่สุดเขาได้ไปผนวกในภาคการเมืองกับพรรคการเมืองเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางอำนาจด้วย ฉะนั้นมันเป็นโครงสร้างอำนาจและเครือข่ายทางอำนาจที่ซับซ้อนขึ้นกว่าในยุคจอมพลถนอม

ถามว่าวันนี้สิ้นสุดระบบ 3ป. ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 หรือยัง ก็ขอใช้คำหรือสำนวนในยุค 14 ตุลา ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา จบลงและหลังจากนั้นไม่นาน คนเริ่มเห็นแล้วว่าโครงสร้างอำนาจที่ระบอบสฤษดิ์-ถนอม สร้างไว้ มันแข็งแกร่งแน่นหนา แล้วมันไม่ได้เปลี่ยน ได้ง่ายๆ

มันมีนักหนังสือพิมพ์บางคนบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอน 14 ตุลาคมก็คือ กระเบื้องมันหลุดไปแค่ 3 แผ่นแค่นั้นเอง โครงสร้างบ้านที่เป็นระบอบอำนาจนิยมมันยังอยู่ กระเบื้อง 3 แผ่นก็คือ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เราเปลี่ยนกระเบื้อง 3 แผ่นบนโครงสร้างบ้านที่ยังเหมือนเดิม แล้วเวลาต่อมามันก็พิสูจน์ ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519