รายงานพิเศษ : รถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก โอกาสและทางเลือกใหม่ของการเดินทางของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก

“ระบบการขนส่งทางราง” เป็นหนึ่งในรูปแบบการขนส่งที่สามารถยกระดับการเดินทางของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่างเช่นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งยังเป็นระบบที่ขนส่งผู้โดยสารได้ครั้งละจำนวนมากทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ต่ำกว่าการเดินทางในรูปแบอื่นๆ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้งบนดิน-ใต้ดินเชื่อมการเดินทางระหว่างเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาแล้ว 9 สาย 160 สถานี ครอบคลุมระยะทางไม่น้อยกว่า 242 กิโลเมตร

และประเทศไทยยังมีแผนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกหลายเส้นทาง โดยในระยะแรกตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล M-Map ระยะที่ 1 จะเร่งก่อสร้างให้เสร็จก่อน 10 เส้นทาง รวมระยะทาง 464 กิโลเมต จากนั้นจะศึกษาแผนM-Map ระยะที่ 2 เพื่อปรับปรุงแผนแม่บทรถไฟฟ้าให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารในอนาคต

รอความชัดเจนจากภาครัฐ

สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ณ สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีความคืบหน้าดังนี้

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ความก้าวหน้างานโยธา 97.71% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 98.35% ความก้าวหน้าโดยรวม 98.03%
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ความก้าวหน้างานโยธา 35.86% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 19.12% ความก้าวหน้าโดยรวม 30.23%
3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ความก้าวหน้างานโยธา 16.71%

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พบมีความก้าวหน้างานโยธาแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ เนื่องจากสัญญาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อยู่รวมกับสัญญาก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีทีเอสซี” ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 โดยศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ชี้ดำเนินการชอบโดยกฎหมาย

ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของ รฟม. แจ้งว่าอยู่ระหว่างการรอพิจารณาจากคณะรัฐมตรี (ครม.) ชุดใหม่ว่าจะให้ดำเนินอย่างไร หาก ครม. อนุมัติก็จะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนและเริ่มการก่อสร้างโครงการส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. ได้ทันที ตลอดจนเปิดให้บริการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ได้ก่อนในเบื้องต้น แต่หาก ครม. ไม่อนุมัติและให้เปิดประมูลใหม่ การเปิดบริการส่วนตะวันออกและการก่อสร้างส่วนตะวันตกก็จะล่าช้าไปจากแผนงานอีกประมาณ 1 ปี

ยิ่งล่าช้าประชาชนเสียโอกาส รัฐเสียโอกาส

ปัญหาความล่าช้านี้เองนำมาซึ่งการเสียโอกาสในการเดินทางของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลฝั่งตะวันออกที่จะมีระบบขนส่งทางรางที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบครบวงจร เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกถือเป็นระบบขนส่งที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองผ่านจุด Interchange บริเวณสถานีมีนบุรี (จุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย) และสถานีลำสาลี (จุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว–ศรีนครินทร์–สำโรง) เข้าเป็นโครงขายข่ายเดียวกัน

ทั้งนี้นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน รฟม. เปิดเผยว่า รฟม. เตรียมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงตั้งแต่ลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้
การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้ายังส่งผลต่อเนื่องไปยังการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ทำให้แผนการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ ไม่เป็นไปตาม M-Map ระยะที่ 1

มากไปกว่านั้นยังทำให้ รฟม. ต้องเสียค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จไปก่อนอีกกว่าเดือนละ 41.26 ล้านบาท หรือปีละกว่า 492 ล้านบาท นับเป็นการเสียงบประมาณของประเทศโดยเปล่าประโยชน์ ยังไม่รวมเรื่องการเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก หรือค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจอีก

ซึ่งจากการประเมินพบว่ารัฐอาจสูญเสียรายโดยรวมนับหมื่นล้านบาท !

เชื่อมต่อง่าย สะดวกทุกการเดินทาง

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาความล่าช้าในการเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้เร่งเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกโดยเร็วที่สุด เนื่องจากประชาชนเสียโอกาสมามากแล้ว และการเปิดเดินจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรามคำแหงที่มีการจราจรแออัดมาก

ทั้งยังมองว่าการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกจะช่วยให้เชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ทำให้เดินทางไปส่วนอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวก ทำให้ประชาชนมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อธุรกิจส่วนตัวหรือการติดต่อระหว่างหน่วยงานงานต่างๆ รวมถึงการเปิดเดินรถจะช่วยให้ ให้ประชาชนในย่านมีนบุรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชีวิตมีความสุข ไม่ต้องใช้เวลาอยู่บนถนนนานนับชั่วโมง และมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น

ขณะที่บางส่วนมองว่านอกจากการเสียโอกาสในการเข้าถึงการเดินทางที่สะดวกแล้ว ยังมีเรื่องที่ภาครัฐต้องจ่ายเพิ่มจากกรณีที่จัดหารถหรือก่อสร้างโครงการในส่วนตะวันตกล่าช้าด้วย จึงอยากให้ ครม. ชุดใหม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และควรจะตัดสินใจโดยเร็วที่สุด หากไม่ติดขัดในข้อกฎหมายก็ควรให้ผู้ชนะการประมูลดำเนินการต่อเนื่องทันทีเนื่องจากประชาชนรอมานานแล้ว

การสร้างระบบขนส่งทางรางที่สมบูรณ์และประชาชนได้ผลประโยชน์มากที่สุด ต้องเป็นระบบที่ไร้รอยต่อโดยอาศัยความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงข่ายระบบขนส่งทางรางอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมการเดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป