ไหวไหมเอเปค? เช็คสภาพความพร้อมประเทศไทย เจ้าภาพจัดประชุมผู้นำระดับโลก

ต้องใช้คำว่าเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว สำหรับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือ APEC 2022  ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร

ช่วงที่ผ่านมาก็เกิดดราม่าหลายเรื่อง ตั้งแต่เป็นการจัดเอเปคซึ่งเป็นการประชุมเขตเศรษฐกิจสำคัญระดับโลกในไทย แต่กระแสกลับดูเงียบเหงา คนไทยไม่ค่อยพูดถึงหรือให้ความสนใจ

ซ้ำร้ายผู้นำประเทศมหาอำนาจที่เคยเข้าร่วมพร้อมเพรียงในการประชุมที่ผ่านมา กลับเลือกไม่มาไทยในการประชุมครั้งนี้ หลายประเทศก็เลือกส่งผู้แทนมาร่วมประชุม

จากข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ย. พบว่า มีผู้นำเพียง 2 ประเทศ ที่ประกาศจะมาร่วมประชุม คือจีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะมาด้วยตัวเอง แต่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มา ขอส่งรองประธานาธิบดีมาแทน

ขณะที่ มาเลเซีย เกาหลีใต้  เม็กซิโก จะส่งผู้แทนมาเข้าร่วม ที่เหลืออีก 15 ประเทศ ยังคงรอการยืนยัน รวมถึง ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียด้วย

ส่วนแขกพิเศษของไทยที่จะเข้าร่วมคือ ประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศส​, มกุฎราชกุมาร​ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศซาอุดีอาระเบีย​ และผู้นำกัมพูชา

ด้าน ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ยืนยันว่า บุคคลที่จะเดินทางมายังประเทศไทยล้วนแต่เป็นระดับสูงสุดของรัฐบาลเสียส่วนใหญ่ แต่ก็มีผู้แทนมาบ้าง ยืนยันว่าทุกประเทศใน 21 เขตเศรษฐกิจมาประชุม

“เหตุผลที่ไม่สามารถตอบได้ว่าผู้นำ แต่ละประเทศมีใครเดินทางมาร่วมประชุมบ้างนั้นเป็นเรื่องของความปลอดภัย โดยขอให้อดใจรอ ไทยพยายามทำให้เกิดความชัดเจน”

ในโอกาสนี้ “มติชนสุดสัปดาห์” ขอพาไปย้อนดูการเตรียมความพร้อมของไทย และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องในโอกาสการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ครั้งนี้

– 24 กันยายน : สื่อต่างประเทศ รายงาน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา จะไม่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากเหตุผลทางด้านครอบครัว ด้านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปฎิเสธข่าว ยืนยันอยู่ระหว่างประสานงาน

– 5 ตุลาคม : ครม.เคาะวันหยุดราชการพิเศษ 16-18 พ.ย. เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และจ.สมุทรปราการ รับประชุมเอเปค

– 7 ตุลาคม : ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เร่งเคลียร์จุดจอดเครื่องบิน รองรับนานาชาติร่วมประชุมเอเปค เล็งพื้นที่กองบิน 4 เสริมที่จอด ยืนยันไม่กระทบการบินพาณิชย์

– 11 ตุลาคม : ดอน ปรมัตถ์วินัย ยืนยันทุกประเทศตอบรับร่วมเวทีเอเปค แต่ไม่รู้ผู้นำมาเองหรือมอบหมายใคร เผย ‘มกุฎราชกุมารซาอุฯ’ เตรียมยกคณะใหญ่เยือนไทย

– 15 ตุลาคม : รัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ ทูตนอกแถว อดีตเอกอัครราชทูตไทย เปิดเผยว่าได้ข้อมูลใหม่มาว่า ไทยงดออกเสียง ประณามรัสเซีย เพราะอยากเอาใจ ให้ปูตินมาเอเปค

– 18 ตุลาคม : ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ‘ปูติน’ ยังไม่คอนเฟิร์มมาประชุมเอเปค แต่เจ้าตัวอยากมา เพียงแต่ว่าเรื่องที่เขาจะต้องพิจารณาค่อนข้างเยอะ

Photo by Kirill KUDRYAVTSEV / AFP

– 21 ตุลาคม : ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 14-19 พ.ย.นี้ เบื้องต้นมีตอบรับมาแล้ว จำนวน 38 ลำ เป็นอากาศยานขนาดกลางและขนาดใหญ่ เตรียมท่าอากาศยานเพื่อรองรับไว้ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6

– 21 ตุลาคม : ผบ.ตร.ประชุมความพร้อมทุกฝ่าย รับมือประชุมผู้นำเอเปค ดูแลความปลอดภัย การจราจร ใช้ตำรวจกว่า 20,000 นาย

– 22 ตุลาคม : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีจัดประชุมเอเปค บอกเป็นเกียรติอย่างมากที่ 21 เขตเศรษฐกิจตอบรับในหลักการเข้าร่วม

– 27 ตุลาคม : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค สั่ง หน่วยงานกทม.ซ้อมเข้ม ตั้ง ‘หน่วยคอมมานด์’ ประสานเหตุฉุกเฉิน

– 29 ตุลาคม : โฆษกทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ยืนยันรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ของสหรัฐอเมริกา จะเดินทางมาร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ไทยในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ส่วน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเดินทางเยือนกัมพูชาเพื่อประชุมสุดยอดอาเซียน และไปอินโดนีเซียเพื่อประชุม G20

– 29 ตุลาคม : นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดตัวเซฟ 21 ทีมชวนชิม ‘เมนูอาหารอนาคต’ คัดสรรเสิร์ฟผู้นำเอเปค

– 30 ตุลาคม : 19 เขตเศรษฐกิจตอบรับแล้ว ร่วมประชุมผู้นำเอเปค จากทั้งหมด 21 ประเทศ โดยมีกัมพูชา-ฝรั่งเศส-ซาอุฯ’ เข้าร่วมด้วยในฐานะแขกของไทย โดย จีน-เวียดนาม-ซาอุฯ’ เยือนไทยทางการ

– 31 ตุลาคม : นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กำหนดการการประชุมผู้นำเอเปคและประเด็นหารือของผู้นำ หารือเรื่องพิธีการต้อนรับ การรักษาความปลอดภัย และลำดับขั้นตอนการประชุม รวมถึงการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

– 31 ตุลาคม : ผบ.ตร.ประธานประชุมพิจารณาแผนการปฏิบัติการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประกาศมอบรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแสข้อมูลหรือสิ่งผิดปกติให้กับตร.

– 1 พฤศจิกายน : ครม.อนุมัติประกาศหยุด ร.ร.-มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ-สมุทรปรากร-นนทบุรี เปิดทางประชุมเอเปค ปิดการจราจรรอบศูนย์สิริกิติ์ งดใช้สวนเบญจกิติช่วงเอเปค ปิดเส้นทางน้ำหอประชุมกองทัพเรือ เลี้ยงอาหารค่ำผู้นำเอเปค 18 พฤศจิกายน 2565

– 2 พฤศจิกายน : ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก สั่งเอกซเรย์เข้า-ออก พื้นที่ชายแดน เข้มความปลอดภัยประชุมเอเปค

– 2 พฤศจิกายน : การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กระทรวงคมนาคม จัดพื้นที่โกดังสเตเดี้ยม เป็นลานจอดรถ-พักรอ คณะผู้นำเอเปค

– 2 พฤศจิกายน : น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แถลงข่าว เสียดายการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้นำประเทศมหาอำนาจหลายประเทศไม่ให้ความสำคัญ ส่งเพียงผู้นำระดับรองมาร่วมประชุมแทน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคทั้งหมด 2 ครั้ง คือ เมื่อปี 2535 ในยุคนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ส่วนการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของไทย เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 ในยุคนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

Photo by SAEED KHAN / AFP
Photo by TOMOHISA KATO / POOL / AFP
Photo by TOSHIFUMI KITAMURA / AFP