“ธงทอง” กุนซือปรองดอง คสช. “อินทภาษ” ยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ศาลไม่ใช่ทั้งหมดในการยุติความขัดแย้ง

“ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ” เคยได้รับภารกิจ “เผือกร้อน” ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็น “โต้โผ” จัด “สานเสวนา 108 เวที” ภายหลังกลับจากการ “ลาบวช-แสวงบุญ” ณ “ชมพูทวีป” ประเทศอินเดีย ในช่วงสั้นๆ

ปัจจุบัน “ศ.พิเศษ ธงทอง” เป็น 1 ใน 39 อรหันต์ 1 ใน 3 ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ภายใต้ร่มเงาของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ถ้าจำไม่ผิดก็ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556 พอถึงเดือนธันวาคม 2556 ก็ยุบสภา พอยุบสภาแล้ว ประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงกันในวันนี้ คือ การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธุ์ 2557 มากกว่าการจัดเวทีพูดคุย เหตุการณ์ในวันนั้นก็เดินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้”

ในวันนี้เขาจึงถูก “จารึกชื่อ” เป็น “เกียรติประวัติ” ชีวิต ว่าได้รับ “เทียบเชิญ” จากรัฐบาลที่มีที่มาที่ไปต่างกันสุดขั้ว ความพยายามในการสร้างความปรองดองในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางมาถึงช่วงเวลาสำคัญ ภายหลังเปิดฟลอร์-ตั้งโต๊ะรับฟังความคิดเห็นจากทุกขั้วค่าย-คนการเมืองก่อนร่างเป็น “สัญญาประชาคม” กำหนดเป็นกติกา “หย่าศึก” ก่อน-หลังการเลือกตั้ง

ในฐานะที่ “ศ.พิเศษ ธงทอง” เป็น “กูรูกฎหมาย” มีแฟ้มประวัติส่วนตัวแนบท้ายตำแหน่งแห่งหนทางวิชาการกฎหมาย-ตำแหน่งทางการเมืองมากมาย อาทิ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2539 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันเป็นกรรมการการกฤษฎีกา คณะที่ 8

เขามองว่า “สัญญาประชาคม” ไม่ใช่บทสรุปของตอนจบในการสร้างความปรองดองครั้งนี้ และ “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” ที่จะทลายกำแพงความขัดแย้ง คือ การยึด “หลักอินทภาษ” หรือ “คำสอนของพระอินทร์”

“มีหมวดหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง เรียกว่า หลักอินทภาษ เป็นคำสอนของพระอินทร์ ว่า ผู้พิพากษาต้องปราศจากอคติ 4 ประการ ได้แก่ ความลำเอียงด้วยความรักใคร่ ความลำเอียงเพราะความโกรธ ความลำเอียงเพราะความหวาดกลัว และความลำเอียงเพราะความหลง”

“วันนี้พอเรามาตั้งคำถามว่า แล้ววันนี้สถาบันกระบวนการยุติธรรมของเรา ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะศาลเท่านั้น ตั้งแต่พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หรือคำว่า ศาล ก็มีหลายศาล มีศาลปกครอง มีศาลรัฐธรรมนูญ และยังมีอีกหลายองค์กร เช่น องค์กรอิสระทั้งหลาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการการบังคับใช้กฎหมาย วันนี้ประชาชนเขาวางใจในกระบวนการยุติธรรมในความหมายอย่างกว้าง ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่การไปฟ้องคดีในศาลเท่านั้น หรือการบังคับใช้กฎหมายของเราในความหมายอย่างกว้างนั้น ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ประชาชนเขาวางใจได้มากน้อยเพียงใด แค่ไหน เพราะว่ามันแล้วแต่มุมมอง แล้วแต่ข้อมูลที่แต่ละคนมี แต่ละคนได้”

“ศ.พิเศษ ธงทอง” จึงเชื่อว่า การขจัดความขัดแย้งในสังคม “กระบวนการขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นทางเลือกหนึ่งแต่ไม่ใช่ทางเลือกทั้งหมดของเรื่อง”

“ลูกหลานทะเลาะกัน แบ่งมรดกเจ้าคุณปู่ไม่ลง มันไม่ใช่ต้องไปฟ้องศาลทุกเรื่องไปนะ มันมีวิธีการที่จะปรองดองกันได้ก่อนหน้านั้น ตกลงกันได้ก่อนหน้านั้น จะตกลงกันเองก็ได้ หรือจะไปหาคนกลาง คุณป้าสักคนที่เราเคารพนับถือของลูกหลานทั้งสองข้าง มาไกล่เกลี่ยให้ มีวิธีการอีกเยอะแยะที่สุดท้ายไม่ต้องแบ่ง กองไว้ตรงนี้แล้วตั้งบริษัทบริหารร่วมกัน มีวิธีคิดอีกเยอะแยะที่ไม่จำเป็นต้องไปสู่ศาล การนำเรื่องไปสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ผมไม่คิดว่าควรจะเป็นทางเลือกเดียว”

“มีการพูดถึงเรื่องการใช้ดุลยพินิจในการชะลอการฟ้อง ในบางประเทศมีกฎหมายชนิดนี้ แต่ในเมืองไทยกฎหมายเรื่องนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม พูดกันมาในกระบวนการยุติธรรมสักพักใหญ่ 10 กว่าปีแล้ว ดังนั้น การพูดกันถึงกฎหมายชะลอการฟ้อง แปลว่า การนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น เป็นทางเลือกที่ต้องคงมีรักษาไว้ แต่ไม่ควรเป็นคำตอบเดียว ควรจะมีประตูอีกหลายๆ บานที่เราควรเลือกเดินได้”

“ศ.พิเศษ ธงทอง” ยังเชื่อว่า การสร้างความปรองดองในครั้งนี้ “ทุกคนมีความหวัง” ถ้าหากตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และประชาชนทั้งหมดร่วมมือกัน ถึงแม้ยังไม่เห็นแผนที่ ว่า ปลายทางมันอยู่ตรงไหนก็ตาม

ต้นตระกูล “จันทรางศุ” แม้เป็น “นามสกุลพระราชทาน” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องจาก “อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์” ถวายงาน-รับใช้ใกล้ชิด แด่รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ทว่า “พิษสง” การเมืองก็ไม่ได้ปล่อยให้ผ่านเลยไป

“ศ.พิเศษ ธงทอง” ถูก “ประทับตรา” ว่าเป็นข้าราชการประจำ “ขั้วตรงข้าม” จนถูก “อิทธิฤทธิ์” คำสั่งคณะปฏิวัติ-คสช. อัปเปหิจากเก้าอี้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลดชั้นไปเป็น “ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” จนจวบชีวิตราชการสิ้นสุดลง

เขาเปิดใจว่า “ผมเป็นคนไม่มีพรรค”

“เราไม่สามารถจะไปกะเกณฑ์ให้คนอื่นเขามองเราอย่างไรได้ แต่สำคัญอยู่ที่ว่าเรามองตัวเองอย่างไร ผมคิดว่าผมเป็นข้าราชการประจำ ผมคิดว่าผมทำตามกฎหมายนะ ผมให้ความเห็นทุกครั้งที่ควรจะให้ และผมก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งข้าราชการระดับสูงในนามพรรคการเมือง ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ผมเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา ทำงานกับรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์หลายท่าน ผมทำงานอยู่ 3 ปี ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีศึกษาก็พอใจกับผลงานของผม”

“ผมเป็นข้าราชการประจำ ไม่ใช่สมาชิกพรรคใด การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทั้งหลาย ผมไม่เคยตั้งตัวของผมเองสักตำแหน่งเดียว ถ้าตั้งตัวผมเองได้ ผมก็ตั้งไปเป็นอะไรเยอะแยะมากมายกว่านี้แล้วล่ะ”

“พูดตรงๆ ถ้าพูดถึงความฝัน ชีวิตเรา มีของรัก ของชอบ ผมอยากเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจะตาย แต่ผมก็ไม่ได้เป็น ก็เขาไม่ให้เป็น แค่นั้นก็จบกัน”

“ไอ้ที่เป็นมาก็ไม่ได้อยากเป็น แต่เมื่อมันเป็นมาแล้ว จะให้ตายประชดป่าช้าลาออกเลยเรอะ ผมเป็นข้าราชการประจำ สิ่งที่ผมได้จากทางราชการก็ไม่ใช่บำเหน็จรางวัลพิเศษอะไร จากพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งนะ ผมก็ได้เงินเดือนตามกติกาของผมนั่นแหละ เกษียณมาผมก็ได้บำนาญก็เท่านั้น บ้านมีอยู่ ข้าวมีกิน ต้นไม้เขียวดี จะเอาอะไรมากกว่านี้” (หัวเราะ)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง เกิดการแบ่งพวก แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย แบ่งสี ลุกลามไปยัง “ข้าราชการประจำ” ซึ่งเป็น “เสาหลัก” จนเกิดความแตกแยกใน “วงราชการ” ชนิด “มองหน้ากันไม่ติด” เขาเตือนสติข้าราชการประจำในยุคขัดแย้ง-แตกแยก ว่า

“ผมเป็นข้าราชการประจำมาตลอดชีวิตการทำงานจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ข้าราชการมีความสำคัญที่ทำให้งานของภาครัฐก้าวเดินไปได้เป็นปกติ ไม่ว่าใครมาเป็นผู้บังคับบัญชาในสถานการณ์ที่มีการเลือกตั้งเป็นปกติ หรือสถานการณ์พิเศษที่มีการใช้อำนาจพิเศษอย่างเช่นในปัจจุบัน ข้าราชการประจำก็อยู่ในบทบาทที่ทำหน้าที่สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกัน”

“ผมคิดว่าข้าราชการประจำ สิ่งที่ควรถือไว้ หนึ่ง รักษากฎหมาย การทำตามกติกาของบ้านเมืองที่เป็นกฎหมาย ไม่ทำอะไรที่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ที่เป็น ที่กฎหมายให้ไว้ ซึ่งหมายรวมถึงการไม่ทำผิดกฎหมาย การไม่ทุจริตด้วย”

“สอง ในฐานะที่เป็นฝ่ายประจำ ผมคิดว่า มีหน้าที่ให้ข้อมูล ให้ความเห็นกับผู้บังคับบัญชาที่เป็นฝ่ายนโยบายในการที่จะตัดสินใจ การที่จะขับเคลื่อนประเทศ งานของกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลาย ไปในทางหนึ่งทางใด ข้อมูลเหล่านั้นเมื่อให้ไปแล้ว ก็เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายนโยบายที่จะเป็นคนตัดสินใจในการก้าวเดินต่อไปในวันข้างหน้า”

“แม้การตัดสินใจในนโยบายนั้นอาจจะไม่ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมคิดว่าเป็นความถูกต้องที่ข้าราชการประจำจะต้องถือว่าในเมื่อผู้รับผิดชอบทางนโยบายมีอยู่แล้ว มีข้อมูลแล้ว สิ่งที่มอบหมายมาไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดต่อศีลธรรม ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ในทางนโยบายเราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเราเป็นข้าราชการประจำต้องรักษาบทบาทของเรา”

ขณะที่ตลอดช่วงอายุการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย “ทหาร” กับ “นักการเมือง” มักเป็น “ตัวละคร” ที่เป็น “คู่ขัดแย้ง” กันเสมอมา “ศ.พิเศษ ธงทอง” ตีกรอบ-แบ่งแดน “พื้นที่ว่าง” ให้กับทั้งสองฝ่าย

“ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง รักษาบทบาทของเราให้อยู่ในครรลองที่ควรจะเป็น นักการเมืองก็เป็นนักการเมืองที่ดีในความหมายว่า เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน หน้าที่นักการเมืองคือการนำความเห็นของประชาชนมาขับเคลื่อนเป็นนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ นักการเมืองก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับฟังความเห็นของนักการเมืองอีกฝ่ายที่เห็นต่างหรือที่เห็นร่วม เป็นวิถีปกติ ถ้าเราจะพูดว่านักการเมืองโกง นั่นไม่ใช่หน้าที่นะ นั่นคือการทำผิดหน้าที่และเราก็ไม่ควรไปเคารพใครก็ตามที่ทำผิดหน้าที่”

“ย้อนกลับไปแล้วทหารทำหน้าที่อะไร ทหารทำหน้าที่ในฐานะผู้รักษาความมั่นคงของประเทศ แต่ความมั่นคงอาจจะกินความหมายกว้างหรือแคบในมุมมองที่แต่ละคนจะนิยาม”

บทสนทนาที่ได้คำตอบสุดท้ายของเขา คือ “ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความซื่อตรง การกระทบกระทั่งกัน การขัดแย้งกันก็ไม่น่าจะเกิด หรือถ้าเกิดก็น้อยที่สุด”