2 เมษา 2549 ตอนนั้น ไชยันต์ ไชยพร คิดอะไร ? ย้อนอ่านสัมภาษณ์เปิดใจ ฉีกบัตรเลือกตั้ง “ฉีก”ระบอบทักษิณ

หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 มีการประกาศให้เลือกตั้งในวันที่2เมษายน ด้วยบรรยากาศ ที่ไม่ได้คึกคัก เนื่งจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคขนาดกลางอื่นๆไม่ส่งผู้สมัครลง กระแสในช่วงนั้นผู้คนที่ไม่ชอบพรรคไทยรักไทยและนายกฯทักษิณ ต่างรณรงค์ให้กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนหรือโหวตโน เพื่อแสดงออก

แต่สิ่งที่สร้างความฮืฮาได้มากที่สุด คือ บบรรยากาศที่หน่วยลือกตั้งที่ 62 เขตสวนหลวง โดยหนังสือพิมพ์มติชนรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. นายไชยันต์ ไชยพร อายุ 47 ปี หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัญชีหมายเลข 96 ได้เดินเข้าคูหาลงคะแนนและกาช่องไม่เลือกใคร ก่อนเดินถือบัตรลงคะแนนออกมาให้สื่อมวลชนดูพร้อมพูดว่า “ผมขอทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง” จากนั้นจึงฉีกบัตรเลือกตั้ง และยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยเลือกตั้งเดินมาควบคุมตัวแต่โดยดี

ต่อมา นิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1338 หน้า 14 มีบทความพิเศษของ ศัลยา ประชาชาติ สัมภาษณ์เปิดใจไชยันต์ ไชยพร”  : เหนือ”นิติ”มี”รัฐศาสตร์” “ฉีก”บัตรเลือกตั้ง”ฉีก”ฉีกระบอบทักษิณ” ว่า

“…ผม นายไชยันต์ ไชยพร อายุ 47 ปี รับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มา 14 ปี มีความยึดมั่นและพร่ำสอนให้ลูกศิษย์ได้เข้าใจและหวงแหนช่วยกันรักษาสิทธิเสรีภาพของตนในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอดว่า เป็นระบอบที่ดียอมให้รัฐมีอำนาจจำกัดเท่าที่จำเป็น ส่วนการได้อำนาจและใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้นก็จะถูกตรวจสอบควบคุมโดยสาธารณะอยู่ตลอดเวลา มาบัดนี้ ระบอบทักษิณได้ยักยอกและยึดครองประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงมติรับรองผู้นำเผด็จการเท่านั้น

…รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้สิทธิพื้นฐานแก่ชนชาวไทยไว้แล้ว ในมาตรา 65 ว่า หากมีการแสวงอำนาจรัฐโดยผิดวิถีทางของรัฐธรรมนูญพาประเทศเข้าสู่เผด็จการเมื่อใด คนไทยย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสงบได้ไม่เป็นความผิด ผมจึงขอปฏิเสธหน้าที่พลเมืองที่กำหนดไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพของผม โดยฉีกบัตรเลือกตั้งของผมเองในวันนี้ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่รักษาสิทธิของผมไว้ไม่ให้ถูกบิดเบือนไปเป็นอื่นได้”

การประกาศเจตนารมณ์พร้อมกับฉีกบัตรเลือกตั้งของ “รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร” หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2549 (ตำแหน่งในขณะนั้น) หน้าหีบบัตรเลือกตั้งหน่วยเลือกตั้งที่ 62 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แขวง-เขตสวนหลวง กทม.สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพราะการที่อาจารย์สอนวิชาการเมืองการปกครอง ลงมือฉีกบัตรเลือกตั้ง เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ฝ่ากระแสระบอบทักษิณคงไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคมไทย

วันนั้นนักรัฐศาสตร์หนุ่ม ด็อกเตอร์ปริญญาเอก จึงกลายเป็นดาราที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม นักข่าวรุมตอมจองคิวสัมภาษณ์กันยาวเหยียด มีทั้งคนให้กำลังใจและคนที่วิพากษ์วิจารณ์

นับแต่วินาทีนั้นไป ชีวิตที่เคยปกติสุขขับรถออดี้ ฟังเพลงป๊อปของ “รศ.ดร.ไชยันต์” (ตำแหน่งในขณะนั้น)  ต้องเปลี่ยนไป เพราะต้องต่อสู้กับระบอบทักษิณ ขนาดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปักหลักชุมนุมมากว่า 2 เดือนยังไม่สามารถทำให้ระบอบทักษิณระคายเคืองได้เลย ยังยืนยันยึดคะแนนนิยม 16 ล้านเสียงกลับมาบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่ง

รศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่า มาถึงวันนี้คงต้องให้ตำรวจเขียนสำนวนฟ้องให้เสร็จเรียบร้อยแล้วส่งไปให้อัยการ หากอัยการสั่งฟ้องก็ไปสู้กันในศาล โดยมีทีมกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายจากนิติศาสตร์จากทั่วประเทศช่วยกันระดมสมองวางรูปแบบว่าจะต่อสู้คดีอย่างไรต่อไป

ส่วนเนื้อหาในการสู้คดีที่จะชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร จะมีอาจารย์รัฐศาสตร์ หลายท่านมาร่วมกันจัดทำเป็นเอกสารออกมาเป็นชุดๆ ในประเด็นต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นข้อแคลงใจในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นนักธุรกิจกับการเป็นผู้นำประเทศ และการยุบสภาที่ไม่ถูกต้อง

“การฉีกบัตรครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อใคร หรือทำเพื่ออะไร แต่เป็นความห่วงใยของตัวผมเอง ทำอย่างไรสิทธิหรือเสียงของผมจะไม่ถูกบิดเบือนหรือแปรปรวนไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ชัด ทำให้ไม่มั่นใจ ล่าสุด หลังจากผลการนับคะแนนเลือกตั้งเสร็จสิ้น การเลือกกาช่องไม่เลือกใครก็ยังถูกตีความว่าเป็นเพราะประชาชนอยากจะเลือกพรรคฝ่ายค้าน แต่พรรคฝ่ายค้านไม่ลงเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงเลือกกาช่องนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการรณรงค์มาตลอด ตั้งแต่มีหลังยุบสภาจนถึงการเลือกตั้งว่า ถ้าไม่เอาพรรคไทยรักไทยก็ให้กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน

ส่วนของบัตรเสียก็เช่นกัน ตามกติกาคือบัตรเสีย แต่ถ้าจะดูเนื้อหาของบัตรเสีย คือการส่งเสียงเพื่อปฏิเสธ นายกฯ ทักษิณ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ตามกติกา คนที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็น ส.ส. แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส.พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงข้างน้อยแต่ได้เป็น ส.ส. เพราะฉะนั้น การยึดกติกา โดยไม่คำนึงถึงหลักการ ปรัชญา อุดมการณ์ประชาธิปไตย

ผลที่ปรากฏคือผู้ที่ได้เป็น ส.ส. ในหลายเขต เป็นผู้ที่ได้คะแนนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด ถ้ายึดตามกฎหมายอย่างตายตัว คนเหล่านี้ก็คือผู้แทนราษฎร ตรงจุดนี่เองที่สะท้อนให้เห็นว่าความชอบธรรมกับกติกาไม่ไปด้วยกัน เป็นประชาธิปไตยตามอำเภอของนายกฯ ทักษิณ ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน” รศ.ดร.ไชยันต์ วิเคราะห์การเลือกตั้ง 2 เมษาฯ

เมื่อการเมืองเดินมาถึงจุดนี้ ดร.ไชยันต์ ในฐานะหัวหน้าภาคการปกครองมองว่า วันนี้บ้านเมืองน่าห่วง สถานการณ์จะไม่ต่างจากช่วงก่อนเลือกตั้ง จะมีคนออกมาแสดงความไม่พอใจ ออกมาประท้วงรุนแรงขึ้น ผู้คนจะแบ่งภาคกันมากขึ้น อำนาจตามกฎหมายของรัฐบาลรักษาการณ์จะมีตามกระดาษที่เขียนไว้ แต่อำนาจความชอบธรรมที่มีคนเชื่อถือมีคนยอมปฏิบัติตามนั้นจะลดน้อยลง ความตึงเคียดจะเพิ่มมากขึ้น สังคมไทยจะเดินไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “สุญญากาศทางอำนาจการเมือง”

คนไทยจะลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตนเองคืน สิทธิในการปกป้องดูแลตัวเอง ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเองเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ในที่สุดอารยะขัดขืนก็อาจจะต้องเดินไปถึงจุดที่รุนแรง ดังเช่นที่ อาจารย์วสิษฐ เดชกุญชร เขียนบทความไว้ในมติชนว่า ถึงคราวที่สังคมไทยอาจจะต้องเดินไปสู่การปฏิวัติ

ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ระบอบทักษิณตามหลักปรัชญาทฤษฎีการเมืองเรียกว่า ระบอบที่ผู้ปกครองบ้านเมืองใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะจะมีภาพของอัศวินม้าขาว กับภาพผู้ปกครองที่ชั่วช้าเลวทรามและโหดร้าย ควบคู่กันไป ไม่ได้เป็นเผด็จการที่มีแต่กดขี่ผู้คนเหมือนกับเผด็จการธรรมดา แต่ทรราชจะมี 2 หน้า เพราะฉะนั้น จึงมีฐานของคนที่ชื่นชอบ และคนที่ไม่ชอบ เมื่อสังคมใด เข้าสู่สภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ แล้วกลไกการแก้ไขปัญหาที่เป็นกลไกตามปกตินั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะกลายเป็นวิกฤตที่รุนแรงมาก ผู้คนจะเริ่มท้อแท้และถวิลหาใครสักคนที่จะขึ้นมามีอำนาจในการที่จะจัดแจงเรื่องทุกอย่างให้เรียบร้อย เป็นเรื่องของจิตวิทยาของมนุษย์

เมื่อนำเงื่อนไขเหล่านี้มาจับวิกฤตเมืองไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยเริ่มก่อตั้ง ประกอบกับนายกฯ ทักษิณมีภาพลักษณ์ของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทุกคนก็คิดว่าเมื่อนายกฯ ทักษิณทำให้บริษัทของตัวเองรวยได้ขนาดนั้นก็น่าจะทำให้ประเทศชาติร่ำรวยขึ้นมาได้ และนายกฯ ทักษิณยังเป็นด็อกเตอร์จบจากเมืองนอก เคยผ่านการเรียนจากโรงเรียนนายร้อยมีเครือข่ายกับตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และยังมีภาพของอดีตสมาชิกพรรคพลังธรรมที่ใส ซื่อ บริสุทธิ์ ติดอยู่ด้วย ทั้งหมดจึงเป็นคำตอบที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งต้นปี 2544

สิ่งเหล่านี้คือแรงขับที่ทำให้นายกฯ ทักษิณทำอะไรต่างๆ โดยคิดว่าคือความชอบธรรม เมื่อผนวกเข้ากับความเป็นนักการตลาด นักธุรกิจที่ชอบใช้นโยบายประชานิยมเลี้ยงไข้รากหญ้าไปเรื่อยๆ คะแนนนิยมก็มากขึ้น ในที่สุด เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง สัญชาตญาณทรราชก็ออกมา นายกฯ ทักษิณรู้ว่าฐานเสียงคือคนส่วนใหญ่ที่จะทำให้เขาคงอยู่ได้ จึงใช้วิธีการโปรยเงิน มีนโยบายที่ไปเตะความรู้สึกของคนรากหญ้าทั้งหลายตลอดเวลา ประชาชนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้นายกฯ ทักษิณเป็นผู้ปกครองประเทศที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ส่วนจะเต็มตัวหรือไม่นั้นไม่รู้

นักรัฐศาสตร์หนุ่มกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์จุดจบของผู้นำที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจมีอยู่ 3 อย่าง คือ ป่วยตาย แก่ตาย หรือไม่ก็ถูกคนใกล้ชิดทรยศแล้วฆ่าทิ้ง ด้วยเหตุนี้สังคมไทยจึงต้องพบความยากลำบากในการที่จะโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” เช่นปัจจุบัน