“มุน แจ อิน” จากนักศึกษาต้านระบอบทหาร-ทนายความสิทธิฯ สู่การเป็นปธน.เกาหลีใต้คนใหม่

South Korean presidential candidate Moon Jae-in (C) of the Democratic Party reacts as he watches screens showing the result of exit polls of the presidential election at a hall of the National Assembly in Seoul on May 9, 2017. The projected winner of South Korea's presidential election is a former special forces soldier, pro-democracy activist and human rights lawyer. / AFP PHOTO / JUNG Yeon-Je

แม้ต้องพ่ายแพ้ให้กับนางสาวปาร์ค กึน เฮ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2012 แต่ตลอดการบริหารประเทศของนางสาวปาร์ค ที่มีแต่ข่าวปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน จุดชนวนการลุกฮือประท้วงของประชาชน จนกระทั่งนางสาวปาร์คถูกศาลตัดสินให้ลงจากตำแหน่ง เกาหลีใต้ก็เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้ นายมุน แจ อิน ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน สามารถชนะการเลือกตั้งได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ได้สำเร็จพร้อมกับความคาดหวังของประชาชนที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

นายมุน ที่ตอนนี้มีอายุ 64 ปี เป็นลูกคนโตของครอบครัวที่ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือในช่วงการล่าถอยจากเมืองฮัมฮุงระหว่างสงครามเกาหลี เกิดเมื่อเดือนมกราคม ปี 1953 ที่เมืองโกเจ ก่อนย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองปูซาน ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนคยองนัม และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคยองฮีในสาขากฎหมาย แต่ก็ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยและถูกจับฐานจัดตั้งกลุ่มนักศึกษาต่อต้านระบอบทหารของประธานาธิบดีปาร์ค จุง ฮี บิดาของปาร์ค กึน เฮ และยังถูกเกณฑ์ทหารเข้าร่วมกับกองทัพอยู่ในหน่วยรบพิเศษ ซึ่งนายมุนได้ร่วมภารกิจจากเหตุฆาตกรรมทหารสหรัฐฯด้วยขวานในเขตปลอดทหารเมื่อปี 1976

 

หลังถูกปลดประจำการ นายมุนสอบได้เนติบัณฑิตเป็นที่ 2 ของชั้น แต่ก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการรัฐได้เนื่องจากมีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลทหาร ทำให้นายมุนหันเหเป็นทนายความแทน และในช่วงทำงานเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน เขาได้ร่วมงานกับอดีตประธานาธิบดีโรมุนเฮียวซึ่งต่อมา นายมุนเป็นหัวหน้าทีมหาเสียงจนนายโรมุนเฮียวชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และนายมุนทำงานเป็นที่ปรึกษาอยู่เคียงข้างนายโรจนถึงวันที่นายโรกระทำอัตวินิบาตกรรม

 

ต่อมาในปี 2012 นายมุนเบนเข็มสู่การเมือง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนทัดเทียมกับนางสาวปาร์ค กึน เฮเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง นายมุนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติและเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปไตยเกาหลี จนต่อมาได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งครั้งนั้นต้องพ่ายแพ้ต่อนางสาวปาร์คไป

 

แต่โอกาสกลับมาที่นายมุนอีกครั้งในช่วงการเมืองในประเทศที่ตึงเครียด ทำให้คะแนนเสียงเทให้กับนายมุนชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 41.4 เปอร์เซ็น

 

นายมุนระบุว่าเขาจะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศออกจากยุคสมัยของข่าวอื้อฉาวของน.ส.ปาร์ค โดยกล่าวระหว่างไปลงคะแนนเสียงว่าไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเขาและพรรคของเขา แต่เชื่อว่าประชาชนเกาหลีใต้ก็ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลอย่างมากด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ณ ชั่วโมงก่อนที่จะประกาศผลชัยชนะ นายมุนกล่าวว่า ตนขอมอบทั้งร่างกายและจิตวิญญาณอย่างถึงที่สุด ทั้งตัวเขาและพรรคของเขาได้ทุ่มเทความพยายามทั้งหมดด้วยสำนึกของความสิ้นหวัง แต่เรายังรู้สึกด้วยถึงแรงปรารถนาอันยิ่งใหญ่จากปวงชนที่จะสร้างประเทศชาติของเราให้กลับมาภาคภูมิอีกครั้ง

 

ด้วยแนวคิดแบบสายกลาง นายมุนจึงมีท่าทีต่อเกาหลีเหนือที่เป็นบวกกว่าสมัยนางสาวปาร์ค เช่น การเปิดเขตอุตสาหกรรมแคซองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือกันระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้อีกครั้งหลังถูกปิดตัวลงชั่วคราว และในช่วงความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี นายมุนมีนโยบายสานสัมพันธ์กับจีน คัดค้านการติดตั้งระบบมิสไซล์ต่อต้านขีปนาวุธหรือ “ทาด” และยุติการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯเพื่อหวังจะยับยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

 

ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า นายมุนจะสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศให้ชาวเกาหลีใต้ได้อย่างที่คาดหวังและลดความตึงเครียดของข้อพิพาทบนคาบสมุทรได้หรือไม่

อ้างอิงจาก: มติชนออนไลน์ และเว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน