E-DUANG : อารมณ์”อุทยานราชภักดิ์”โยงมา”เรือดำน้ำ”

ข้อสังเกตต่อ “เรือดำน้ำ” อันมาจากองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) ที่ว่าความหวาดระแวงสัมพันธ์กับ “อดีต” มีความแหลมคม

แหลมคมเพราะเป็นอดีตของ “อุทยานราชภักดิ์”

แหลมคมเพราะเป็นอดีตของ “ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา” และเป็นอดีตของ “อโลฮาฮาวาย”

ความรู้สึกในแต่ละ “กรณี” นี้ดำเนินไปในลักษณะ “สะสม”

จึงทำให้กรณีของ “เรือดำน้ำ” กลายเป็นเรื่องในแบบเดียวกันกับ “อุทยานราชภักดิ์”

เข้าทำนอง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

เข้าลักษณะอย่างที่สรุปรวมเป็นศัพท์แสงออกมาว่า “บัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟคท์”

ไม่ว่าจะมองในเชิง “วิทยาศาสตร์” ไม่ว่าจะมองในเชิง “ปรัชญา” ก็จะประจักษ์ในความสัมพันธ์ ยึดโยง เกาะเกี่ยว ระหว่างกัน

“ปริมาณ” พัฒนาไปสู่ “คุณภาพ”

 

หากสังเกตการต้มน้ำ ก็จะเข้าใจ หากสังเกตการที่เมฆกลายเป็นฝนก็จะเข้าใจ

เหล่านี้ล้วนเริ่มจาก “ปริมาณ”

นั่นก็คือ เมื่อต้มน้ำได้อุณหภูมิอันเหมาะสม น้ำก็จะค่อยๆกลายเป็นไอน้ำ ระเหยไปในอากาศ

เมื่อเมฆดำรงอยู่ในอุณหภูมิอันเหมาะสม เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เมฆก็จะคลายตัวแล้วกลายเป็นฝนตกลงมา

สถานการณ์ทาง “การเมือง” สถานการณ์ทาง “สังคม” ก็ดำเนินไปเหมือนกับน้ำกลายเป็นไอ เมฆกลายเป็นฝน

เมื่ออยู่ใน “อุณหภูมิ” อันเหมาะสม

 

อย่าหงุดหงิดไปเลยกับ “อารมณ์” ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากกรณีของ “เรือดำน้ำ”

เพราะมันสัมพันธ์กับ “อุทยานราชภักดิ์”

เพราะมันสัมพันธ์กับ “ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา” เพราะมันสัมพันธ์กับ “อโลฮา ฮาวาย”

หรือแม้กระทั่ง “เรือเหาะ” และ “จีที 200”

ปริมาณจาก “อดีต” สะสมและรวมศูนย์ไปยัง “เรือดำน้ำ”