สุรชาติ บำรุงสุข | ยุทธศาสตร์=ขึ้นเงินเดือน!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ในขณะที่กำลังมีข้อถกเถียงในสังคมไทยถึงการปลดล๊อก หรือมีคำถามเรื่องการยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน หรือไม่นั้น เรากลับเห็นข่าวอีกชิ้นที่ที่แทรกเข้ามาอย่างน่าฉงนใจ!

มีรายงานจากสำนักข่าวอิศราในช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า “ครม. ไฟเขียวปรับรูปแบบรับเบี้ยประชุม กก. ปฏิรูปประเทศ-คณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จากรายครั้งเป็นรายเดือน พร้อมขึ้นค่าตอบแทนเพิ่ม 20% ส่วนบอร์ดยุทธศาสตร์ชาติรับค่าตอบแทนคงเดิม” (ดูรายละเอียดใน “ขึ้นเบี้ยประชุม 20%- รับเป็นรายเดือน ปรับค่าตอบแทน กก. ปฏิรูปประเทศ-คณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ,” สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่เวลา 17:46 น. วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563)

ว่าที่จริงแล้ว การตัดสินใจของรัฐบาลเกิดขึ้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมาแล้ว จากรายงานของสำนักข่าวอิศรา จะเห็นได้ว่า มีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

1) ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้เสนอ

2) ให้ สศช. เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ

3) ให้ สศช. จัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

4) ให้ปรับปรุงค่าตอบแทนของคณะกรรมการตาม พรบ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 จากรายครั้งของการประชุมเป็นรายเดือน และให้ค่าตอบแทนเพิ่มจากเดิมร้อยละ 20

ข้อสังเกต

จากรายงานนี้ ทำให้เราได้ทราบว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพิ่งมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน นี้เอง ทั้งที่หากย้อนกลับไปพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า พรบ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 (และกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในวันถัดมา) และตัวยุทธศาสตร์ชาติเองได้จัดทำเสร็จเรียบร้อย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 และรัฐสภามีมติรับในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ดังที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 8 ตุลาคม 2561 และกรอบเวลาของยุทธศาสตร์ชาตินี้อยู่ระหว่าง พศ. 2561-2580

จึงน่าสนใจอย่างมากว่า “กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม และรัฐสภาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 นั้น เพิ่งจะเริ่มมีการประชุม และเมื่อประชุมครั้งแรกเสร็จ สิ่งที่นำเสนอให้กับ ครม. กลับเป็นเพียงการเริ่มต้นด้วยการให้ สศช. เป็นเจ้าภาพ แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญกลับเป็นเรื่องการเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนจาก “รายครั้ง” เป็น “รายเดือน” และเพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น

ค่าตอบแทนของ “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งปรากฏในรายงานของสำนักข่าวอิศรา ได้แก่

– ประธานคณะกรรมการ 12,000 บาท
– รองประธาน 9,600 บาท
– กรรมการ 9,600 บาท
– เลขานุการ 4,800 บาท
– ผู้ช่วยเลขา 2,400 บาท

– ในอีกส่วนได้แก่ ค่าตอบแทนสำหรับคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็มีค่าตอบแทนด้วยเช่นกัน (ดูค่าตอบแทนส่วนนี้ในรายงานของสำนักข่าวอิศรา ที่อ้างถึงในข้างต้น)

– คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งหมด 6 คณะ รวม 70 คน

[ดูรายชื่อของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 6 คณะ ใน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 28 กันยายน 2560]

นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนที่เป็นเสมือนองค์กรคู่ขนานได้แก่ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ซึ่งมีค่าตอบแทนดังนี้

– ประธานคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะ 9,000 บาท
– รองประธาน 9,000 บาท
– กรรมการ 9,000 บาท
– เลขานุการ 4,500 บาท
– ผู้ช่วยเลขา 2,250 บาท

– ในอีกส่วนยังมีทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ และคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะ (ดูค่าตอบแทนของส่วนนี้ในรายของสำนักข่าวอิศรา ที่อ้างถึงในข้างต้น)

– คณะกรรมการมีทั้งหมด 11 ด้าน จำนวน 120 คน

[ดูรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2560]

ข้อพิจารณา

ในสถานการณ์ที่โลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งใหญ่ตั้วแต่ต้นปี 2563 ทำให้เกิดคำถามในทางการเมืองอย่างมากว่า ประเทศไทยควรคง “ยุทธศาสตร์ชาติ” (2561-2580) ไว้ต่อไปเพียงใด เพราะยุทธศาสตร์นี้ไม่เพียงถูกกำหนดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองของรัฐบาลทหารในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยความหวังว่า ยุทธศาสตร์นี้จะเป็น “มาตรการบังคับ” ให้รัฐบาลในอนาคตจากนี้จนถึงปี 2580 ต้องเดินไปในทิศทางที่คณะรัฐประหารกำหนดขึ้นเป็นเวลานานถึง 20 ปี

ยุทธศาสตร์ที่กำหนดเป็นกฎหมายจึงไม่เพียงแต่จะไม่มี “ความยืดหยุ่น” ที่จะสามารถปรับตัวไปกับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเท่านั้น หากแต่เมื่อพิจารณาสภาวะแวดล้อมทั้งจากเงื่อนไขภายนอกและภายในของไทยแล้ว การตรึงยุทธศาสตร์ไว้กับ “โลกเก่า” ของเงื่อนไขสถานการณ์เดิม จะทำให้ยุทธศาสตร์นี้ไม่สามารถตอบสนองต่อการเป็นความหวังที่จะพาประเทศไทยเดินไปในอนาคตของยุคหลังโควิดได้เลย

ในกรณีนี้หลายฝ่ายที่ติดตามเรื่องดังกล่าว จึงมีความเห็นอยู่ร่วมกันพอสมควรว่า ยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหารฉบับนี้น่าจะเป็นความ “ไร้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์” ในตัวเอง และที่สำคัญก็คือ เป็นสิ่งที่ “ไม่ตอบสนองต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์” ที่แท้จริง เพราะขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในมิติต่างๆ จึงต้องการการปรับทิศทางขนาดใหญ่เช่นกันด้วย แต่ด้วยความเป็นกฎหมาย ยุทธศาสตร์ของรัฐทหารกำลังทำหน้าที่เป็น “คอขวด” ของการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ของไทยในอนาคต

แต่ในอีกด้านยุทธศาสตร์นี้ทำหน้าที่เป็น “เครื่องตอบแทน” แก่บรรดาผู้นำคณะรัฐประหาร 2557 และบรรดาผู้สนับสนุนการยึดอำนาจที่อยู่ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ตำแหน่งในกรรมการทั้งหลายจึงถูกจัดสรรให้แก่คนในกลุ่มดังกล่าวด้วยหลักประกันว่า พวกเขาจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างยาวนาน และถ้าพวกเขาอายุยืนยาว 20 ปีไปจนถึงปี 2580 เขาจะได้รับเงินตอบแทนจากตำแหน่งดังกล่าว

ความน่าอดสูทางยุทธศาสตร์!

วันนี้คณะรัฐมนตรีอาจจะลืมไปว่า สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังถดถอย ธุรกิจหลายส่วนอยู่ในภาวะล้มละลาย คนจนและคนตกงานขยายปริมาณเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลกลับตัดสินใจขึ้นค่าตอบแทนให้แก่ “พวกพ้องของคณะรัฐประหาร” อย่างน่าอดสูใจ … สิ่งที่รัฐบาลควรทำวันนี้คือ การยุติการจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการเหล่านี้ เพราะผลประโยชน์ที่ประเทศในภาวะวิกฤตจะได้จากกรรรมการทั้งสองนั้น แทบมองไม่เห็นเลย สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ฉบับนี้กลายเป็น”ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์” ของกลุ่มผู้มีอำนาจและพวกพ้อง และเป็นสิ่งที่มิได้ถูกออกแบบให้เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นแนวทางในการบริหารอนาคตของประเทศแต่อย่างใด

วันก่อนผมอาจจะพอมีความเชื่อเหลืออยู่บ้างว่า เราน่าจะพอ “ปรับรื้อ” ยุทธศาสตร์ 20 ปีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ของประเทศไทยในยุคหลังโควิดได้บ้าง แต่วันนี้ผมรู้สึกชัดเจนแล้วว่า การคงยุทธศาสตร์ที่ “ไร้ยุทธศาสตร์” และขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ “ไร้คุณค่าทางยุทธศาสตร์” ไว้นั้น น่าจะเป็น “ความไร้เหตุผลทางยุทธศาสตร์” ในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะการคงสิ่งที่ “ไม่มีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์” เช่นนี้ไว้ มีแต่จะเป็นภาระและอุปสรรคต่ออนาคตของประเทศอย่างแน่นอน!