เมื่อสิ้น “สก อาน” ความสูญเสียครั้งใหญ่ของ ฮุน เซน และ กัมพูชา

การเสียชีวิตของ “สก อาน” หนึ่งในหลายรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของ ฮุน เซน เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาระหว่างเข้ารับรักษาอาการป่วยเรื้อรังที่โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะอายุ 66 ปี

ถูกระบุตรงกันจากหลายฝ่ายว่า เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของรัฐบาลและพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) รวมไปถึงตัวของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน อีกด้วย

ก่อนหน้าเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น “สมเด็จ” ให้กับ สก อาน ยกฐานะขึ้นเป็น “สมเด็จวิบูลปัญญา”

ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนักการเมืองผู้ล่วงลับผู้นี้ เนื่องเพราะจนถึงบัดนี้ บรรดาศักดิ์สมเด็จในกัมพูชา มีเพียง 7 รายเท่านั้นเอง

สก อาน เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1950 พื้นเพเป็นชาวอำเภอคีรีวงศ์ จังหวัดตาแก้ว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

ที่น่าสนใจก็คือ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมาทางด้านธรณีวิทยา สังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ ก่อนศึกษาต่อจนจบปริญญาโททางด้านครุศาสตร์

แต่กลับเลือกที่จะทำงานเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงต่างประเทศ

ภายหลังจึงเข้าศึกษาต่อทางด้านบริหารรัฐกิจจากสำนักบริหารรัฐกิจแห่งชาติจนสำเร็จอีกแขนง

ที่กระทรวงต่างประเทศนี่เองที่ สก อาน ได้พบและสนิทชิดเชื้อกับ ฮุน เซน เริ่มจากตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีในปี 1981 ก่อนที่จะกลายเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำกระทรวงในปี 1982 ในช่วงเวลาที่ ฮุน เซน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวง

ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีชื่อ เฮง สัมริน ที่ในเวลานี้ถูก ฮุน เซน ลดบทบาทลงเหลือเพียงตำแหน่งประธานรัฐสภาเท่านั้น

ปี 1985 ฮุน เซน ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก (และไม่เคยหลุดจากตำแหน่งจนถึงบัดนี้) สก อาน ถูกส่งไปทำหน้าที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ก่อนที่จะถูก ฮุน เซน เรียกตัวกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศในปี 1988

และได้ชื่อว่าเป็น “มือขวา” ของ ฮุน เซน มานับตั้งแต่บัดนั้น!

ความสนิทสนมและไว้วางใจระหว่าง ฮุน เซน กับ สก อาน นั้นจัดอยู่ในระดับ “มองหน้าก็รู้ใจ” พิสูจน์ได้จากการกำหนดตำแหน่งใหม่ขึ้นมาในคณะรัฐบาลสำหรับตัว สก อาน โดยเฉพาะ เรียกว่าตำแหน่ง “ประธานสภามนตรี” ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของสมาชิกที่เป็น “รัฐมนตรี” ทั้งหมด ซึ่งลงเอยด้วยการที่คณะกรรมการพิเศษและสามัญหลายต่อหลายคณะถูกดึงเข้ามาอยู่ใต้อำนาจของ สก อาน

ตั้งแต่องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติ, องค์การอัปสรา ซึ่งควบคุมดูแลกิจการของอุทยานโบราณคดีอังกอร์ทั้งหมด เรื่อยไปจนถึงราชบัณฑิตยสภา และคณะกรรมการการลงทุนแห่งรัฐในวิสาหกิจการยาง หรือการทำหน้าที่เป็นประธาน “องค์ชุมนุมชำระวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา” หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ศาลคดีเขมรแดง” เป็นต้น

ซน ไช ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเคยพูดถึง สก อาน ไว้เมื่อปี 2004 ว่า เป็นคนควบคุมทุกภาคส่วนของรัฐบาล ทุกการลงทุน ทุกการตัดสินใจ ถ้าหาก สก อาน ไม่พยักหน้าเห็นพ้อง ไม่มีวันเป็นไปได้

อีกบางคนค่อนแคะแกมฉงนว่า เขาทำงานให้กับรัฐบาลได้ราวกับ “เทพ 48 กร” ยังไงยังงั้น

ยิ่งนานวัน ความใกล้ชิด ความไว้วางใจระหว่างคนทั้ง 2 ยิ่งทับซ้อนมากขึ้น

จากคนต่อคน ลุกลามไปถึงคนใกล้ชิด แอนนี สก อาน ทำหน้าที่รองประธานสภากาชาดกัมพูชาคู่กับประธานอย่าง บุน รานี ภริยานายกรัฐมนตรี

ฮุน มาลี ลูกสาวคนสุดท้องของ ฮุน เซน แต่งงานกับ สก ประยุท ลูกชาย สก อาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจระดับบิ๊กที่สุดของประเทศ

สก โสเกน ลูกชายอีกคนเพิ่งก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว แต่งงานกับลูกสาวของ จัม ประสิท รัฐมนตรีอุตสาหกรรม

สก สังวร ก้าวขึ้นเป็นรองประธานองค์การอัปสรา และ สก โสกัน ลูกชายอีกคน กลายเป็น ส.ส. ตัวแทนของจังหวัดตาแก้วในสังกัดพรรคของ ฮุน เซน เป็นต้น

ผลงานระดับสุดยอดของ สก อาน มีอยู่มากมาย ตั้งแต่การเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจาทำความตกลงจนบรรลุผลเป็น ความตกลงสันติภาพปารีส 1991

เรื่อยไปจนถึงการใช้องค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การการประชุมนานาชาติของพรรคการเมืองในเอเชีย (ไอซีเอพีพี) ที่ สก อาน เป็นรองประธานอยู่ กับองค์การพรรคการเมืองประชาธิปไตยสายกลางสากลแห่งเอเชียแปซิฟิก (ซีเอพีดีไอ) ให้เข้ามารับรองความโปร่งใสชอบธรรมของชัยชนะของซีพีพีเมื่อปี 2013 จนเป็นผลสำเร็จ ท่ามกลางข้อครหามากมาย

แต่ผลงานที่ทำให้คนไทยรู้จักและไม่ลืม สก อาน ก็คือ การผลักดันจนปราสาทพระวิหารกลายเป็นมรดกโลกจนเป็นผลสำเร็จนั่นเอง