ไทยแลนด์ “4.0” ส่วนเริ่มของ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” จะไปทางไหน

AFP PHOTO / GIUSEPPE CACACE

ยาแรงที่ “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พยายามฉีดให้ประเทศเพื่อพัฒนาสู่ความกินดีอยู่ดีและทันสมัยของประชาชนชาวไทย เรียกว่า “นโยบายไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งน่าจะเป็นส่วนเริ่มของ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ที่ผู้นำประเทศประกาศใช้จัดการประเทศนับจากนี้

เป็น “ยุทธศาสตร์ที่ปฏิเสธไม่ได้” เพราะมีกฎหมายเขียนขึ้นมาบังคับให้ทุกรัฐบาลต้องดำเนินการ โทษของการฝ่าฝืนถึงขั้น “รัฐบาลต้องล้มไป”

“ไทยแลนด์ 4.0” ถูกขับเคลื่อนอย่างเร่งร้อน ด้วยการแบ่งประเทศเป็น “18 กลุ่มจังหวัด” แล้วเท “งบประมาณ” เบื้องต้นรวม “28,000 บาท” ลงไป

ภาพแห่งความหวังว่าคนไทยจะก้าวสู่ “สังคมยุค 4.0” ภายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 คือจากนี้ไปอีก 5 ปี

 

ยุค 1.0 เป็นสังคมเกษตร 2.0 เป็นอุตสาหกรรม เครื่องอุปโภคบริโภค 3.0 เป็นอุตสาหกรรมหนัก

สำหรับ 4.0 เป็นอุตสาหกรรม หรือกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก

นายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า

“ถ้าท่านมีโทรศัพท์ แต่ยังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐานก็ยังคงเป็น “คนไทย 2.0” แต่ถ้าหากสามารถใช้ “สมาร์ตโฟน” ได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อ “อินเตอร์เน็ต” ในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ท่านอาจได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 3.0” ยิ่งกว่านั้นหากท่านสามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วท่านรู้สึกว่า “ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น” เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้ท่านได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 4.0″”

วันนี้แน่นอนว่าโทรศัพท์ในมือของคนไทยส่วนใหญ่เป็น “สมาร์ตโฟน”

คำถามก็คือ มันถูกใช้งานอย่างไร

 

คําตอบจาก “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือ” พบว่าร้อยละ 85.61 ยังใช้เพื่อพูดคุยติดต่อกับคนที่รู้จัก ร้อยละ 63.90 ใช้โพสต์ข้อความ/รูปภาพ ร้อยละ 55.79 ใช้ติดตามข่าวสารทั่วไป ร้อยละ 55.00 ใช้หาข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล ร้อยละ 47.61 ใช้ส่งข้อความ เช็กอี-เมล ร้อยละ 36.95 ใช้ติดตามข่าวสารสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ร้อยละ 30.48 เล่นเกม ร้อยละ 15.83 ร่วมกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ เช่น อ่านและแสดงความเห็น

มีร้อยละ 15.76 เท่านั้นที่ใช้ติดตามข่าวสารของสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ เช่น การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การจองบริการต่างๆ

 

ที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวไว้ว่า การขับเคลื่อนประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น ไม่ได้สำคัญที่ว่า “ท่านมีอะไร?” แต่สิ่งสำคัญคือ “ท่านใช้สิ่งที่ท่านมี อย่างไร? ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” โดยเฉพาะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

สิ่งที่สะท้อนจากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ที่ภาพการใช้สมาร์ตโฟนของคนไทยยุคนี้ น่าจะเป็นคำถามต่อการทุ่มเทงบประมาณเพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าว

เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นสากลว่า

ทุกการพัฒนาปัจจัยสำคัญที่สุดคืด “คุณภาพของคน”

ไม่ว่าเป้าหมายการพัฒนาจะเป็นอะไรก็ตาม แต่จุดเริ่มต้นจะต้องเป็นการเตรียมคนให้เหมาะกับการไปสู่เป้าหมายนั้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ชวนวิเคราะห์อย่างยิ่งว่า งบประมาณที่เทลงกลุ่มจังหวัด เพื่อผลักดัน “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น เป็นงบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนมากน้อยแค่ไหน

รายละเอียดของโครงการต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ฟ้องว่า “นโยบายดี” แล้ว แผนงานสอดคล้องกับการนำไปสู่เป้าหมายหรือไม่

หรือว่า “จะไปเชียงใหม่” แต่ขับรถหันหัวลง “ถนนสายเพชรเกษม”

เป็นเรื่องที่น่าหารายละเอียดมาดูกันไม่น้อย