E-DUANG : “นรก” คือคนอื่น ในร่มเงาแห่ง “ปรองดอง”

ยิ่งบรรยากาศแห่ง “ปรองดอง” แผ่ผาย ขยายขอบเขต ออกไปมากเพียงใด ยิ่งทำให้เข้าใจ “คน” มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นคนซึ่งอยู่ใน “คสช.
ไม่ว่าจะเป็นคนซึ่งอยู่ในเครือข่ายและแวดล้อมอยู่โดยรอบกับ “คสช.” และ”รัฐบาล”
ประเภทที่เรียกว่า “ไอ้ห้อย ไอ้โหน”
ไม่ว่าจะเป็นซึ่งอยู่ในแวดวง “การเมือง” ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งจากพรรคเพื่อไทย
แม้กระทั่งในการเมือง “ภาคประชาชน”
ไม่ว่าจะมาจาก “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะมาจาก “กปปส.” ไม่ว่าจะมาจาก “นปช.”
ทำให้บทสรุปที่ว่า “รู้เขา รู้เรา” มีความแจ่มชัด
กระนั้น รูปธรรม 1 ซึ่งเผยแสดงออกมาอย่างโดดเด่นเป็นสง่ายิ่งกลับเป็นประโยค 1 ของท่าน “ซาร์ต” แห่งฝรั่งเศส
“นรก คือ คนอื่น”

คำๆ นี้ปรากฏขึ้นอย่างชวนให้ “ตีความ” และอย่างชวนให้ทำ “ความเข้าใจ” อย่างจริงจัง
หลายคนคงเคยได้ยินจากปากของ “สุ-ซาร์ต”
หากไม่ได้มาอยู่ในบรรยากาศแห่ง “ปรองดอง” ภายใต้ม่านคลุมแห่ง “วันวาเลนไทน์” คงไม่เข้าใจ
ลองฟัง นายถาวร เสนเนียม พูดก็จะ “บรรลุ”
ยิ่งฟังการร่ายยาวเหยียดจากปากของทนายความระดับ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ยิ่งจะต้อง “ซาโตริ”
ฟังแล้วก็เกิดนัยประหวัดถึงบทสรุปต่อ “ประชาธิปัตย์”
อย่าคิดว่าเป็นบทสรุปที่ว่า “ดีแต่พูด” อันแกนนำผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งเคยยกขึ้นใน “วันแรงงาน” หากแต่น่าจะเป็นวลีอมตะที่ว่า
“ดีเข้าตัว ชั่วโยนให้คนอื่น” มากกว่า
บทสรุปนี้กลายเป็นคำอรรถาธิบายบทสรุปของ “ซาร์ต” แห่งฝรั่งเศสที่ว่า
“นรก คือ คนอื่น” ได้อย่างยอดเยี่ยม

ไม่ว่าเจตนาของผู้พยายามโยน “นรก” ให้กับคนอื่นอันเป็นฝ่ายตรง กันข้ามทางการเมืองอย่างไร
แต่ “ผล” ก็ไม่จำกัดเพียง”เป้าหมาย”นั้นเพราะแรงสะเทือนจากคำว่า “ปรองดอง” นั้นดำเนินไปอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางในขณะเดียวกัน ปรากฏทั้ง “รายรับ” และ”รายจ่าย”
รายรับอาจเป็นอย่างที่ อัลแบร์ กามูส์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเหมือนกับ “น้ำยาบ้วนปาก” คือ ทำให้ปากหอม
กระนั้น รายจ่ายกลับทำให้เกิดการนำเอาคำ “ปรองดอง” มาประสานเข้ากับแต่ละ “กระบวนท่า” ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบและทำให้เกิดการ “รู้เขา รู้เรา” ในทางการเมือง
ไม่เพียงแต่ “ดวงตา” คือประตูแห่ง “หัวใจ” หาก “คำพูด” ย่อมโยงไปยังตัวตนเจ้าของคำพูดนั้นด้วยว่าเป็นคนอย่างไร