เชิงบันไดทำเนียบ : ‘บิ๊กตู่’ ปาดเหงื่อปม ‘ถวายสัตย์ฯ’ – ชะตา ‘บิ๊กป้อม’ ในวัน ‘ถูกตัดปีก’

ถือเป็นเรื่องใหญ่กับกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตาม รธน.60 ม.161 จนทำให้ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กล่าวอมตะวาจา “ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ที่มาประโยคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ60ปีก่อน ที่เคยกล่าวว่า “ข้าพเข้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2502 ที่ จอมพลสฤษดิ์ ขึ้นเป็น นายกฯ
.
การออกมากล่าวเช่นนี้ พร้อมกับการกล่าวขอโทษ ครม. ทำให้เกิดการตีความไปต่างๆนาๆ โดยเฉพาะที่มีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกหรือไม่ แต่เป็นที่เชื่อกันว่า ‘ไม่ลาออก’ เพราะไม่เช่นนั้น ครม. ก็จะต้องพ้นสภาพไปด้วย ยิ่งทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย

ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ต้องออกมาชี้แจงผ่าน ‘ดร.แหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ โฆษกรัฐบาล ตั้งแต่เย็นวันนั้น(8ส.ค.)ทันที โดยวันต่อมา (9ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันว่ายังคงเป็น นายกฯ เช่นเดิม ท่ามกลางการสมมุติฐานแนวทางแก้ไขว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
.
“ผมยืนยันวันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะผมเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ตรงนี้ ผมไม่ไปไหน ไม่ต้องเป็นห่วง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
.
พร้อมกันนี้ก็เกิดคำถามว่า การที่ ‘บิ๊กตู่’ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น เกิดโดยตั้งใจหรือผิดพลาด ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ที่ ‘บิ๊กตู่’ เท่านั้นที่จะให้คำตอบได้ชัดเจน แม้จะแง้มคำตอบมาบ้างแล้ว
.
“เดี๋ยวคงเรียบร้อยนะ เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผิด เขาดูกันที่เจตนา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น การทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความถึงกรณีที่เกิดขึ้น เป็นต้น เพราะมีการมองว่าหากการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ ครม.ไม่สมบูรณ์ อาจทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน หลัง 16ก.ค.เป็นต้นมานั้น เป็น’โมฆะ’ได้ด้วย
.
จึงต้องจับตาว่า ‘ทางแก้ไข’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุนั้นปลายทางจะเป็นอย่างไร รวมทั้ง ‘ฝ่ายค้าน’ จะเดินเรื่องนี้ไปถึงจุดใด แม้จะมีเสียงจากหนึ่ง
ใน ‘แกนนำฝ่ายค้าน’ ในสภา ระบุสั้นๆ
ว่า เรื่องนี้เมื่อถึงปลายทางฝ่านค้านจะต้องยึดความเหมาะสมเป็นสำคัญ

.
ที่สำคัญเรื่องนี้มือกฎหมายระดับพระกาฬอย่าง ‘รองนายกฯวิษณุ’ ถึงกับกล่าวว่า “แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมถึงไม่ควรพูด” ที่ทำให้ถูกตีความไปอย่างมาก แม้สุดท้ายแล้ว ‘วิษณุ’ จะระบุเพียงโวหารเพื่อเลี่ยงให้สัมภาษณ์เท่านั้น
.
ด้าน ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็กลับมาให้สัมภาษณ์มากขึ้น แต่เป็นไปอย่างระมัดระวัง ก็ถูกจับตามองในสัปดาห์นี้ โดยวันที่ 11ส.ค.นี้ เป็นวันเกิด พล.อ.ประวิตร อายุครบ 74 ปี ว่าจะมีการเปิดบ้านรับอวยพรวันเกิดหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งสะท้อน ‘บารมี’ ของพล.อ.ประวิตร ได้เป็นอย่างดี

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ลดขนาดการจัดงานวันเกิดลงไปมาก ไม่มีการตั้งแถวรับอวยพร รวมทั้งเป็นการจัดงานภายในมากขึ้น หรือ ‘โลว์โปร์ไฟล์’ ลงไปมาก หนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ ดุลอำนาจในกองทัพที่เปลี่ยนไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร ไม่ได้นั่ง รมว.กลาโหม และ ประธาน ก.ตร. คุมทหาร-ตำรวจเช่นเดิม อำนาจในการจัดโผโยกย้ายทหาร ที่ถูกลดไปแล้วแต่เดิม กลับยิ่งถูกลดลงไปอีก ส่วนการจัดโผโยกย้ายตำรวจ ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ แบบเต็มมือ
.
แม้ พล.อ.ประวิตร จะออกตัวว่าเป็น ‘ผู้ช่วยนายกฯ’ ในการดูแลงานทหาร-ตร.ก็ตาม แต่อำนาจที่มีอยู่ก็เปรียบเป็น ‘อำนาจครึ่งใบ’ หรือ ‘อำนาจครึ่งเสี้ยว’ เท่านั้น
.
แม้บารมีในวงการทหาร-ตร. ของ พล.อ.ประวิตร จะลดลง แต่ยังคงมีนายทหาร-ตร. ตบเท้าอวยพรวันเกิดเช่นเดิม ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ใน ร.1 ทม.รอ. เช่นทุกปี สะท้อนบารมี ‘บิ๊กป้อม’ ที่ยังถือเป็น ‘พี่ใหญ่’ อยู่บ้าง

แต่ที่มองกันในเวลานี้คือบารมีของ พล.อ.ประวิตร จะไปทางฟากฝั่งสายการเมืองมากขึ้น นับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประวิตร ถูกจับตาเป็น ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ แม้จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมาตลอด รวมทั้งการสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็ลบคำครหาเป็น ‘ผู้มีบารมีนอกพรรค’ สยบปม ‘ครอบงำพรรค’ ไปเรียบร้อย ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก็ไม่เคยปิดประตูจะไม่นั่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ จึงต้องมาจับตาบทบาท ‘บิ๊กป้อม’ ในด้านการเมืองแทน
.
ทั้งหมดนี้เท่ากับว่า ‘2ป.บูรพาพยัคฆ์’ ยังคงคุมขุนพลสำคัญของประเทศ ผ่านวงการ ‘ทหาร-ตร.-การเมือง’ ที่เป็นเสาหลักสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาล