E-DUANG : ​​”โรแมนติก”ในสถานการณ์”ปรองดอง”

แฟ้มภาพ - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พลันที่คำว่า “ปรองดอง” ปรากฏตัวอย่างคึกคักในพื้นที่สาธารณะ
ก็สามารถสัมผัสได้
1 ความรู้สึกในเชิง “โรแมนติก”
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งตามมาโดยอัตโนมัติในสถานการณ์เดียวกัน คือ
ความรู้สึกในเชิง “เรียลลิสติก”
เห็นได้จากท่าทีอันเปี่ยมด้วยความหวังจากหลายคนทั้งที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์
“ความหวัง” นั่นแหละ “โรแมนติก”
เห็นได้จากท่าทีอันแม้จะเปี่ยมด้วยความหวังแต่ก็แฝงความไม่แน่ใจระคนไปด้วย
“ความไม่แน่ใจ” นั่นแหละโน้มไปทาง”เรียลลิสติก”
น่าสนใจก็ตรงที่ “นักการเมือง” ทั้งหลายต่างมี “โรแมนติก”และ “เรียลลิสติก”เผยแสดงออกมาอย่างมิได้นัดหมาย
ล้วนมี “ความฝัน” แม้ไม่แน่ว่าฝันจะเป็น”จริง”

ไม่ว่าจะเรียกว่า “โมแลนติก” ไม่ว่าจะเรียกว่า “พาฝัน” ไม่ว่าจะเรียกว่า “จินตนิยม”
ล้วนมาจากรากศัพท์แห่ง “โรแมนติก”
ไม่ว่าจะเรียกว่า “สัจจะนิยม” ไม่ว่าจะเรียกว่า “อัตถนิยม” ไม่ว่าจะเรียกว่า “สมจริง”
ล้วนมาจากรากศัพท์แห่ง “เรียลลิสติก”
เสนีย์ เสาวพงศ์ เมื่อเขียนบทความว่าด้วย “จินตนิยมและอัตถ นิยม” เมื่อต้นทศวรรษของ 2490
นิยามอย่างรวบรัดว่า
“จินตนิยม” คือ การมองโลกอย่างที่ควรจะเป็น อย่างที่น่าจะเป็น
“อัตถนิยม” คือ การมองโลกตามความเป็นจริง
เสนีย์ เสาวพงศ์ มีความเห็นว่า การมองโลกตามความเป็นจริงเป็นเรื่องดี แต่ก็ควรจะมองโลกอย่างที่ควรจะเป็นด้วย
จึงจะมีความหวัง มีพลัง

หากใช้บรรทัดฐานของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ต้องยอมรับว่าเหล่านักการเมืองมีลักษณะที่ดี
ประสาน “โรแมนติก” เข้ากับ “เรียลลิสติก”
เพราะหากดูจากสภาพและลักษณะความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยในห้วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเกิด”ปรองดอง”อย่างง่ายดาย
เพราะความขัดแย้ง แตกแยก ฝังรากลึกอย่างยิ่งในระดับโครง สร้าง
ขณะเดียวกัน หากมีใครพยายามในเรื่อง”ปรองดอง” ก็ถือเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่มีลักษณะสร้างสรรค์ พยายามมองโลกอย่างควรจะเป็น
ต้องให้ “กำลังใจ” ต้องให้ “ความหวัง”
แม้จะรับรู้ตามความเป็นจริงของความขัดแย้งว่า เป็นความหวังอันริบหรี่อย่างยิ่งก็ตาม
เหมือนกับ “แสงเทียน” อันวาบขึ้นใน “ความมืด”