คนจนคือใคร ? สมหมาย ปาริจฉัตต์ ตั้งคำถาม ในคราวสงครามแก้จน ของทักษิณ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 มกราคม 2547

ใครที่ดูทีวีช่วงนี้คงได้ยินเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโฆษณาแก้ปัญหาคนจนที่พูดว่า ไม่ว่าทำอาชีพอะไร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หากเดือดร้อนจากปัญหาใดปัญหาหนึ่งสามารถมาจดทะเบียนได้

จากปัญหาที่รัฐบาลกำหนดไว้ 7 ประเภท ได้แก่ ไม่มีที่ดินทำกิน คนเร่ร่อน ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย นักเรียนนักศึกษาต้องการทำงาน ถูกหลอกลวง หนี้สินภาคประชาชน คนจนไม่มีที่อยู่อาศัย

นั่นแสดงว่ากรอบหรือขอบเขตการรับจดทะเบียนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนจนเท่านั้น เพราะรัฐบาลใช้คำว่า ผู้เดือดร้อนจากปัญหาทั้ง 7 ซึ่งผู้มาจดทะเบียนอาจจะคละเคล้ากันไป มีทั้งคนที่ “มีไม่พอกิน” กับ “มีกินไม่พอ”

คนพวกหลังคือ มีกินไม่พอนี่แหละ หลังรับจดทะเบียนแล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร

ถ้าถือหลักว่าไม่ว่าเดือดร้อนจากปัญหาข้อใดข้อหนึ่งก็จะให้ความช่วยเหลือ นั่นเท่ากับช่วยหมดทุกคน ไม่ว่าฐานะระดับไหน

เหตุนี้เองคงต้องกลับมาหาคำนิยามของคำว่าความยากจน และคนจนกันให้ชัดอีกครั้ง เพื่อให้การช่วยเหลือตกถึงคนจนจริงๆ ไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลและส่วนรวมต้องแบกรับ ที่สำคัญแก้ทีเหตุแห่งปัญหาไม่ใช่ บรรเทาอาการของโรคชั่วครั้งชั่วคราว พอทุเลาแล้วโรคเดิมก็กำเริบขึ้นมาอีก

ต้องหาบทสรุปว่าความเดือดร้อนทั้ง 7 ประเภท คือสาเหตุแห่งความยากจนหรือไม่

ถ้าตั้งประเด็นว่า ความจนเป็นโรคร้ายแรงอย่างหนึ่ง ความเดือดร้อนทั้ง 7 ประเภทเป็น “อาการของโรค” หรือ “สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค” กันแน่

ฉะนั้น เมื่อรับจดทะเบียนแล้วคงต้องมากลั่นกรองอีกครั้งให้เหลือคนที่เข้าข่ายเป็น “คนจน” จริง ไม่ใช่คนจนปลอม

ในบรรดาผู้มาจดทะเบียนทั้งหมดเราจะถือเกณฑ์วัดกันตรงไหน วัดอย่างไร ใครอยู่ในข่ายเป็นคนจน ถ้าเอานิยามที่เคยทำกันมาก็คือ คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน ซึ่งล่าสุด พ.ศ.2545 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดไว้ที่ 922 บาทต่อคนต่อปี พบว่ามีจำนวนถึง 6.2 ล้านคน

เกณฑ์ที่ทางการจะใช้ในการหาคนจนจริง จากผู้มาจดทะเบียนทั้งหมด ต้องบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้และร่วมกันแสดงความคิดเห็นให้กว้างขวาง เพราะว่าไปแล้วสาเหตุแห่งความยากจนมีมากมาย

มีทั้งยากจนเรื้อรัง ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง ยากจนเฉียบพลันเป็นโรคร้ายแรงหมดค่ารักษาจนสิ้นเนื้อประดาดัว ยากจนเพราะมัวเมาอบายมุข กินเหล้าเมายาหัวราน้ำ ผีพนันเข้าสิง เที่ยวกลางคืน รวมถึงถูกเอารัดเอาเปรียบ หลอกลวงคดโกง เป็นหนี้เป็นสิน บริหารงาน บริหารชีวิตผิดพลาด

ในจำนวนคนที่มาจดทะเบียนทั้งหมดต้องมาจำแนกแยกแยะว่าที่เขาต้องมาจดทะเบียน แสดงตัวว่าเป็นคนจนนั้น สาเหตุเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ ไม่ใช่แค่บอกอาการของโรคเท่านั้น

ต้องหาเกณฑ์กลางในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อความเป็นธรรม ระหว่างคนที่ได้รับความช่วยเหลือด้วยกันและเป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ในสังคมทั้งหมด

จะเอาเกณฑ์เดิมที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ วางไว้ หรือปรับเกณฑ์ใหม่ ซึ่งอาจจะพบว่าตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 6.2 ล้านคนจากปี 2545 มากมาย

อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่มากขนาดนั้นก็ได้ เพราะจำนวนถูกจำกัดอยู่แค่คนที่มาจดทะเบียนเท่านั้น ทั้งๆ ที่คนที่ไม่มาจดทะเบียนมีอีกมาก ซึ่งต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไรคนเหล่านี้ถึงไม่มาจดทะเบียน เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือสำเร็จ หรือเหตุผลอื่นก็ตาม

ผมไม่ทราบว่าแบบฟอร์มที่กรมการปกครอง กระจายออกไปให้ทุกอำเภอรับจดทะเบียน กำหนดให้ผู้จดทะเบียนตอบข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ เช่น รายได้ต่อหัวต่อปี รายได้เฉลี่ยของครอบครัว และสาเหตุที่ทำให้พวกเขาคิดว่าเป็นคนยากจนเกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งต้องตอบให้ตรงความจริง เป็นต้นว่า ปัญหาหนี้สิน เพราะเหตุใดเขาถึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินนายทุนนอกระบบ เอาไปใช้อะไร ถูกคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ นายทุนเป็นใคร

การไม่ยอมเปิดเผยความจริงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทางการกำลังหาทางแก้ไขอยู่ พร้อมกับการแก้ปัญหาที่ดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว เช่น ไม่มีที่ดินทำกินก็หาให้ ไม่มีที่อยู่ก็ให้มาเข้าโครงการเอื้ออาทร เป็นโรคภัยไข้เจ็บก็มี 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่มีงานทำ ไม่มีช่องทางหารายได้ก็หางานให้ทำเช่นนักเรียน นิสิตนักศึกษา

ปัญหาหนักที่สุดก็เหลือ 3 กลุ่มคือ พวกทำผิดกฎหมาย ถูกหลอกลวง กับเป็นหนี้สินนอกระบบ ซึ่งมีทั้งคนจนจริงและไม่จริงปนกันอยู่

การแก้ปัญหาคนจน นอกจากสร้างงาน ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้แล้วต้องสร้างสภาพแวดล้อมไม่ให้กลับไปสู่เหตุแห่งความยากจนอีก

แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลหวังผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดการขยายตัวมีการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าขาเดียวเท่านั้น

ในทางยาวคือการสร้างความเป็นธรรม ลดช่องว่างระหว่างคนจน คนรวย เมืองกับต่างจังหวัด คนมีกำลังน้อยกับคนมีกำลังมาก ให้ได้มากที่สุด

การสร้างความเป็นธรรมเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ป้องกันไม่ให้คนจนต้องหวนกลับไปสู่วงจรอุบาทน์เดิมอีก รวมทั้งการคดโกงก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจน การปราบคอร์รัปชั่นจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยรักไทยมุ่งกระจายโอกาส แต่การกระจายรายได้และกระจายอำนาจ มีคำถามมาตลอด

ฉะนั้น ความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงต้องแก้ที่โครงสร้างด้วย ความเจริญกับความเป็นธรรมต้องทำทั้งสองด้าน ควบคู่กันไป