“ภราดาหมายเลข 2” แกนนำเขมรแดง นวน เจีย และ เขียว สัมพัน

"AFP PHOTO / ECCC"

ในบรรดาแกนนำของ “เขมรแดง” ระบบการปกครองสุดโต่งในกัมพูชาระหว่างปี 1975-1979 ที่หลงเหลืออยู่ในเวลานี้ ไม่มีใครมีความสำคัญต่อเขมรแดงเหนือกว่า “บราเธอร์ นัมเบอร์ ทู” ที่ชื่อ นวน เจีย กับ เขียว สัมพัน อีกแล้ว

บทบาทของ “นวน เจีย” ลึกลับ ไม่กระจ่างชัดแม้แต่ในบรรดาเขมรแดงด้วยกันเอง

กระนั้น นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์สำคัญร่วมสมัยในอินโดจีนลงความเห็นว่า นอกเหนือจาก พล พต ผู้นำสูงสุดแล้ว นี่คือคนที่มีอำนาจมากที่สุดในขบวนการทางการเมืองและการปกครองของเขมรแดง

ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเขาคือ “หัวหน้าฝ่ายอุดมการณ์” ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา

 

ในทางตรงกันข้าม “เขียว สัมพัน” กลับเป็น “หน้าตา” ที่รู้จักกันมากที่สุดของเขมรแดง ดำรงตำแหน่งทั้ง ประธานสภาเปรซิเดียม และตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ (ประธานาธิบดี) ในยุคของ “กัมพูชาประชาธิปไตย” ภายใต้การปกครองของเขมรแดง

ตอนนี้ นวน เจีย อายุ 90 ปี ส่วน เขียว สัมพัน อายุน้อยกว่าไม่มากนัก คือ 85 ปี

ทั้งสองตกเป็นข่าวไปทั่วโลกอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อศาลสูงสุดในศาลพิเศษแห่งศาลสถิตยุติธรรมกัมพูชา (อีซีซีซี) ศาลพิเศษที่ผสมผสานระหว่างกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศกับกระบวนการยุติธรรมกัมพูชา เพื่อพิจารณาคดีอาชญากรสงครามในยุคเขมรแดงโดยเฉพาะ ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ มีคำพิพากษาเห็นชอบให้ยืนคำตัดสินตามคำพิพากษาชั้นต้นให้จำคุกคนทั้ง 2 ตลอดชีวิต

สืบเนื่องจากพฤติกรรมอันเข้าข่ายเป็นอาชญากรสงคราม, การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม, การประหารทางการเมืองและพฤติกรรมอื่นๆ ที่ “ปราศจากมนุษยธรรม”

ทั้งหมดล้วนเป็นบทบาทที่นำไปสู่ หรือเชื่อมโยงไปถึงการเสียชีวิตแบบผิดสามัญธรรมชาติของชาวกัมพูชาไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านคนในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่เขมรแดงเรืองอำนาจ

คดีหมายเลข 002/01 นี้ ถือเป็นคดีที่ 2 ของศาลพิเศษนี้ แต่เป็นคดีแรกที่ผู้นำสูงสุดทั้ง 2 ตกเป็นจำเลย (คดีแรกคือคดี “สหายดุจ” ผู้บัญชาการเรือนจำโตนสเลง) เป็นคดีซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การบังคับให้ผู้คนนับล้านอพยพออกจากพนมเปญ อันเป็นเหตุที่ทนายโจทก์อ้างว่าเป็นที่มาของภาวะทนทุกข์ทรมานชนิดที่คิดกันไม่ออก จินตนาการไปถึงไม่ได้ ซึ่งกินเวลายาวนานเป็นปีๆ ตราบจนกระทั่งกองทัพเวียดนามเข้ามาโค่นล้มระบบเขมรแดงเมื่อมกราคม 1979

อาชญากรรมที่ถูกกล่าวหาว่า ทั้ง นวน เจีย และ เขียว สัมพัน ต้องรับผิดชอบ รวมทั้งการบังคับใช้แรงงานในค่ายแรงงานที่กระจายตัวกันอยู่ตามชนบทรอบนอกของประเทศ กับการประหารหมู่ ทหาร เจ้าหน้าที่พลเรือนของระบบสาธารณรัฐเขมรในพื้นที่ชนบทห่างไกล

มีพยานบุคคลเป็นพลเรือน 3,869 คนขึ้นให้ปากคำ บรรยายถึงพฤติกรรมของจำเลยทั้ง 2 ที่ยังจดจำฝังใจในเหตุการณ์ต่างกรรม ต่างวาระ แต่ชะตากรรมเดียวกัน

 

ในเดือนสิงหาคม 2014 องค์คณะผู้พิพากษา พิพากษาว่า นวน เจีย คือผู้ที่ “รับผิดชอบโดยตรงและต้องรับผิดชอบในฐานะผู้มีอำนาจเหนือ” ในอาชญากรรมต่างๆ เหล่านั้น

ในขณะที่ เขียว สัมพัน ถือว่ามีความผิดฐานเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดใน “องค์กรอาชญากรรมร่วม” แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งโดยตรง หรือออกคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปถึงอาชญากรรมต่างๆ เหล่านั้น

จำเลยทั้ง 2 อุทธรณ์คำพิพากษา โดยอาศัยมูลเหตุจากความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ของกระบวนการทางศาลในระหว่างการพิจารณาคดี และคำกล่าวอ้างที่ว่าคำพิพากษาเกิดจากการ “สรุปความเองจากคำบอกเล่าที่ได้รับฟังมา” ไม่ใช่จากข้อเท็จจริง

ศาลพิจารณาในชั้นอุทธรณ์อยู่เกือบ 2 ปี และแม้ว่าจะยอมรับว่ากระบวนการมีความบกพร่องอยู่บ้าง แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทั้งสอง “ขาดการพิจารณาถึงชะตากรรมอันถึงที่สุดของประชากรกัมพูชาทั้งมวลโดยสิ้นเชิง” เสริมด้วยว่า อาชญากรรมที่ทั้งคู่ก่อขึ้นนั้น “ใหญ่หลวงมาก”

จึงพิพากษายืนให้จำคุกตลอดชีวิตดังกล่าว

 

ในช่วงระหว่างพิจารณาคำอุทธรณ์ ศาลยังพิจารณาคดีลำดับถัดมา ที่ นวน เจีย และ เขียว สัมพัน ตกเป็นจำเลยอีกเช่นกัน ควบคู่กันไปด้วย คดีใหม่นี้ขยายวงออกไปกว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมข้อกล่าวหาว่า ทั้งสองต้องรับผิดชอบกับการ “บังคับแต่งงาน” และ “ข่มขืนกระทำชำเรา” เรื่อยไปจนถึงการลงมือ “กำจัด” ผู้ต่อต้าน และกระทำการอันเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนามและชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม

คดีเขมรแดงของศาลพิเศษนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2006 เดิมทีมีจำเลย 4 คน หลังจากที่ “บราเธอร์ นัมเบอร์วัน” คือ พล พต นั้นเสียชีวิตไปก่อนการพิจารณาคดีในปี 1998 แต่ด้วยความที่ข้อกล่าวหานั้นใหญ่โตและครอบคลุมกว้างขวาง พยานบุคคลมากมาย ทำให้ศาลตัดสินใจแยกออกเป็นคดีย่อยๆ ในปี 2011 เพื่อให้คดีสามารถดำเนินไปได้ เป็นลำดับไป

ในปี 2012 ศาลเห็นว่า เอียง ธิริธ อดีตรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสังคม ของระบบเขมรแดง มีสภาพทางจิตไม่เหมาะสมกับการตกเป็นจำเลยในการไต่สวน พิจารณาคดี จึงมีคำสั่งปล่อยตัวจำหน่ายคดี ในปี 2013 เอียง สารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สามีของ เอียง ธิริธ เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคม

จำเลยสำคัญจึงหลงเหลือเพียง 2 คนคือ นวน เจีย และ เขียว สัมพัน ซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่รับการพิจารณาคดีจนตลอดรอดฝั่งหรือไม่

ทำให้เหยื่อบางคนอดรู้สึกไม่ได้ว่า คดีนี้เกิดขึ้นช้าไปบ้าง อืดอาดไปอยู่บ้าง ไม่สาสมกับสิ่งที่เขมรแดงเคยกระทำเอาไว้กับพวกตน