มุทิตา เชื้อชั่ง : “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ชีวิตเฉียดตายเหตุ 6 ตุลา 19 และจากลาไทยเพราะต้านรัฐประหาร

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม จรัล ดิษฐาอภิชัย ไม่ได้เข้าป่าทันทีเหมือนคนอื่น แต่เข้าหลังจากนั้นนานหลายเดือนเพราะมัวติดคุกอยู่ เรื่องราวการถูกจับและติดคุกของเขานั้นเหมือนหนังแอ๊กชั่นคอมเมดี้ที่พระเอกนักปฏิวัติออกจะงงๆ อาศัยมากับดวงล้วนๆ

“ผมหลบลูกกระสุนปืนในธรรมศาสตร์ คนข้างผมถูกยิงตายสองสามคน ลูกกระสุนปลิวหลายพันนัดเหมือนในหนังเลย ผมหลบตรงคณะนิติศาสตร์หัวมุมสนามฟุตบอล เขายิงมาจากพิพิธภัณฑ์ ตอนนั้นผมคิดว่าต้องตายแน่ คงจะมีสักลูกถูกแน่นอน เตรียมเสียสละชีวิตแล้ว แต่โชคดีไม่ตาย”

“ผมถูกจับวันที่ 7 ตุลา หลบอยู่หนึ่งคืนกับอีกครึ่งวันที่คณะสังคมสงเคราะห์ คนอื่นหนีได้ตอนที่พวกกระทิงแดงบุกเข้ามา นอกนั้นก็ถูกจับสามพันกว่าคน ผมหลบอยู่ใต้บันไดขึ้นตึก ทั้งตึกมีผมคนเดียว ทหารจับผมตอน 11 โมง เหตุก็เพราะผมหิวเลยแอบออกมาจากที่ซ่อนไปหยิบของกิน ทีนี้ผมไม่มีรองเท้า พื้นดินมันแฉะหน่อยเลยเป็นรอยเท้า ทหารสังเกตเห็น มันชักปืนเลย ตะโกนบอก “ใครหลบอยู่ ออกมา” “ผมครับๆ ผมหลบอยู่” “มีปืนมั้ย” “มีครับ” มันถอยเลย แล้วผมก็เอาปืนสั้นโยนออกไป จริงๆ ผมยิงไม่เป็นหรอก มีไว้ให้อุ่นใจเฉยๆ”

เขาถูกจับไปคุมขังแบบเดี่ยวอยู่ 3 เดือนก่อนจะหนีจากห้องขังได้เพราะความสะเพร่าของร้อยเวรที่ลืมล็อกกุญแจ โดยจรัลทำการหลบหนีไปในวันที่ 20 มกราคม 2520

“ผมถูกขังไว้ที่กองพันทหารสารวัตรที่ 1 อยู่แถวกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นาน 2 เดือนก่อนย้ายไปอีกที่ ถูกขังอย่างทรมาน มันใช้กุญแจมือล่ามมือผมข้างหนึ่งกับลูกกรง มีแต่นอนกับนั่ง ยืนไม่ได้ และเนื่องจากเดือนตุลามันหนาว ไม่มีผ้าห่ม ยุงก็เยอะ ตบก็ไม่ได้ มีมือเดียว…เราพยายามเข้าใจว่าเขาไม่ได้เจตนาหรอก คงเพราะห้องขังทหารมันไม่หนาแน่น พอครบเดือนผู้บังคับบัญชามาเยี่ยม ถามว่าอยากได้อะไร ผมบอก “ผมไม่ขออะไรมาก ขอให้ผมได้ยืนบ้าง” ปรากฏได้เกินกว่านั้น ได้ผ้าห่มกับหมอนด้วย”

ระหว่างถูกคุมขัง จรัลเล่าว่า เขาถูกด่าว่า และมีกระทั่งตำรวจที่ชิงชังคอมมิวนิสต์เนื่องจากเคยเป็นเชลยศึกที่เวียดนามมาปัสสาวะรดเขา

“ผมเป็นคนไม่โกรธคน มีทหารคนหนึ่งมาเฝ้าผม อายุมากหน่อย คุยไปคุยมาแกร้องไห้ บอกว่าเขาไม่น่าทำกับคุณแบบนี้เลย แล้วคุณไม่เห็นโกรธพวกเรา ผมบอกว่าจะโกรธทำไม เพราะรัฐบอกว่าผมขายชาติ ถ้าผมเป็นพวกคุณแล้วไปเจอพวกขายชาติก็ต้องจัดการเหมือนกัน”

 

ส่วนพ่อ-แม่ก็ออกตามหาศพลูกชายไปทั่ว แต่ข่าวคราวเงียบกริบ เพื่อนบางคนทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เขาเป็นที่เรียบร้อย เมื่อเขาหนีออกมาได้ ครอบครัวก็ถูกทางการข่มขู่อย่างหนัก ชั่วแต่ว่าเขาหนีเข้าป่าเขตสามจังหวัด เพชรบูรณ์-พิษณุโลก-เลย ไปเสียแล้ว

ฐานที่มั่นของเขาคือ สำนัก 61 จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในสถานการณ์ปฏิวัติ มีแกนนำนักศึกษาจำนวนมากที่คุ้นเคยกับจรัลอย่างดีอยู่ที่นั่น จรัลเป็นครูในโรงเรียนการเมืองการทหารก่อนจะเป็นหัวหน้าสำนัก อยู่ที่นั่นไม่ถึงสองปีก็ย้ายมาที่พะเยา

“ช่วงนั้นมีความขัดแย้งภายในพรรค เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นต่อพรรค คนทยอยออกจากป่ากัน ผมยืนหยัดอยู่ อยู่ไปเรื่อยๆ คอยอธิบาย คอยตอบปัญหากับสหายปัญญาชน ผมไม่มีปัญหากับพรรคคอมมิวนิสต์ เหมือนผมเป็นลูกที่ดีของพรรค ผมพยายามปฏิรูปหน่วยงานที่ผมอยู่ ยืนหยัดอยู่ให้ได้ท่ามกลางกระแสต่ำที่คนออกจากป่ากัน ทหารม้งก็ออกจากทหารไปเป็นพลเรือนกันหมด เมื่อก่อนเดินบนภูจากสำนักงานไปอีกหน่วยงานหนึ่ง เราจะเจอสหายนักศึกษาเยอะเลยระหว่างทาง ทักทายกันเฮฮา ช่วงหลังเดินไปเดินมาไม่เจอใครสักคน”

กระทั่งปี 2525 ฐานที่มั่นที่ผาจิผาช้างถูกยึด จึงต้องถอยหนีไปอยู่ตามหุบห้วยแล้วสุดท้ายก็ถอยกลับไปจังหวัดน่าน ใช้เวลาเดินเท้า 11 วัน อยู่ที่นั่นในสภาพระส่ำระสายเหมือนแพแตก แต่กระนั้นจรัลก็พบรัก (เสียที) และได้แต่งงาน เรียกว่าเป็น “รักระหว่างรบ”

เราพยายามถามลงรายละเอียดในเรื่องความรัก หวังได้อิ่มเอมกับพล็อตหวานกุ๊กกิ๊กเหมือนซีรี่ส์เกาหลี แต่ความพยายามนั้นก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อเขากลับอธิบายยืดยาวเกี่ยวกับคติของคอมมิวนิสต์ในป่า ที่สุดท้ายก็ไม่อาจชนะธรรมชาติของหนุ่ม-สาวได้

“คำว่า “สามช้า” มาจากเวียดนาม คือ ถ้ายังไม่มีคนรักอย่าเพิ่งมี ถ้ามีอย่าเพิ่งแต่งงาน ถ้าแต่งงานแล้วอย่าเพิ่งมีลูก เพราะเวลาแต่งงานแล้ว โอ้โห เขาบอกว่าคำพูดข้างหูร้ายกว่ามาลาเรีย อ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปไหนไม่ได้ (หัวเราะ) เขาก็มีเหตุผลอยู่ ถ้าจะปฏิวัติจนถึงที่สุดต้องไม่มีเมีย ไม่มีลูกแบบโฮจิมินห์ แต่ประธานเหมามีเมียหลายคนนะ (หัวเราะ) เชก็มีเมีย 3 คน”

กระทั่งเขาออกจากป่าในเดือนกันยายน 2526 ถึงตรงนี้เขาเล่าด้วยน้ำเสียงที่เบาลง และเว้นช่วงระหว่างประโยคนานเป็นพิเศษ

“จริงๆ ตั้งใจจะไปเขตอื่นต่อ”

“ผมเป็นพวกมีความคิดเป็นสากลนิยม แต่ไหนแต่ไรมา ตอนอยู่ป่ามีสหายถามผมว่า สหายชัยถ้าปฏิวัติชนะแล้วสหายชัยจะไปทำอะไร ผมบอกผมไม่ทำ ผมจะไปปฏิวัติประเทศอื่น เหมือนเช กูวารา ตอนนั้นคิดอย่างนั้นจริงๆ ไม่อยากทำอะไร เพราะทำไม่เป็น”

“แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ สุดท้ายก็ไปรายงานตัวแล้วก็หางานทำ ไม่เข้าป่าต่อ ไม่ปฏิวัติต่อ อันนี้ guilty อยู่ เราไม่ได้ท้อแท้หมดกำลังใจ เพียงแต่ว่าเราไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม ไม่อาจโทษว่ามีเมียมีลูก เพียงแต่เราเริ่มคิดว่าจะไปยังไงต่อกัน เพราะการสู้มันแพ้ไปหลายเขต”

 

เขาหางานอย่างยากลำบากเพราะอายุมากและยังเป็นอดีตคอมมิวนิสต์ แต่ในที่สุดก็ได้งานหนังสือพิมพ์ โต๊ะข่าวอุตสาหกรรม

จากนั้นได้มีโอกาสมาอบรมที่ฝรั่งเศส ว่าด้วยเรื่อง social worker ตามทฤษฎีเทววิทยาเพื่อการปฏิวัติ หรือการศึกษาเพื่อผู้ถูกกดขี่ นาน 5 สัปดาห์

เหตุการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตเขาอีกรอบเพราะเขาขออยู่ฝรั่งเศสต่อพร้อมเมีย-ลูก โดยหาทุนเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยปารีส 7 ในคณะชื่อแปลกๆ ว่า ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต

จรัลทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ความพ่ายแพ้ของการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เป็นอดีตคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ทำให้เข้าขากันได้ดี

“แกแก้ให้เกือบทุกหน้า เรียกว่าเกือบทุกบรรทัดดีกว่า วิทยานิพนธ์ผมได้ 18 เต็ม 20 ใครอ่านก็ชอบ เพราะเขียนคล้ายๆ นิยาย ใช้สไตล์ของนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง มิเชลเล่ต์ (Jules Michelet) ผมจบธีสิสแบบวรรณกรรมว่า สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์และนักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่า เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นเพียงตำนานเล่าให้ลูกหลานฟัง”

จากนั้นเขาพยายามเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส 1 ซอร์บอน เพราะอยากอยู่ฝรั่งเศสต่อ แต่สอบไม่ผ่าน ระหว่างนั้นเขาพบรักกับห้องสมุดการปฏิวัติฝรั่งเศส ตะลุยอ่านงานมากมายอย่างหิวกระหาย ทยอยเขียนงานไปลงมติชนสุดสัปดาห์จนรวบรวมเป็นหนังสือเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ 800 หน้า

“ห้องสมุดนี้มีเอกสาร primary เยอะมาก น่าเสียดายที่เรามาเจอต้นธารการปฏิวัติของโลก ตอนที่ปลายทางแห้งแล้ว”

 

จรัลอยู่ฝรั่งเศสรวมแล้วราว 5 ปี เขาไม่ทันได้เจอกับปรีดี พนมยงค์ เพราะปรีดีจากโลกนี้ไปก่อนแล้ว แต่เขาสนิทสนมและมีโอกาสได้เยี่ยมยามถามข่าวกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และครอบครัว ที่บ้านพักถนนอองโตนีหลายครั้งหลายหน

ช่วงที่ไม่ได้เรียนต่อปริญญาเอกเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หย่าร้างกับภรรยาคนแรก สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเริ่มศักราชใหม่กับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่เริ่มเฟื่องฟูในยุโรปไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้า ด้วยหวังว่าชีวิตที่เหลือจะยังประโยชน์ใดให้ผู้อื่นได้ต่อไป เขาทำงานกับองค์กรต่างๆ หลายแห่ง ไปรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่าจนถูกจับกุมและถูกเนรเทศ ที่สำคัญคือ เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย นับเป็นการเดินตามความฝันในวัยเยาว์ที่สร้างความสุขให้เขาอย่างมาก แววตาของจรัลระยิบระยับระหว่างเล่า

“ผมชอบมาก มันเป็นชีวิตในอุดมคติมาก ไม่ต้องทำมาหากินอะไร วันๆ ไปหาเสียง คุยกับคน สนุกสนาน (หัวเราะ) ยังไงก็ไม่ได้อยู่แล้วภาคใต้ แพ้ประชาธิปัตย์ แต่เป็นช่วงชีวิตสองเดือนที่มีความสุขมาก เราได้โฆษณา ได้เผยแพร่ความคิด เหมือนเป็นกิเลสเราน่ะ แต่แพ้หลุดลุ่ย”

 

จากนั้นชีวิตก็พาให้เขาหันเหเป็นอาจารย์สอนปรัชญา มหาวิทยารังสิตเป็นสิบปี ก่อนจะสมัครเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เขาได้รับเลือกให้ไปทำหน้าที่อยู่หลายปีก่อนจะถูกปลดเพราะมีจุดยืนต่อต้านเผด็จการ หลังจากนั้นเขาก็เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยกับ นปช.

“พอเกิดรัฐประหาร ผมก็ต่อต้าน ขณะที่ยังเป็น กสม.ด้วย ผมอภิปรายว่า ไม่มีกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศไหนในโลกนี้ที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะรัฐประหารละเมิดสิทธิกำหนดใจตนเองของประชาชนทันที สิทธิที่ประชาชนเขาจะเลือกระบอบการปกครอง หรือเลือกใครเป็นรัฐบาล”