E-DUANG : ​​ปัจจัย”การเมือง” กับ “อนาคต”เครือ”อมรินทร์”

ทั้งๆที่การเข้าซื้อหุ้น”อมรินทร์”ของกลุ่ม”ไทยเบฟ”เป็นการตัดสินใจในทาง “เศรษฐกิจ”

แต่กลับถูกมองว่าเป็นประเด็นทาง “การเมือง”

นี่คือสภาวะอันมากด้วยความสลับซับซ้อน และย้อนแย้งยิ่งในสังคมไทย

สังคมไทยก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

สังคมไทยหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

การตัดสินใจของกลุ่ม”ไทยเบฟ” มีเป้าหมายและความประสงค์ในทางธุรกิจอย่างแน่นอน

นั่นก็คือ มองว่าธุรกิจของ”อมรินทร์”มี “อนาคต”

เพราะหากมองไม่เห็น “อนาคต” มองไม่เห็น “ความหวัง”จะมีใครที่ไหนยอมควักเงินว่า 850 ล้านบาท

แม้จะเป็นเงินน้อยนิดสำหรับ “ไทยเบฟ”

เป็นอนาคตอันประสานและร่วมมือระหว่าง “ไทยเบฟ”กับจุดแข็งที่ “อมรินทร์”มีอยู่

ทั้งๆที่เป็นเรื่องทาง”ธุรกิจ”

แล้วเหตุใดการเข้ามาของ “ไทยเบฟ” จึงกลายเป็นประเด็นในทาง “การเมือง”

จะตอบคำถามนี้ได้จำเป็นต้องพิจารณาจาก “ความเป็นจริง”ของ”อมรินทร์”

อะไรคือสิ่งที่ “อมรินทร์” ประสบ

1 คือสภาวะขาลง นับถอยหลังของ “สื่อกระดาษ” ขณะเดียวกัน 1 คือสภาวะใหม่ที่ “อมรินทร์” กระโจน

เข้าไปแล้วกลายเป็นวิกฤต

คือ การไม่ประสบผลสำเร็จในธุรกิจ”ทีวีดิจิตัล”

สภาวะขาลง นับถอยหลังของ”สื่อกระดาษ”เป็นสิ่งที่เข้าใจได้แล้วอย่างเด่นชัดจากกรณีของ สกุลไทย พลอยแกมเพชร

คำถามก็คือ อะไรคือ”ความล้มเหลว”ของ”ทีวีดิจิตัล”

“ทีวีดิจิตอล” ไม่เพียงแต่ถูกแรงกระแทกอย่างรุนแรงจากพัฒนาการของ “สมาร์ทโฟน”

เหมือนกับ”สื่อกระดาษ”ถูกรุกจาก”สื่อกระจก”

หากความอ่อนไหวอย่างยิ่งยวดที่ทุก “สื่อ” ประสบร่วมกันคือความอ่อนไหวจากปัจจัยทาง “การเมือง”

“การเมือง” ทำให้ต้องมากด้วย”ความระมัดระวัง”

กล่าวสำหรับ “ทีวีดิจิตอล” เมื่อต้องรับมือกับรายการอันมาจากฝ่าย “การเมือง” ในช่วงเวลาเงินเวลาทอง

ย่อมทำให้สูญเสียไปอย่างน่าใจหาย

ยิ่งกว่านั้น มาตรการ”ควบคุม”จากทางการเมือง ยิ่งทำให้การนำเสนอรายการข่าวต้องดำเนินไปด้วย

อาการนั่งพับเพียบเรียบร้อย

ต่อให้เก่งระดับ “สรยุทธ”ก็ยากจะปลุก”เรตติ้ง”

ลักษณะทาง “การเมือง” ช่วงหลังรัฐประหารนี้เองที่นำไปสู่กระบวนการ “ปราบเซียน” อย่างถ้วนหน้า

เครือ “อมรินทร์”จึงเสมอเป็นเพียงตัวอย่าง 1

เป็นตัวอย่าง 1 ซึ่งยืนยันความล้มเหลวของ “ทีวีดิจิตอล”ในสภาพการณ์ทาง “การเมือง”ที่ไม่เอื้ออำนวย