ส่องพิกัด “ทัพไทย” ยุค “ทรัมป์” นั่งWhitehouse จับตาASEANเมื่อ”มะกัน”เปลี่ยนผ่าน Team Trump Thailand ทำงานหนัก

มหาอำนาจอย่าสหรัฐฯเลือกตั้ง ผลย่อมสะเทือนทั่วโลก แน่นอนไทยในฐานะประเทศพันธมิตรเก่าแก่ การทหารครั้งยุคสงครามเย็น ย่อมต้องจับตานโยบายด้านการทหารของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่

ด้านการทหารไทยเป็นที่วิเคราะห์กันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ในระยะสั้นๆนี้คงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ด้วยความสัมพันธ์เดิมของไทยกับสหรัฐฯยังคงแนบแน่นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือน หรือ รัฐบาลทหาร ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ของไทย

ในอดีตเป็นรัฐกันชนของปรากฎการณ์โดนิโน การแพร่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ จากจีนและสหภาพยุโรปมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วันนี้การก้าวขึ้นมาของจีน มหาอำนาจหน้าใหม่ของโลก กับรัสเซียที่กลับมาผงาดอีกครั้งในยุค “วลาดิมีร์ ปูติน”เป็นประธานาธิบดี ซึ่งมีนโยบานให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น ไม่ใช่เพียงตะวันตกหรือยุโรปเพียงอย่างเดียว

อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯหลังการรัฐประหารปี2557 ทำให้ความร่วมมือหลายอย่างลดลง และการจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯที่ชะงักไป จึงทำให้ไทยจัดซื้อจากมหาอำนาจอื่นแทนทั้งการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi17v5 จากรัสเซีย และรถถังVT4 MBT 3000 จากจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยก็ได้จัดซื้อรถถังT-84 OPLOT-M จากยูเครน มาแล้ว

หรือแม้แต่โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยที่มีมติซื้อรุ่นYuan Class S26T จากจีน 3 ลำพร้อมแพ็คเกจอะไหล่-อาวุธ-การอบรมให้ไทย เป็น 8 ปี มูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาท ราคานี้จึงถูกและคุ้มค่ากว่าที่ประเทศอื่นๆจะให้ได้

ซึ่งไทยก็พยายามกระจายมหาอำนาจในการจัดซื้ออาวุธตามนโยบาย “สร้างสมดุล” กับมหาอำนาจ อีกทั้งไทยก็ชวนรัสเซียตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ-ศูนย์ซ่อมอากาศยาน”ในไทย ส่วนการฝึก Cobra Gold ที่ลดลงเป็นระดับ Light Year และยังคงระดับนี้ต่อไปในยุค “ทรัมป์” จนกว่าไทยจะกลับไปสู่รัฐบาลเลือกตั้งอีกครั้ง

“ยังเหมือนเดิม ตอนนี้มีการวางแผนเตรียมการปกติ จะเป็นการฝึกแบบ “Light Year” จะมีการประชุมจบในปลายเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งจะมีความชัดเจน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรน่าห่วง” พล.อ.สุรพงษ์ ผบ.สส. เผย

สิ่งที่ต้องมองต่อจากนี้คือสถานการณ์สิ่งเร้าในคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ จะเป็นปัจจัยทำให้สหรัฐฯมีนโยบายการทหารต่อภูมิภาคอย่างไร อีกทั้งจีนและรัสเซียจะมีแอ็คชั่นต่อนโยบายสหรัฐฯอย่างไร เพราะอาเซียนเป็นทั้งหลังบ้านและเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ

พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัถต์ ผบ.สส. เปิดเผยว่า การทำงานยังเป็นไปตามปกติ และรัฐบาลใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนม.ค.นี้ ขณะนี้ความสัมพันธ์และการทำงานยังเป็นไปตามปกติ แต่ในอนาคตจะต้องดูว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อจากนี้บ้าง ในภาพรวมไม่น่าจะกระทบอะไรมาก เพราะรัฐบาลสหรัฐฯเปลี่ยนทุก 4 ปี เป็นเรื่องปกติ

แต่ใช่ว่าจะสร้างความตื่นตระหนกแก่กองทัพอาเซียน เพราะการประชุมรมว.กลาโหมอาเซีย-สหรัฐฯ ที่ฮาวาย ก็ได้มีการประเมินแล้วว่า หาก “ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีจริง ทิศทางนโยบายด้านการทหารของสหรัฐฯต่อภูมิภาคจะเป็นอย่างไร

อีกทั้งกองทัพมหาอำนาจในอดีตอย่างญี่ปุ่น ได้แก้กฎหมายด้านความมั่นคง ให้อำนาจ “collective self-defense” แก่ “กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น” Japan self-defense forces (JSDF) สามารถส่งทหารออกไปร่วมรบกับกลุ่มประเทศพันธมิตรได้ ซึ่งมองกันว่าจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถแผ่อิทธิพบทางทหารในภูมิภาคมากขึ้นด้วย

นอกเหนือการร่วมกับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ACMM) จัดการฝึกร่วมผสมการแพทย์ทหารอาเซียนและการบรรเทาภัยพิบัติครั้งใหญ่ ภายใต้รหัส AM-HEx 2016 มี แพทย์ทหารอาเซียน และประเทศคู่เจรจา รวม 18 ประเทศ และ การเข้าร่วมการฝึก Cobra Gold ของญี่ปุ่น

ล่าสุดนางโทโมมิ อินาดะ รมว.กลาโหมญี่ปุ่น เสนอต่อที่ประชุมรม.กลาโหมอาเซียน-ญี่ปุ่น อย่างไม่เป็นทางการ ที่ประเทศลาว ให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อดูแลความร่วมมือระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น เพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์และร่วมมือในระดับที่สูงขึ้น และหนุนให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางแก้ปัญหาในภูมิภาค

ซึ่งการประชุมรมว.กลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และรัสเซีย รัฐบาลจึงมองว่านี่ไม่ใช่การเขยิบของญี่ปุ่นต่อภูมิภาค แต่เป็นความร่วมมือกัน การถ่ายทอดเทคโนโลยี-องค์ความรู้

“ไม่ใช่การเขยิบ แต่เป็นอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ ถามว่าอาเซียนทำไมถึงต้องมีประเทศคู่เจรจาเพราะต้องการความช่วยเหลือจากประเทศคู่เจรจา เพราะญี่ปุ่นมีศักยภาพของเทคโนโลยี ยุทโธปกรณ์ การบรรเทาสาธารณะภัยและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม องค์ความรู้ต่างๆ ทำอย่างไรที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาช่วยอาเซียนให้เข้มแข็งขึ้น”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เผย

อีกทั้ง พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. เผยหลังหารือกับ พล.อ.อ.โยชิยูคิ สุกิยามะ เสนาธิการกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น ว่า ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะตนก็จบร.ร.นายร้อยรวมเหล่าญี่ปุ่นเช่นกัน ซึ่งญี่ปุ่นเองก็อยากจะเข้ามาภูมิภาคเรามากขึ้น

ผิดกับท่าทีของสหรัฐฯหรือจีน ที่จะให้ประเทศในอาเซียน “เลือกข้าง” จนมีการกล่าวถึงขั้นว่าจะเป็น “สงครามเย็น” ครั้งใหม่

หากเจาะนโยบายของ “ทรัมป์” ก็จะพบว่า มีการยกเลิกมาตรการตัดงบรายจ่ายอย่างเหมารวมโดยอัตโนมัติ หรือ Sequester ในส่วนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีแนวคิดเตรียมเพิ่มทหารประจำการเป็น 540,000 นาย ให้กองทัพเรือ 350 ลำ จัดหาอากาศยานรบให้กองทัพอากาศ 1,200 ลำ ยกระดับนาวิกโยธินเป็น 36 กอง และมีนโยบายใช้กำลังกับกลุ่มไอซิส

ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ขอรอดูทีม’กลาโหมสหรัฐฯ’จะทำงานร่วมกับจีนอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่าอาเซียนจะประคอง Cobra Gold ให้เป็นเป็นเวทีทางทหารระหว่างจีน-สหรัฐฯที่มาฝึกร่วมกัน

“Cobra Gold สหรัฐฯก็มาร่วมกับจีน อาเซียนก็คงอยากประคับประคอง เพราะเป็นที่สหรัฐฯกับจีนอยากจะมาพบกัน จะมีการปฏิบัติการทหารที่สหรัฐฯและจีนทำร่วมกันดูแลเรื่องภัยพิบัติ ส่วนใครจะมาประสานต้องติดตามต่อ”นายปณิธาน กล่าว

สิ่งที่รัฐบาลให้การจับตาอีก คือ นโยบายของ “ ทรัมป์” ถึงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ หลังรัฐบาล “โอบามา” ใช้กฎหมายสากล นำกำลังและขยายพื้นที่ จึงทำให้อาเซียนแบ่ง 2 ฝ่าย ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ อีกทั้งข้อพิพาทในคาบสมุทรเกาหลียุค “ทรัมป์” จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยอย่างไร หลังใช้แผนรัฐบาล “โอบามา” ในการเจรจา 6 ฝ่าย มานาน 8 ปี ทำให้เกิดความเคยชิน

สิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯจะให้ความสำคัญกับไทยคือการเฝ้าระวังกลุ่มไอซิส ที่ขยายจากซีเรียมายังประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งไทยในฐานะประเทศที่ปลอดภัย สหรัฐฯจะต้องรักษาจุดนี้ไว้เพื่อป้องกันการแพร่ขยายของไอซิสด้วย โจทย์ของไทยต่อสหรัฐฯจึงเปลี่ยนไป

ซึ่งไทยเองก็มีการตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อประสานกับพรรคริพับลิกัน และ พรรคเดโมแครต ผ่าน Team Trump Thailand และ Team Clinton Thailand ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ไทยได้เตรียมแผนการรองรับนโยบายได้แน่นอน

“ผมคิดว่าเราอย่าไปกลัว เราต้องกล้าที่จะคิดและเตรียมการ ถ้ากลัวทุกอย่างเราก็แตกตื่นกันไปหมด หุ้นก็จะตก เราจะไปกลัวทำไม เราต้องดูว่าเขาจะทำตามนโยบายที่พูดได้หรือเปล่า มันก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลก มันจำเป็น “ พล.อ.ประยุทธ์ เผย

ต้องรอฟังเสียงจากสภาคองเกรส ม.ค.60 เท่านั้น !!