E-DUANG : เงื่อนงำ การปล่อยข่าวลือ ปลดผบ.ตร.ของ “สื่อ”

บทสรุป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ระบุต้นของ”ข่าวลือ”ว่าด้วย การปลดผบ.ตร.ว่ามาจาก “โซเชียล มีเดีย”

สำคัญ

สำคัญ 1 แสดงให้เห็น บทบาทและความหมายของ “โซเชียล มีเดีย” ในทางสังคม

เป็นบทบาทในฐานะ “สื่อ”

“สังคมออนไลน์ชอบบิดเบือน ทำให้วุ่นวายไปหมด อยากจะลือใครก็ลือ อยากจะเขียนใครก็เขียน และไม่ต้องรับผิดชอบ”

สำคัญ 1 แสดงให้เห็น ท่าทีและความรู้สึกต่อ “สื่อ”

“กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกำลังตรวจสอบข่าวเรื่องนี้อยู่ การเขียนข่าวที่ไม่ถูกต้องก็ต้องรับผิดชอบ”

เท่ากับเป็นการให้น้ำหนักไปยัง “สื่อกระจก” เท่ากับเป็นการมองบทบาทของ “สื่อกระจก”ไปในทางที่ไม่ดี

แล้ว”ความเป็นจริง”ของ”ข่าวลือ”นี้มาอย่างไร

 

ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อาจจะ “ประเมิน”จากรายงานที่ได้รับ

เน้นไปยัง “ออนไลน์” หรือ “สื่อกระจก”

กระนั้น หากรับฟังท่าทีและความเห็นจาก พล.ต.ต.ปิยพันธุ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ก็พอจะ”รับรู้”ใน”รายละเอียด”

“ขอเน้นย้ำ จรรยาบรรณของสื่อมวลชน บางครั้งการใช้แผนประทุษกรรมเก่าๆที่เคยทำมาแล้วในอดีตถือว่าล้าสมัย”

คล้ายกับจะดำเนินไปอย่าง”วิพากษ์”

นั่นก็คือ การเผยแพร่”ข่าวลือ”ผ่าน “ออนไลน์” อาจถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมซึ่งปรากฏอย่างกว้างขวางของ “สื่อกระจก”

อันรับรู้กันว่าเป็น “สื่อใหม่”

กระนั้น โดย”รูปแบบ” และ”วิธีการ”ก็สะท้อนในสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น”การใช้แผนประทุษกรรมเก่าๆ”

นั่นก็คือ รูปแบบ”ใหม่” แต่เนื้อหา”เดิม”

 

ความจริง สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจมิได้ใช้กระบวนการตรวจสอบแต่เพียงหน่วยงานเดียว

นั่นก็คือ

มิได้ใช้บริการของ “กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี”หรือปอท.เท่านั้น

หากเป็น “สันติบาล” อีกทาง 1 ด้วย

อย่างน้อยกองบัญชาการตำรวจสันติบาลก็ยังมีกองเอกสารการพิมพ์อันเป็นหน่วยงานตาม พรบ.การพิมพ์ 2484

แล้วก็จะพบ”เบาะแส”ได้

เพราะในความเป็นจริง เบาะแสนี้เริ่มต้นผ่านคอลัมน์ 1 ของ”คอลัมนิสต์”ใน “หนังสือพิมพ์”

จาก “สื่อกระดาษ”จึงขยายไปสู่”สื่อกระจก”

ในที่สุด กรณีการปล่อยข่าวลืออย่างที่เรียกว่า”ประทุษกรรม”เก่าก็เป็นการประสานระหว่าง “สื่อเก่า”กับ”สื่อใหม่”