งดงาม “เหรียญสมเด็จ ณ โรงพยาบาลศรีราชา” มงคลสุดท้ายหลวงปู่ทิม

“เหรียญสมเด็จ ณ โรงพยาบาลศรีราชา” เป็นอีกเหรียญที่ได้รับการยอมรับให้เป็นเหรียญที่มีความงดงามระดับต้น

ประการสำคัญ คือ เป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง ปลุกเสก

เหรียญสมเด็จ ณ โรงพยาบาลศรีราชา จัดสร้างในปี พ.ศ.2518 โดยลูกศิษย์สร้างถวายในโอกาสที่หลวงปู่ทิมอายุครบ 8 รอบ (96 ปี) ก่อนที่หลวงปู่ทิมจะอาพาธต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งได้อธิษฐานจิตปลุกเสกเป็นเวลานาน

กล่าวกันว่าท่านได้ลงเมตตามหาอุด แคล้วคลาด และมหาอำนาจ ลงในเหรียญอย่างพร้อมมูล ขณะที่ท่านอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาล ท่านยังได้แจกให้ศิษย์ใกล้ชิด ผู้ที่มาเยี่ยม ตลอดจนแพทย์และพยาบาล

จึงเรียกชื่อกันว่า “เหรียญสมเด็จ ณ โรงพยาบาลศรีราชา”

dvdbdbdbn

เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์นั่งพาน และ พิมพ์หยดน้ำ โดยหลวงปู่ทิมบอกว่า “เหรียญนั่งพาน” สำหรับผู้ชายใช้ และ “เหรียญหยดน้ำ” สำหรับผู้หญิงใช้

“เหรียญพิมพ์นั่งพาน” สร้างเป็น เนื้อทองคำ จำนวน 2 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ไว้เหนือศีรษะหลวงปู่, เนื้อนวโลหะ สร้าง 9 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ไว้ที่สังฆาฏิ, เนื้อเงิน สร้าง 20 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ไว้เหนือเข่าซ้ายของหลวงปู่ และเนื้อทองแดง สร้างจำนวน 5,000 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ข้างข้อศอกด้านซ้าย พิมพ์ด้านหลังยังแบ่งออกเป็น 2 บล็อก คือ บล็อกหลังจิก กับ บล็อกธรรมดา

โดยบล็อกหลังจิกจะมีลักษณะเหมือนรอยเล็บจิกที่เหรียญ อันอาจเกิดจากการกระแทกตอนปั๊มเหรียญช่วงท้ายๆ และเป็นพิมพ์นิยม เพราะรอยจิกนี้ยากแก่การปลอม จึงดูเก๊แท้ได้ง่ายกว่า

ส่วน “เหรียญพิมพ์หยดน้ำ” สร้างเป็นเนื้อทองคำ จำนวน 2 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ไว้เหนือศีรษะหลวงปู่, เนื้อนวโลหะ สร้าง 9 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ที่ช่องกนกด้านซ้ายมือของเหรียญ, เนื้อเงิน สร้าง 20 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ที่ช่องกนกด้านขวามือของเหรียญ และเนื้อทองแดง สร้างจำนวน 5,000 เหรียญ ตอกโค้ด “ท” ที่สังฆาฏิหลวงปู่

การพิจารณา เหรียญสมเด็จ ณ โรงพยาบาลศรีราชา ให้ดูความคมชัดของเส้นสาย ตัวอักษร และสังเกตพื้นที่การตอกโค้ดของแต่ละเนื้อ เพราะจะตอกคนละบริเวณกัน โดยเฉพาะ เหรียญนั่งพาน จะมีจุดสำคัญอีกจุด คือ ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าการตัดขอบเหรียญด้านซ้ายและด้านขวาจะไม่เหมือนกันในบริเวณช่วงล่าง ยิ่งถ้ามองด้านหลังจะเห็นได้ชัดเจน

ปัจจุบัน “เหรียญสมเด็จ ณ โรงพยาบาลศรีราชา” จึงได้รับความนิยมสูงมาก หาดูหาเช่าของแท้ยากยิ่งนัก

fbrfrdbnrnr

สําหรับประวัติ นามเดิมชื่อ ทิม งามศรี เกิดที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ที่ 2 ต.ละหาร (ปัจจุบันเป็น หมู่ 1 ต.หนองบัว) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 7 ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน 2422

ครั้นเมื่ออายุ 17 ปี บิดา ได้นำไปฝากไว้กับหลวงพ่อสิงห์ วัดละหารใหญ่ เพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ ทั้งภาษาไทยและอักษรขอม

ต่อมา ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดทับมา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2449 ตรงกับปีมะแม เดือน 6 วันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ มีพระครูขาว เจ้าคณะแขวงเมืองระยอง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อสิงห์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และเจ้าอธิการเกตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า “อิสริโก”

หลังอุปสมบท ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ เมื่อปี พ.ศ.2450

 

สําหรับวัดละหารไร่ ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2354 โดยหลวงพ่อสังข์เฒ่า รองเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่สมัยนั้น เห็นว่าพื้นที่ทางฝั่งคลองด้านตรงข้ามทางทิศเหนือของวัดละหารใหญ่มีทำเลดีเหมาะแก่การปลูกพืชผัก จึงได้หักร้างถางพงใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผัก

ในช่วงแรกได้สร้างที่พักร่มเงาไว้ เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา ก็มาจำพรรษาที่วัดละหารใหญ่

ในระยะหลังมีพระภิกษุไปอยู่เพิ่มมากขึ้น จึงได้ก่อสร้างกุฏิ วิหาร ตั้งชื่อว่า “วัดไร่วารี” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดละหารไร่” มีหลวงพ่อสังข์เฒ่า เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

ต่อมามีเจ้าอาวาสปกครองวัดตามลำดับ คือ หลวงพ่อเกิด หลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อจ๋วม

กระทั่ง หลวงพ่อจ๋วม ได้ลาสิกขา ทำให้วัดละหารไร่ขาดเจ้าอาวาสผู้ปกครอง เป็นเวลา 3 เดือน ในขณะนั้นหลวงปู่ทิม เดินทางกลับจากจังหวัดชลบุรี พุทธศาสนิกชนบ้านละหารไร่ จึงพร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส เมื่อประมาณปี พ.ศ.2450

พ.ศ.2478 พระอธิการทิม ได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นพระครูชั้นประทวน โดยส่งหมายและตราตั้งไว้ทางเจ้าคณะจังหวัดระยอง แต่หลวงปู่ทิมยังไม่ยอมไปรับและไม่บอกใคร ทางจังหวัดจึงได้มอบหมายให้เจ้าคณะอำเภอมามอบให้ที่วัด

ต่อมาปี พ.ศ.2497 คณะสงฆ์ได้เสนอขอพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนชั้นเป็นพระครูสัญญาบัตร ท่านก็ยังไม่ยอมและไม่บอกให้ญาติโยมทราบ จนทางเจ้าคณะอำเภอได้มีหนังสือส่งไปยังวัด

ไวยาวัจกรได้ทราบและนำเรื่องนี้ปรึกษาชาวบ้านและคณะกรรมการวัดให้ทราบ จึงอาราธนาหลวงปู่ทิมเข้ารับสัญญาบัตรพัดยศ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2507

มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2518

สิริรวมอายุ 96 ปี พรรษา 72