ลูกกำพร้าสงคราม และชาวญี่ปุ่นพลัดถิ่น เรื่องราวจากเหยื่อสงคราม

เผยแพร่ ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 ม.ค. – 16 ม.ค. 2551 ในคอลัมน์ จากญี่ปุ่น โดย นกุล ว่องฐิติวงศ์

“ลูกกำพร้า” เป็นผลพวงที่จะเกิดตามมาภายหลังสงครามการเข่นฆ่ากันของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย และเกือบทั้งหมดจะเป็นลูกหลานของผู้ถูกรุกราน แต่ก็มีบางครั้งในประวัติศาสตร์ที่ลูกกำพร้าสงครามกลับกลายเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของผู้รุกรานเสียเอง

รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกลูกกำพร้าชาวญี่ปุ่นที่ถูกทอดทิ้งไว้ในดินแดนอื่นๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าไปรุกรานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองว่า “war orphans” ลูกกำพร้าสงคราม หรือ “war displaced” ผู้พลัดถิ่นสงคราม ซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ในหลายประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ และจีน

เฉพาะที่จีนประเทศเดียวประมาณว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 ซึ่งญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม มีเด็กชาวญี่ปุ่นที่พ่อแม่ซึ่งกำลังหนีตายหรือตายแล้วถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังเกือบหมื่นคน

ในช่วงปี ค.ศ.1930 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุคจักรวรรดินิยมที่ญี่ปุ่นได้ขยายอำนาจเข้าไปรุกรานดินแดนบนคาบสมุทรเกาหลี ในปี 1932 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ปัจจุบันคือจังหวัดเหลียวหนิงและบางส่วนของเขตปกครองตนเองมองโกเลียในด้วยการก่อตั้งประเทศแมนจูหรือแมนจูกั๋วขึ้น มีการส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานโดยมีกองทัพญี่ปุ่นของตนเองคอยปกป้องคุ้มครอง

มีเรื่องเล่าขานกันว่าครูในโรงเรียนญี่ปุ่นยุคนั้นจะบอกกับเด็กนักเรียนว่า “แอปเปิ้ลในดินแดนจีนนั้นทั้งหวานทั้งหอม พวกเราจงพากันไปกินแอปเปิ้ลที่เมืองจีนกันเถอะ” เท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ขอยืนยัน แต่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าในปี ค.ศ.1945 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศแพ้สงครามมีชาวญี่ปุ่นทั้งทหารและพลเรือนตั้งรกรากอยู่ในดินแดนแมนจูกั๋วทั้งสิ้นกว่า 320,000 คน

ในเดือนสิงหาคมปีนั้นเมื่อญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายแพ้ ชาวจีนได้จับอาวุธขึ้นต่อสู้ขับไล่ญี่ปุ่นในขณะที่กองทัพรัสเซียกำลังเคลื่อนเข้ามาใกล้จากทางภาคเหนือ ชาวญี่ปุ่นในแมนจูกั๋วต่างละทิ้งบ้านช่องรวมทั้งลูกๆ ที่เป็นเด็กทารกและเด็กเล็กซึ่งเป็นภาระในการหลบหนี พ่อของเด็กหลายคนเป็นทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในการสู้รบ

ปรากฏว่าหลังสงครามสงบมีลูกกำพร้าสงครามชาวญี่ปุ่นกว่า 7,000 คนถูกละทิ้งไว้ในแผ่นดินจีน ในเหลียวหนิง เมืองเสิ่นหยาง เมืองฉีหลิน เมืองเฮยหลงเจียงและบางส่วนของมองโกเลียใน

ด้วยมนุษยธรรม เด็กกว่า 4,000 คนจึงได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่บุญธรรมชาวจีน เด็กหลายคนถูกทหารรัสเซียที่เข้ามาช่วยจีนสู้รบกับญี่ปุ่นนำกลับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

ลูกกำพร้าสงครามเหล่านี้ต่างเติบโตขึ้นมาบนแผ่นดินจีนกับครอบครัวของพ่อแม่บุญธรรมที่เลี้ยงดูพวกเขาเสมือนหนึ่งลูกในไส้โดยส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ถึงเชื้อชาติอันแท้จริงของตนแม้จนกระทั่งวันตาย ผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในวันนี้ก็ล้วนอยู่ในวัยชรามีอายุเกิน 60 ปีไปแล้วทั้งสิ้น

เมื่อญี่ปุ่นกับจีนเริ่มต้นมีความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติอีกครั้งในปี ค.ศ.1972 ได้มีการหยิบยกเรื่องของลูกกำพร้าสงครามขึ้นมาเป็นประเด็นการหารือโดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นยินยอมให้ลูกกำพร้าสงครามที่มีหลักฐานสามารถพิสูจน์สถานะความเป็นญี่ปุ่นสามารถเดินทางกลับไปตั้งรกรากหรือค้นหาพบปะกับญาติพี่น้องในญี่ปุ่นได้ หลังถูกละทิ้งมายาวนานกว่า 30 ปี ลูกกำพร้าสงครามชาวญี่ปุ่นจึงมีโอกาสเหยียบแผ่นดินแม่เป็นครั้งแรก

จากหลักฐานของกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นปรากฏว่าในระหว่างปี 1972-2000 มีลูกกำพร้าและชาวญี่ปุ่นพลัดถิ่นอพยพกลับสู่มาตุภูมิแล้ว 6,286 คน กว่า 3,000 คนมาจากประเทศจีน และมีอีกกว่า 5,000 คนที่ยังคงสมัครใจอยู่ในประเทศที่สองและเลือกที่จะเดินทางกลับไปเยี่ยมญี่ปุ่นเป็นครั้งคราว

ในปี 1981 รัฐบาลญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลจีนในการแก้ไขปัญหาของลูกกำพร้าสงครามที่ยังหลงเหลืออยู่ในจีนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นผู้จัดการและออกค่าใช้จ่ายให้กับลูกกำพร้าที่มีหลักฐานพิสูจน์ความเป็นมาของตนในการเดินทางกลับมาตั้งรกรากหรือติดตามหาญาติพี่น้องของตนในญี่ปุ่น

นับจนถึงปี 2000 มีลูกกำพร้าสงครามถึง 60% ที่ประสบความสำเร็จในการตามหาญาติพี่น้องชาวญี่ปุ่นของตน หลังปี 2000 มีเพียง 20% ที่สามารถติดต่อกับญาติพี่น้องได้และไม่เคยมีใครติดต่อกับญาติได้เลยในช่วงสองปีหลังนับจากปี 2005 เป็นต้นมา

 

ลูกกำพร้าสงครามรุ่นล่าสุดที่เพิ่งเดินทางถึงญี่ปุ่นเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (2550) เพื่อตามหาญาติคือกลุ่มของนายหลิวกัวซิน กับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกสามคนจากเมืองเสิ่นหยางของจังหวัดเหลียวหนิง คือ นายเส้าฉี, นายลีเฟิงเจา และนางเฉินฟงหลัน ทุกคนไม่มีใครรู้อายุที่แท้จริงของตนเอง ประมาณว่านายหลิวมีอายุ 66 ปี ส่วนที่เหลือมีอายุ 65, 64 และ 67 ปีตามลำดับ หลิวน่าจะเป็นคนที่โชคดีที่สุดในกลุ่มที่อย่างน้อยเขาได้รับรู้จากบันทึกของบิดาบุญธรรมผู้วายชนม์ที่เขาไปค้นพบในปี 1992 ว่าเขามีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า “เคนอิจิ” และบิดาที่แท้จริงของเขาชื่อ “มาสึโอะ ซาโตะ” ทั้งยังได้จดบันทึกตำบลที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นไว้ด้วยว่าอยู่ในจังหวัดมิยากิ

ในปี 1993 หลิวส่งจดหมายไปยังตำบลที่อยู่ดังกล่าวแต่จดหมายถูกตีกลับเพราะหาที่อยู่ไม่พบ เขาได้แต่อุบความลับไว้คนเดียวด้วยเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับครอบครัวหากปรากฏความจริงออกไปว่าเขาเป็นลูกญี่ปุ่นจนกระทั่งเขาเกษียณอายุจากโรงงานผลิตเครื่องจักรที่ทำงานอยู่ในปี 2001 เขาเพิ่งเปิดเผยความลับของชาติกำเนิดกับ หลิว เกียง ลูกชายในปี 2006

หลิว เกียง ได้เป็นธุระติดต่อกับสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่งจนนำไปสู่การเดินทางกลับสู่เมืองแม่เพื่อติดตามหาญาติพี่น้องที่แม้จะมีความเป็นไปได้ไม่มากนักแต่ทุกคนก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะได้พบกับพี่น้องที่แท้จริง ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและสามารถกลับไปใช้ชีวิตปั้นปลายบนแผ่นดินแม่ใน ประเทศญี่ปุ่นที่มีแต่ความเจริญมั่งคั่ง

แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ลูกกำพร้าสงครามที่เดินทางกลับไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่นล้วนประสบกับความขมขื่นที่ไม่แตกต่างกัน พวกเขาส่วนใหญ่มีอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว ไม่เคยรู้จักสังคมญี่ปุ่นและพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย ทำให้ต้องมีชีวิตอย่างลำบากยากจนทำงานเลี้ยงชีพโดยใช้แรงงานและมีสถานะต่ำสุดในสังคมที่ผู้คนพากันรังเกียจ

หลายคนไม่มีงานทำและถูกปฏิเสธจากญาติพี่น้องทำให้ต้องยังชีพด้วยเงินช่วยเหลือจำนวนไม่มากนักจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

ในปี 2002 กลุ่มลูกกำพร้าสงครามได้รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลญี่ปุ่นขอค่าชดใช้เยียวยาจากรัฐบาลญี่ปุ่น นับจนขณะนี้มีคดีฟ้องร้องแบบเดียวกันรวม 14 คดี หลายคดีได้รับการตัดสินไปแล้วและมีเพียงคดีเดียวที่ผู้ร้องเป็นฝ่ายชนะ เพื่อยุติปัญหาเรื่องคดีฟ้องร้องเช่นนี้ เมื่อกลางเดือนธันวาคมนี้เอง รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายเพิ่มค่าเลี้ยงดูลูกกำพร้าสงครามที่มีอยู่ประมาณ 6,000 รายจากเดิมเดือนละ 66,000-80,000 เยนมาเป็นเดือนละ 146,000 เยน

นายกรัฐมนตรี ยาสุโอะ ฟูกูดะ ได้กล่าวขอโทษต่อบรรดาลูกกำพร้าสงครามที่เข้าพบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาต่อความล่าช้าและการละเลยในอดีตที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปฏิบัติต่อปัญหาของลูกกำพร้าสงครามเหล่านี้ สร้างความพอใจให้แก่บรรดาลูกกำพร้าสงครามจนมีการถอนคำฟ้องขอค่าชดใช้จากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หลายคนแสดงความยินดีและรู้สึกอบอุ่นเป็นครั้งแรกในแผ่นดินแม่ที่เขาเคยรู้สึกเหมือนเป็นผู้พลัดถิ่นมาตลอดเวลานับสิบปีที่กลับคืนมา

เรื่องราวของผู้พลัดถิ่นที่เป็นเหยื่อจากสงครามเหล่านี้มีหลากหลายและคงจะมีโอกาสได้นำมาเล่าถ่ายทอดในตอนต่อไป