ระบบขนส่งมวลชนทางน้ำ ไทยออกแบบเอง ปวดหัว เพราะไม่เข้าเกณฑ์ฝรั่ง

เชื่อว่า มนุษย์ทำงานจำนวนไม่น้อย ที่อาศัยอยู่ในโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ จะต้องเคยใช้บริการขนส่งมวลชนทางเรือ ผ่านคลองแสนแสบ ที่สะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา

ในหนังสือ กรุงเทพฯ : ขนส่งทำมือ ผู้เขียนและทีมงานช่วยกันค้นคว้า นำเสนอเรื่องราวไว้มากมายและน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นความเป็นไทย

ตามความในหนังสือ ระบบขนส่งมวลชนทางน้ำนี้ คิดค้นขึ้นมาโดยคนไทยเองทั้งหมด จึงไม่แปลกที่จะมีปัญหามากมายกับทางราชการ เพราะไม่เข้าเกณฑ์ฝรั่งในต่างประเทศ

เครื่องยนต์นั้นดัดแปลงมาจากเครื่องยนต์รถบรรทุก การระบายความร้อนใช้น้ำจากคลอง โดยใช้เครื่องสูบน้ำ

การออกแบบท้องเรือให้แบน เพื่อให้มีผิวสัมผัสน้ำมากกว่าเรือทั่วไป ช่วยให้เรือไม่โคลงเวลาขึ้นลง การออกแบบปลายท้องเรือให้แหลม และการเชิดหัวเรือขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็ว

เมื่อผู้โดยสารสามารถขึ้นลงพร้อมกันทางด้านข้างเรือที่ยาวกว่ายี่สิบเมตร โดยไม่ขึ้นลงหัวท้ายเรือเหมือนเรือ หรือรถโดยสารประจำทาง จึงสะดวกและรวดเร็ว

ส่งผลให้ตารางเวลาการเดินเรือแน่นอนเหมือนระบบขนส่งมวลชนในต่างประเทศ

 

การออกแบบท่าแคบยาว เพื่อให้ผู้คนรออยู่บนฝั่ง ไม่มาออแน่นบนท่า จนเกิดปัญหาน้ำหนัก และเกิดอุบัติเหตุล่มถล่มลงน้ำเหมือนท่าเรือทั่วไป

การปรับลดความสูงหลังคาเรือในเวลาที่น้ำขึ้น หรือเมื่อเรือจะต้องลอดใต้สะพาน การชักรอกผ้าใบด้านข้างขึ้นลง เพื่อกันน้ำเน่าในคลองกระเด็นถูกตัว

การแก้ปัญหาและปรับจากสภาพที่เป็นอยู่ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้ระบบขนส่งมวลชนทางน้ำมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเต็มร้อยนี้

ล้วนเป็นภูมิปัญญาของคนไทยทั้งหมด ที่สมควรได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

 

แต่ทว่า กลับกลายเป็นปัญหา เพราะเรือทั้งหมด 70 ลำ ที่คิดค้นขึ้นมาเองโดยคนไทย ประกอบและซ่อมบำรุงด้วยช่างไทย การออกแบบท่าเรือและระบบการจัดการตลอดเส้นทางทั้งหมดโดยคนไทย ทำให้ไม่มีเอกสารประกอบเป็นภาษาอังกฤษหรือไทยเล่มหนา

ธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อ ทางราชการไม่สามารถรับจดทะเบียน

จึงเป็นเรื่องที่ไทยแอบคิด ไทยแอบทำ ไทยแอบใช้ ไทยแอบหาเงินเองและแอบจ่ายเงินเอง โดยทางการไม่รู้

ไม่เหมือนโครงการเรือข้างทำเนียบ