แคทเธอรีน เกอร์สัน : ไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลทหารไทยได้ยุติการโจมตีต่อสิทธิมนุษยชน

“รัฐบาลไทยต้องถูกกดดันจากนานาชาติมากขึ้น เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะยกเลิกข้อจำกัดทางการเมือง”

ปลายเดือนที่แล้วเป็นวาระครบรอบสี่ปีรัฐประหาร ซึ่งกองทัพได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไทย รัฐบาลทหารส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3,000 นายกระจายไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ตำรวจซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งถึงเจ็ดเท่า บุกเข้าไปสลายการเดินขบวนอย่างสงบ และจับกุมบุคคลกว่าสิบคน และได้สลายฝูงชนซึ่งฝ่าสายฝนยามมรสุมมาชุมนุม

ไม่กี่วันก่อนการประท้วง บรรดาผู้วางแผนมาร่วมชุมนุมต่างตกเป็นเป้าการคุกคามและการควบคุมตัวโดยกองกำลังความมั่นคง และภายหลังการเดินขบวน พวกเขาอีกสิบกว่าคนถูกจับกุมและดำเนินคดีในฐานความผิดประการต่าง ๆ รวมทั้งยุยงปลุกปั่น

มาตรการที่รุนแรงเช่นนี้ถือว่าขัดแย้งกับคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทย ซึ่งได้ให้ไว้เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ว่าจะ “ยกเลิกข้อจำกัดทางการเมือง” ภายในเดือนมิถุนายน โดยมีการเสนอว่าการผ่อนคลายนโยบายที่เข้มงวดเช่นนี้ ถือเป็นก้าวย่างแรกบนเส้นทางที่นำไปสู่การยุติการปกครองของระบอบทหาร ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

การปราบปรามผู้ชุมนุมในวาระครบรอบปีของการทำรัฐประหาร ซึ่งนับเป็นการปราบปรามครั้งล่าสุดจากที่ทำมาหลายครั้งในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้การแสดงวาทศิลป์เรื่องการปฏิรูปกลายเป็นเรื่องเหลวไหล ทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนตามกาลสมควรว่า การปฏิรูปตามคำสัญญาของรัฐบาลทหารนั้น ถ้ายังไม่เห็นด้วยตาก็ยากจะเชื่อ และเหตุใดถึงเวลาแล้วที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องกดดันรัฐบาลไทยมากขึ้น

เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องอย่างยิ่งกับท่าทีที่เข้มงวดของรัฐบาลทหาร ที่ไม่ยอมให้มีการแสดงความเห็นต่างไม่ว่าในรูปแบบใดภายใต้ระบอบปกครองของตน

นับตั้งแต่โค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลทหาร ได้ใช้ยุทธวิธีนานัปการเพื่อปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์คสช. และผู้ซึ่งแสดงความกังวลต่อพัฒนาการด้านการเมืองภายในประเทศ

คสช.ได้ใช้กฎหมายที่มีอยู่และประกาศ/คำสั่งของตน เป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมการจัดกิจกรรมทางการเมือง มีข้อห้ามไม่ให้ประชาชนกว่าห้าคนรวมตัวกันในที่สาธารณะ มีการสอดส่องการสื่อสารระหว่างบุคคล และมีการห้ามอย่างสิ้นเชิงไม่ให้มีการอภิปรายสาธารณะในประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติ

นับเป็นการปราบปรามอย่างเป็นระบบต่อสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคมไทย นักกิจกรรมรวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าหมาย แต่ไม่ใช่แค่นั้น ทางการยังขยายการปราบปรามไปยังนักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิ ทนายความซึ่งต่อสู้คดีให้กับลูกความของตน ผู้สื่อข่าวซึ่งรายงานในประเด็นที่ละเอียดอ่อน นักวิชาการที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ และนักการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

คนที่กล้าออกมาส่งเสียงอย่างเปิดเผยจะถูกดำเนินคดี ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกจำคุก ส่วนคนอื่น ๆ ต้องตกงาน หรือไม่ก็ถูกอายัดทรัพย์สิน ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง และถูกขู่จะไล่ออกจากมหาวิทยาลัย หลายคนถูกควบคุมตัวตามคำสั่งของคสช.เพื่อเข้ารับ “การปรับทัศนคติ” เป็นเวลานานถึงเจ็ดวันในสถานที่ซึ่งไม่เปิดเผยเป็นทางการ

รัฐบาลทหารไม่ได้แสดงท่าทีสะทกสะท้านต่อแรงกดดันภายในประเทศ ทั้งไม่ส่งสัญญาณใด ๆ ว่าต้องการยุติการใช้อำนาจอย่างมิชอบเพื่อคุกคามฝ่ายตรงข้าม ถึงเวลาที่ประชาคมระหว่างประเทศจะยืนยันว่า ต้องมีการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนของคนไทย โดยไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับกรอบเวลาการเลือกตั้ง ประกาศล่าสุดซึ่งระบุว่านายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสงค์จะเดินทางไปเยือนรัฐภาคีของสหภาพยุโรป รวมทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีในเดือนมิถุนายน นับเป็นโอกาสที่ดียิ่ง

หลังรัฐประหารปี 2557 สหภาพยุโรปได้ประกาศชะลอความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย และเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ได้แสดงเจตจำนงจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทย ไม่ว่าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ครั้งนี้จะมีแรงจูงใจอย่างไร กำหนดเวลาการเยือนประเทศครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอย่างดีที่สหภาพยุโรปจะปฏิบัติตามถ้อยแถลงของตนว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศไทย “มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการสานเสวนาอย่างจริงจัง ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าสำคัญ รวมทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”

แรงกดดันของประชาคมระหว่างประเทศในช่วงนี้ นับว่าเป็นสิ่งเร่งด่วนมากยิ่งกว่าช่วงใด เมื่อคำนึงถึงคำสัญญาของคสช.ที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากประสบการณ์ช่วงที่ผ่านมาทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามักได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเวลาก่อนถึงวันเลือกตั้ง

ยกตัวอย่างการออกเสียงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญของไทยเมื่อปี 2559 ในช่วงหลายเดือนก่อนการหย่อนบัตร ทางการได้ปราบปรามอย่างรุนแรงต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ มีการสั่งให้ยกเลิกงานอภิปรายสาธารณะ มีการสั่งห้ามกิจกรรมสังเกตการณ์ของกลุ่มอิสระ และมีการสั่งยึดหนังสือ ใบปลิว จดหมาย และเอกสารเพื่อการรณรงค์อื่นๆ ผู้ซึ่งกล้าพูดต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญหรือตั้งคำถามกับความถูกต้องของการออกเสียงประชามติ จะถูกควบคุมตัว

 

โดยภาพรวมมีบุคคลกว่า 100 คนซึ่งถูกดำเนินคดีอาญา อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมอย่างสงบ ส่วนแกนนำนักศึกษาอีกหลายสิบคนถูกจับกุม และถูกควบคุมตัวโดยพลการเนื่องจากประท้วงต่อต้านระบอบทหาร อีกหลายร้อยคนยังคงถูกสอบสวนหรือไม่ก็ถูกคุมขัง

นับแต่ยึดอำนาจ คสช.ได้ตบตาผู้วิพากษ์วิจารณ์จากนอกประเทศเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้คำสัญญาแบบหลวมๆ ที่จะยกเลิกการควบคุมจำกัด และมีการเลื่อนการปฏิบัติตามมาหลายครั้ง สิ่งที่รัฐบาลทหารให้สัญญาล่าสุด ยังมีความหมายไม่ชัดเจน ในขณะที่ทางการไม่แสดงท่าทีอย่างจริงจังว่า เมื่อไรหรือแม้กระทั่งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน สหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องใช้ช่องทางการทูตที่มีอยู่เพื่อผลักดันให้มีการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนโดยทันที

หากไม่มีการยกเลิกประกาศและคำสั่งเผด็จการทั้งหมด ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อปราบปรามสิทธิของประชาชนคนไทยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ย่อมมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า การเลือกตั้งในปี 2560 อาจล้มเหลวและกลายเป็นการละเมิดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ทางการต้องยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับบุคคลหลายร้อยคนซึ่งได้แสดงความเห็นและเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ และคนที่ถูกคุมขังต้องได้รับการปล่อยตัว

นายกรัฐมนตรีไทยต้องประกาศเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน ก่อนจะเริ่มการเดินทางไปเยือนเมืองหลวงประเทศต่าง ๆ ในยุโรปในปลายเดือนนี้


แคทเธอรีน เกอร์สัน นักรณรงค์ประจำประเทศไทยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล