สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในโลกที่ถูก “ปั้น” โดยคนคนเดียว ปัญหาชนชาติน้อย

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 ส.ค. – 23 ส.ค. 2550 บทความพิเศษ โดย ภูมิ พิทยา ในเรื่อง ปัญหาชนชาติและศาสนา (5)

 

สิงคโปร์มีพลเมืองประกอบด้วยสามชนชาติใหญ่เช่นเดียวกับมาเลเซีย แต่มีสัดส่วนแตกต่างกัน โดยมีคนจีน 76% คนมลายู 14% คนเชื้อสายเอเชียใต้ซึ่งได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศและศรีลังการวม 7% นอกนั้นเป็นชาวยุโรปและคนชาติอื่นๆ

สิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี 1819 จนได้รับสิทธิปกครองตนเองเมื่อปี 1959 จากนั้นได้เข้าร่วมสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อปี 1963 อีกสองปีต่อมาก็ได้แยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1965 นับแต่นั้นเป็นต้นมา สิงคโปร์ก็ได้เดินบนหนทางสร้างชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก จนประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างความสมานฉันท์ของพลเมืองที่มีความหลากหลายทางชนชาติ

สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในโลกที่ถูก “ปั้น” โดยคนคนเดียว คนคนนั้นคือ ลี กวน ยิว และภายหลังเมื่อ ลี กวน ยิว วางมือทางการเมืองในปี 1990 แล้ว ทายาททางการเมืองของเขาคือ โก๊ะ จ๊ก ตง และ ลี เซียน ลุง ยังสืบทอดนโยบายของเขาแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างของสิงคโปร์ในทุกวันนี้ไม่ว่าสภาพบ้านเมือง รูปแบบการเมือง ระบอบเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ พฤติกรรมของคน ฯลฯ ล้วนถูกกำหนดโดย ลี กวน ยิว แทบทั้งสิ้น

ลี กวน ยิว ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองภายหลังสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ เขาได้ร่วมกับกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก่อตั้งพรรคกิจประชาชนเมื่อปี 1954 พรรคนี้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 1959 ลี กวน ยิว ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นเขาได้ต่อสู้กับกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรค จนในที่สุดสามารถขับกลุ่มฝ่ายซ้ายออกไป พรรคกิจประชาชนจึงตกอยู่ใต้อำนาจของ ลี กวน ยิว โดยเด็ดขาด และกลายเป็นพรรครัฐบาลที่ปกครองประเทศมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

การปกครองสิงคโปร์ของ ลี กวน ยิว เป็นลักษณะ “เผด็จการรัฐสภา” แม้สิงคโปร์จะมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภา มีศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ฯลฯ ตามรูปแบบปกครองระบอบประชาธิปไตยทั่วไป แต่รัฐบาลก็ใช้อำนาจแทรกแซงจนไม่ต่างอะไรกับประเทศเผด็จการที่ปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว

พรรคกิจประชาชนของ ลี กวน ยิว ได้ใช้อำนาจรัฐบีบคั้นกลั่นแกล้งพรรคฝ่ายค้านทุกรูปแบบ เช่น กำหนดวันเลือกตั้งที่กระชั้นมากจนพรรคฝ่ายค้านไม่มีโอกาสหาเสียง ไม่ให้พรรคฝ่ายค้านจัดการชุมนุมปราศรัยหาเสียง หาเหตุจับกุมผู้สมัคร ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ข่มขู่ประชาชนไม่ให้ลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้าน มิฉะนั้น จะไม่ได้รับบริการสาธารณูปโภคจากรัฐบาล กระทั่งประกาศว่ารัฐบาลจะดูแลเขตที่เลือกพรรครัฐบาลก่อนเขตอื่น

แบบเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณของไทยเคยเลียนแบบเอาไปพูด จนถูกต่อต้านไปทั่วทุกวงการ

ผลจากการแทรกแซงของรัฐบาล ทำให้รัฐสภาสิงคโปร์ไม่มี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านนานถึง 15 ปี ระหว่าง 1966-1980 หลังจากนั้นแม้มีนักการเมืองฝ่ายค้านบางคนสามารถเล็ดลอดเข้ารัฐสภา แต่ก็ถูกจำกัดบทบาทและถูกกลั่นแกล้งจนแทบไม่มีโอกาสทำหน้าที่ ส.ส. รัฐสภาสิงคโปร์ถูกผูกขาดโดยพรรคกิจประชาชนเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา จนตอนหลังรัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ผู้สมัครฝ่ายค้านที่ได้คะแนนสูงสุดได้เป็น ส.ส. เพื่อให้รัฐสภามี ส.ส. ฝ่ายค้านอย่างน้อย 3 คน จะได้ไม่ดูน่าเกลียดจนเกินไป

รัฐบาลสิงคโปร์ได้จำกัดการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ไม่ให้ประชาชนและสื่อทุกแขนงวิจารณ์รัฐบาล รัฐบาลยังใช้กฎหมายที่เฉียบขาดและการลงโทษที่รุนแรงในการปกครองประเทศ ประชาชนอาจถูกจับกุมดำเนินคดี หากกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ตั้งใจ เช่น ทิ้งก้นบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง ทาสีประตูบ้านแตกต่างจากที่ทางการกำหนด ตัดต้นไม้ในบ้านโดยไม่ขออนุญาต ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงทำสกปรกในที่สาธารณะ เป็นต้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีวิธีลงโทษด้วยการ “เฆี่ยน” ซึ่งเป็นที่หวาดหวั่นแก่ผู้กระทำผิดอย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกที่สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่มีสถิติอาชญากรรมที่ต่ำมาก

ชาวสิงคโปร์ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ ถูกจำกัดการแสดงออกและทางเลือกทางการเมือง และต้องอยู่อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ละเมิดกฎหมายที่ทำให้ต้องถูกปรับเงินหรือถูกจองจำ แต่พวกเขาก็ได้รับการชดเชยด้วยการอยู่ในสังคมที่มีความปลอดภัยสูง บ้านเมืองสะอาดสะอ้านและเป็นระเบียบ มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพสูงและแทบไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น มีระบบสวัสดิการและการประกันสังคมดีเยี่ยม และที่สำคัญที่สุดคือ ผลจากการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ชาวสิงคโปร์ต่างได้รับอานิสงส์จากการพัฒนานี้ พวกเขามีระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้

นี่เองที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเต็มใจอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ โดยไม่ลุกขึ้นมาก่อกบฏหรือทำการต่อต้านด้วยวิธีรุนแรง จะมีบ้างก็เป็นเพียงการก่อปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เพื่อระบายความอัดอั้นเท่านั้น เช่น แอบปัสสาวะในลิฟต์ เป็นต้น

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหมิ่นเหม่ต่อการเกิดปัญหาชนชาติไม่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนและหลังได้รับเอกราช สิงคโปร์เคยเกิดเหตุการณ์กระทบรุนแรงระหว่างชาวจีนกับชาวมลายูถึง 3 ครั้งในปี 1950, 1964 และ 1969 สิงคโปร์ยังถูกขนาบด้วยเพื่อนบ้านสองประเทศคือมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูและเป็นปฏิปักษ์กับคนจีน

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาชนชาติ จึงได้วางหลักการความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติและกำหนดมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่ได้รับเอกราชสมบูรณ์

สิงคโปร์กำหนดให้ทุกชนชาติมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยไม่มีชนชาติใดอยู่เหนือชนชาติอื่น แม้คนจีนจะเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ แต่คนจีนก็ไม่มีสิทธิทางการเมืองหรือสังคมสูงกว่าชนชาติอื่น ตรงกันข้าม รัฐบาลสิงคโปร์กลับให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ชาวมลายู ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษาและฐานะทางสังคมด้อยกว่ากลุ่มชนอื่น เพื่อให้ชาวมลายูสามารถแข่งขันกับชนชาติอื่นและยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ใช่อาศัยความช่วยเหลือจากรัฐบาลตลอดแบบในมาเลเซีย

สิงคโปร์กำหนดให้ภาษามลายู ภาษาจีน ภาษาทมิฬและภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาใช้งาน เด็กชาวสิงคโปร์ทุกคนจะต้องเรียนภาษาของชนชาติตนควบคู่กับภาษาอังกฤษ เมื่อโตขึ้นสามารถเลือกเข้าโรงเรียนที่ใช้ภาษาชนชาติหรือภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน ผลปรากฏว่าเด็กทุกคนเลือกเข้าโรงเรียนภาษาอังกฤษหมด สิงคโปร์จึงสามารถสร้างความเป็นเอกภาพทางภาษาของคนในชาติด้วยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง

ในขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ รัฐบาลก็ได้เน้นการสร้างความเข้าใจ ความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างชนชาติควบคู่ไปด้วย รัฐบาลกำหนดให้เขตชุมชนต่างๆ ต้องจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ชนชาติต่างๆ ตามสัดส่วนชนชาติ เพื่อให้ชนชาติต่างๆ อยู่อาศัยปะปนกัน

รัฐบาลกำหนดให้เด็กต่างชนชาติเรียนโรงเรียนเดียวกัน ดังนั้น แม้เด็กจะเรียนภาษาของชนชาติตน แต่ก็ต้องพบกับเพื่อนนักเรียนต่างชนชาติทุกวัน ร้องเพลงชาติด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน จึงมีโอกาสสนิทสนมกัน เมื่อโตขึ้นก็เป็นเพื่อนกัน

รัฐบาลยังสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับชนชาติต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ในตำราเรียน ให้เด็กทุกชนชาติศึกษาร่วมกัน เพื่อปลูกฝังให้เกิดความเข้าใจต่อชนชาติอื่นตั้งแต่วัยเด็ก

ในด้านศาสนา รัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมให้พลเมืองนับถือศาสนา และให้ความสำคัญกับทุกศาสนาเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการประกาศให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐบาลได้กำหนดให้วันสำคัญของศาสนาต่างๆ ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์และศาสนาฮินดูเป็นวันหยุดประจำชาติ

รัฐบาลยังมีมาตรการห้ามไม่ให้องค์กรศาสนายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และห้ามพรรคการเมืองหรือบุคคลใดนำเรื่องศาสนามาเป็นประเด็นหาเสียงหรือโจมตีศาสนาอื่น

การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างชนชาติของรัฐบาลสิงคโปร์มีจุดมุ่งหมายสุดท้ายอยู่ที่การหลอมให้พลเมืองทุกคนกลายเป็นชนชาติใหม่คือ “คนสิงคโปร์” โดยที่ทุกคนมีความรัก ความผูกพัน ความรู้สึกร่วมชะตากรรมและพร้อมที่จะเสียสละเพื่อสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศของเขา ขณะเดียวกัน ก็ยังรักษาภาษาและวัฒนธรรมจีน มลายูและทมิฬไว้ โดยไม่ต้องถูกกลืนหายไปหรือถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมที่เหนือกว่า

สิงคโปร์เป็นแบบอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม นับแต่เหตุการณ์จลาจลชนชาติปี 1969 เป็นต้นมา สิงคโปร์ไม่เคยเกิดปัญหาทำนองนี้อีก และในอนาคตคงไม่มีโอกาสเกิดอีก ในเมื่อทุกชนชาติต่างพอใจในสภาพที่เป็นอยู่และไม่มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อชนชาติอื่นแต่อย่างใด

สิงคโปร์จึงนับเป็นดินแดนสงบที่ไม่มีปัญหาชนชาติและศาสนา ผิดกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ที่ต้องวุ่นอยู่กับการแก้ปัญหาเหล่านี้แบบไม่จบไม่สิ้น จนแทบไม่มีเวลาใส่ใจกับการพัฒนาประเทศ