ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (9)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ชาวจีนมีวัฒนธรรมชามาหลายพันปี ตำนานเล่าว่าบรรพกษัตริย์เทพสีนหนงหรือเทพแห่งการเพาะปลูกและสมุนไพรยุคดึกดำบรรพ์เป็นผู้ค้นพบชา ชาวจีนจึงดื่มชาในชีวิตประจำวันมาอย่างยาวนานและส่งวัฒนธรรมนี้ออกไปทั่วโลก

ชามีสรรพคุณหลายอย่างที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้การใช้ชาในพิธีกรรมเซ่นไหว้จึงหมายถึงความไม่มีโรคภัยหรือความทุกข์ (โบ่ค้อโบ่แป๋)

ชาใช้ไหว้ได้ทั้งเทพเจ้า บรรพชน เหล่าพุทธะ – โพธิสัตว์ในฝ่ายพุทธศาสนา ดูเหมือนนักบวชของพุทธศาสนาจะนิยมชมชอบการดื่มชาเป็นพิเศษ เพราะช่วยให้ไม่ง่วงหงาวหาวนอนเวลาทำสมาธิ ดังวัฒนธรรมชงชาของญี่ปุ่นก็รับไปจากวัฒนธรรมพุทธศาสนาในจีนนี่เอง

นอกจากเซ่นไหว้แล้ว ชายังใช้เชื่อมสัมพันธ์และแสดงความคารวะ เช่น พิธียกน้ำชา (เค่งเต๋) ในพิธีแต่งงานหรือในพิธีการรับเป็นศิษย์

ดังนั้น เมื่อมีแท่นบูชาพระและบรรพชนที่บ้านหรือที่ศาลเจ้า ต้องถือว่าการชงชาถวายเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้ดูแลเลยทีเดียว เช้าก็ชงถวาย เย็นก็ลา เป็นเช่นนี้ทุกวัน ถือกันว่าการถวายชาอย่างสม่ำเสมอเป็นเครื่องแสดงว่าเจ้าของบ้านหรือผู้ดูแลเอาใจใส่ต่อบรรพชนตลอดจนปวงเทพเจ้าเป็นอย่างดี ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ย่อมจะพอใจ บันดาลโชคลาภและสิริมงคลให้ตามสมควร

ส่วนจำนวนชาถวายท่านให้ใช้สามจอก เว้นแต่ในพิธีไหว้บรรพชนก็วางตามจำนวนถ้วยข้าว ซึ่งตามธรรมเนียมฮกเกี้ยนใช้เจ็ด และถ้ามีพิธีบวงสรวงใหญ่ เช่น บวงสรวงวันประสูติของฟ้า (ทีก้องแซ) อาจใช้ถึงสิบสองจอก

 

อาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง อธิบายว่า ที่จริงธรรมเนียมใช้ชาเซ่นไหว้สิบสองจอก (จับหยี่ซานเต๋) นี้ เป็นธรรมเนียมเดิมของอารามซึ่งจัดเป็นพิธีอีกอย่างแยกออกไป เพราะอันที่จริงการไหว้ชาสิบสองจอกต้องเฟ้นหาใบชาสิบสองชนิดที่แตกต่างกันมาให้ครบ และแต่ละชนิดจะต้องมีผู้ถวายต่างกันรวมสิบสองคน ชาวบ้านธรรมดาไหนเลยจะมีเงินทองซื้อหาชาล้ำค่ามาให้ครบได้ จะมีก็แต่พวกคหบดีหรือขุนนางที่ทำไหว ปัจจุบันจึงมักถวายเพียงชาสิบสองจอกเท่านั้น

เรื่องความสำคัญของจำนวนสิบสองนี้ ผมจะเล่าต่อไปข้างหน้า

ส่วนในพิธีแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นชาที่ถวายเทพและบรรพบุรุษ หรือชาที่ยกมอบแด่ผู้ใหญ่ ท่านให้ใช้ชาดอกไม้แล้วแต่งรสให้หวานด้วยน้ำตาล บางครั้งก็ใส่อั่งจ้อ (พุทราจีน) ลงไปด้วย มิให้ใช้ชาทั่วๆ ไปที่มีรสขม เพราะรสขมเป็นรสชาติอันไม่เหมาะควรแก่การเริ่มต้นชีวิตคู่

อีกทั้งคำว่า “ขม” ในภาษาฮกเกี้ยนไปพ้องเสียงกับคำว่า “ทุกข์” (ค้อ) จึงยิ่งไม่เป็นมงคลนามเข้าไปอีก แต่ในปัจจุบันคนรู้เรื่องนี้มีน้อย จึงใช้ชาใบทั่วๆ ไปในงานแต่งงานโดยไม่ได้ถือสากันสักเท่าไหร่แล้ว

การรินชาถวายสามจอกหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เวลาจะรินท่านให้รินจอกกลางก่อน แล้วจึงรินจอกด้านซ้ายของแท่นบูชา (คือด้านขวาของเรา) แล้วจึงรินจอกทางขวา (ด้านซ้ายของเรา) เป็นที่สุด การปักธูปสามดอกในกระถางธูปก็เช่นกัน คือให้ปักตรงกลาง ปักซ้ายแล้วจึงขวา (ของแท่นบูชา) ทีละดอกแบบเดียวกับรินชา จึงจะนับว่าต้องด้วยธรรมเนียม

คนจีนโบราณว่า ถ้ามีสามสิ่งวางด้วยกัน ให้ถือตรงกลางเป็นตำแหน่งใหญ่สุด รองลงมาคือด้านซ้ายและขวาตามลำดับ การวางรูปเคารพหรือวางสิ่งของในพิธีก็เรียงตามแบบแผนนี้ แม้แต่บรรดาพวกป้ายชื่ออักษรจีนที่เขียนสามตัวก็เช่นกัน ในสมัยโบราณจะอ่านกลาง ซ้าย และขวาตามลำดับ

 

ส่วนเหตุที่ต้องเป็นสามนั้น ชาวพุทธจีนมักจะอธิบายว่าหมายถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระพุทธตรีกาย (ธรรมกาย, สัมโภคกาย, นิรมาณกาย) หรือพระพุทธแห่งสามกาล ดังจะเห็นในวัดจีนมักมีพระศากยมุนี พระอมิตาภะ และพระไภษัชยคุรุ ประดิษฐานอยู่

แต่หากนับถือศาสนาเต๋า ท่านก็อธิบายว่าหมายถึงตรีวิสุทธิคูหาเทวะหรือตรีวิสุทธิปรมาจารย์ หมายถึงเทวาจารย์สูงสุดทั้งสามของศาสนาเต๋า (ซำเช็งเต๋าจ้อ)

ทว่า หลักคิดทั่วๆ ไปหรือคติดั้งเดิมที่มีมาก่อนศาสนาทั้งสองของจีนนั้น จำนวนสามหมายถึง “ตรีอานุภาพ” (ซำจ๋วน) อันได้แก่ ฟ้า – ดิน – คน ว่ากันว่าแนวคิดนี้มีต้นกำเนิดจากคัมภีร์อี้จิง

ทั้งสามอย่างนี้ล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์ ดังมีสำนวนว่า “พ่อฟ้า แม่ดิน และวีรชน (คือคนรุ่นก่อนๆ)” ฟ้าดินก่อกำเนิดและเกื้อกูลมนุษย์ มนุษย์ดำเนินไปตามมรรควิถีของฟ้าดิน หากสามสิ่งนี้บรรสานสอดคล้องก็มีแต่ความสงบสุขความเจริญรุ่งเรือง

ดังนั้น น้ำชาสามจอกหรือธูปที่ไหว้สามดอก จึงเป็นการกราบไหว้แสดงความเคารพต่อเทพทั้งสามจากหลักการนี้เอง อันได้แก่ การเคารพต่อ “เทพฟ้า” (เทียนสีน) ซึ่งหมายถึงบรรดาเทพเซียนทั้งหลายที่เรานับถือกันนั้นแหละครับ

อย่างที่สองคือ “เทพดิน” (เต่สีน) หมายถึงพระภูมิเทวดาตลอดจนเจ้าที่เจ้าทางต่างๆ

และสาม “เทพคน” หรือเทพในบ้าน (ฉู่สีน) หมายถึงบรรพชนทั้งหลายของเรา

 

การใช้ธูปสามดอกจึงใช้ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้โดยทั่วไป แต่บางท่านหรือบางที่ก็มีธรรมเนียมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างด้วยธูปห้าดอก เช่น ไหว้ทีก้องหรือเต่กี้จู้ (ตี่จู้เอี๊ยะ) ผมคิดเอาเองว่าคงเป็นคตินิยมเฉพาะท้องถิ่นหรือบางสำนัก บ้างก็อธิบายว่าเป็นเรื่องธาตุห้าซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่านี่เป็นธรรมเนียมและความเชื่อเดิม

อันที่จริงดังที่เคยเล่าไปแล้วว่าจะไหว้เทพเจ้าด้วยธูปหนึ่งดอกก็ได้ครับ ตามคติจีนไม่ถือว่าผิดอะไรเพราะเท่ากับไหว้เจาะจงต่อเทพองค์นั้นๆ หรือมีความหมายเป็นการถวายควันธูปหอมเท่านั้นเอง แต่เพราะเราคนไทยใช้ธูปหนึ่งดอกไหว้ศพ เราจึงรู้สึกแปลกๆ หากจะไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยธูปดอกเดียว

นอกจากนี้ ชาวฮกเกี้ยนมีธรรมเนียมการไหว้บรรพชนด้วยธูปสองดอก หมายถึงการไหว้เคารพบรรพชนทั้งฝั่งพ่อ-แม่ในสายสกุลของตน และยังมีการกราบที่เรียกว่า “ไหว้สามทีสี่กราบ” (ซาป่ายสี่เค้ว) คือไหว้หนึ่งครั้งแล้วคุกเข่าลงไปกราบหรือโขกศีรษะสี่ครั้ง ทำดังนี้สามชุด เป็นธรรมเนียมกราบไหว้บรรพชนเฉพาะผู้เป็นลูกและหลานในตระกูลเท่านั้น คือกราบไหว้ครบทั้งโคตรวงศ์ของบรรพชนทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ยังมีการไหว้ธูปสิบสองดอกในพิธีบวงสรวงสำคัญ เช่น บวงสรวงฟ้า

เลขสิบสองนับว่าเป็นอีกเลขที่สำคัญของคนจีนโดยเฉพาะในเชิงพิธีกรรม เช่น เมื่อไหว้บรรพชน ที่บ้านผมจะจัดกับข้าวสิบสองถ้วยตามธรรมเนียมฮกเกี้ยน เรียกว่า “จับหยี่ฉ่ายอั๊ว” หรือจับหยี่อั๊ว ซึ่งก็แปลตรงตัวว่าสิบสองถ้วย โดยปกติจะทำกับข้าวสิบสองอย่าง หรือแบบเรียบง่ายก็จะทำกับข้าวหกอย่างแต่แบ่งอย่างละสองถ้วยรวมเป็นสิบสอง

ส่วนพิธีเกี่ยวกับเทพเจ้า โดยมากจะจัด “หลักฉ่าย” หรือจานผักหกอย่าง ซึ่งมีรายละเอียดและความหมายค่อนข้างมาก แต่หากเป็นพิธีใหญ่ เช่น ไหว้ฟ้าก็สามารถจัดเป็นจับหยี่ฉ่ายอั๊วได้เช่นกัน แต่จะต่างกับจับหยี่ฉ่ายอั๊วที่ไหว้บรรพชน เพราะทั้งสิบสองถ้วยที่ใช้ไหว้ฟ้าหรือเทพล้วนแต่เป็นของแห้งที่ปราศจากเนื้อสัตว์ เช่น เห็ดหูหนูแห้ง เห็ดหอมแห้ง วุ้นเส้น ฯลฯ ไม่ใช่กับข้าวพร้อมกิน

เหตุที่สิบสองเป็นจำนวนสำคัญในวัฒนธรรมจีน เพราะถือกันว่าเลขสิบสองเป็นเลขบริบูรณ์ แสดงถึงความสมบูรณ์ครบถ้วนทั่วหรือครบวงรอบ อีกอย่างตามเวลาที่มนุษย์ใช้บนโลก หนึ่งปีก็ประกอบด้วยสิบสองเดือน แม้บางปีจะมีเดือนเกินเขาก็นับให้เป็นเดือนซ้ำในสิบสองเดือนอยู่ดี

ดังนั้น การไหว้ด้วยจำนวนสิบสอง ไม่ว่าจะเป็นกับข้าว ธูป น้ำชา กระดาษเงินกระดาษทอง (บางท่านว่า จำนวนขั้นต่ำที่เผาคือสิบสองหรือสิบสามแผ่น ขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนในปีนั้นๆ) จึงเท่ากับไหว้ให้เกิดสิริมงคลไปจนครบถ้วนทั่ว หรือให้เกิดสิริมงคลไปทั้งปี

ดังสำนวนของคนฮกเกี้ยนว่า “ตลอดปี (สิบสองเดือน) เหลือกินเหลือใช้” (หนีหนีอู้อือ)

 

อันที่จริงพวกขนมที่ใช้ในพิธีเซ่นไหว้ โดยเฉพาะพิธีไหว้ฟ้านั้น ท่านก็นิยมให้มีสิบสองชิ้น คือบรรดาขนมสดห่อไส้นึ่งที่มีรูปร่างต่างกัน ได้แก่ อั่งกู๊ (เต่าแดง) อั่งอี๋ (กลมแดง) อั่งโถ (ท้อแดง) และอั่งค้าน (พวงเหรียญแดง) แต่เนื่องจากการใช้ขนมอย่างละสิบสองชิ้นถึงสี่ชนิดก็ นับเป็นค่าใช้จ่ายที่มากและยุ่งยาก จึงมักลดลงเหลืออย่างละหกชิ้นเท่านั้น

ส่วนเรื่องของแห้งไหว้พระหลายบ้านอาจพอคุ้นเคยอยู่ เพราะในปัจจุบันมีผู้ทำใส่ซองให้ใช้ไหว้กันโดยสะดวก คือในซองนั้นจะมีเห็ดหูหนูแห้ง ฟองเต้าหู้ ดอกไม้จีน เห็ดหอมและวุ้นเส้นอย่างละนิดใส่รวมกันไว้ จะไหว้ก็แค่เทของในซองนั้นใส่จาน ส่วนตามขนบที่ผมเรียนรู้มาจะมีหมี่สั่วอีกอย่าง จึงนับเป็นหลักฉ่ายหรือจานผักทั้งหก

ที่จริงเรื่องนี้ก็มีความสลับซับซ้อนทั้งในแง่ความหมายและการจัดวาง ผมเองก็เพิ่งเรียนรู้ด้วยความตื่นเต้น จึงอยากแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน แต่เนื้อที่หมดเสียแล้ว

โปรดติดตามในฉบับหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง