เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2460 หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก พระเกจิดัง สมุทรสงคราม

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2460 หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก พระเกจิดัง สมุทรสงคราม

 

กาลสมัยผ่านมาลุ่มน้ำแม่กลองถือเป็นแหล่งสรรพวิชา มากด้วยพระเกจิอาจารย์ นับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยขาดหาย

แต่ถ้าให้กล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ที่เป็นจุดหมายปลายทางของพระธุดงค์สมัยก่อน วัดช้างเผือก ถือเป็นแหล่งรวมพระธุดงค์มากมายหลายรูป

เนื่องจากมีพระเกจิอาจารย์ผู้มากวิชาโดดเด่น ด้านการทำน้ำมนต์ และวิชามหาอุตม์ นั่นก็คือ พระอธิการรุฬ หรือหลวงพ่อหรุ่นนั่นเอง

“หลวงพ่อหรุ่น พุทธสโร” วัดช้างเผือก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ช่วงบั้นปลายชีวิต จัดสร้างวัตถุมงคลที่ระลึกและแจกให้ผู้ที่มาร่วมบุญ ทุกรุ่นล้วนแต่ได้รับความนิยม

“เหรียญรุ่นแรก” ได้รับความนิยมอย่างสูงไปด้วย

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2460 เพื่อแจกในงานศพของท่านเอง มีพระเกจิชื่อดังสมัยนั้นปลุกเสกเป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกระพ้อม, หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต วัดช่องลม, หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย, หลวงพ่อช่วง อินทโชติ วัดปากน้ำ, หลวงพ่อใจ อินทสุวัณโณ วัดเสด็จ และลูกศิษย์อีกเป็นจำนวนมาก

มีเนื้อเงินและเนื้อทองแดง สร้างน้อยมาก

ด้านหน้า ขอบเหรียญมีลายกนก ตรงกลางมีรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฎิ มีอาสนะรองรับ ระบุปี “พ.ศ.๒๔๖๐”

ด้านหลัง ด้านบนสุด เขียนคำว่า “วัดช้าง” ถัดลงมาเป็นยันต์ ความว่า “อะระหัง อะสัง วิสุโล ปุสะพุภะ”

แม้จะเป็นเหรียญตาย แต่ก็หายาก

เหรียญหลวงพ่อหรุ่น

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2372 ที่บ้านไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บิดาชื่อ นายรุ่ง มารดาชื่อ นางล้อม มีอาชีพทำนาและค้าขาย

ครอบครัวฝ่ายมารดาเป็นชาวบางช้าง จ.สมุทรสงคราม บ้านใกล้กับวัดบางจาก เป็นญาติกับหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก ศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

ต่อมาบิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือไทยและขอม ที่สำนักวัดประตูสาร มีพระอาจารย์ภู่เป็นครู เรียนจนจบอ่านออกเขียนได้

พ.ศ.2492 อายุครบบวช จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดประตูสาร มีพระอาจารย์ภู่ วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี กับพระอาจารย์อ่วม วัดไทร เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

ศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องบทสวดมนต์จนจบ จำพระปาฏิโมกข์แม่นยำ ซึ่งถือว่าหาอาจารย์ที่แคล่วคล่องในระดับนี้ได้ยากมากสมัยนั้น

นอกจากนี้ ยังสนใจเรื่องธุดงควัตร จึงไปศึกษากับพระอาจารย์แสวง วัดบางปลาม้า ออกธุดงค์ไปหลายแห่งฝึกพลังจิตจนแก่กล้า

พรรษาที่ 6 เดินทางมาในงานศพนางแจ่ม ซึ่งเป็นยายที่บ้านใกล้วัดบางจาก จึงได้รู้จักกับพระอุปัชฌาย์เอี่ยม วัดบางจาก

หลวงพ่อเอี่ยม จึงชวนให้มาอยู่ด้วยกัน ต่อมาบิดาเสียชีวิตลง มารดาจึงชวนกันอพยพกลับมาอยู่ที่บางจาก ก็เลยมาจำพรรษาที่วัดบางจาก

หลวงพ่อหรุ่น พุทธสโร

ชอบออกธุดงค์แบกกลดเข้าป่าเป็นประจำ ได้ศึกษาพุทธาคม สมุนไพร แพทย์แผนโบราณ จากพระอาจารย์ในป่าลึก ได้รับความรู้ต่างๆ มากมายจนเป็นที่พึ่งของภิกษุ สามเณร และชาวบ้านในแถบนั้น

ต่อมาวัดช้างเผือกว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาส ด้วยวัดช้างเผือกในขณะนั้นกำลังชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก พอมาอยู่ที่วัดช้างเผือก ก็เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พัฒนาวัดเรื่อยมา มีพระและชาวบ้านมาขอเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยเป็นจำนวนมาก

เกิดความนิยมในหมู่พระสงฆ์ที่ออกธุดงค์ทั้งหลายว่า ต้องมาปักกลดที่วัดช้างเผือกเพื่อศึกษาวิชาด้วย จนทำให้พื้นที่ของวัดแน่นขนัดไปด้วยกลดจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านมาให้รักษาโรคแทบทุกวัน คนถูกผีเข้าเจ้าสิงก็มาให้รดน้ำมนต์กันจนแน่นวัด จนเป็นที่รู้จักกันทั้งลุ่มน้ำแม่กลอง

ได้รับการถ่ายทอดวิชาทำผงวิเศษ 108 จากหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก

หลวงพ่อหรุ่นเป็นพระที่มีเมตตาไม่ปิดบังวิชา ใครมาขอเรียนด้วยก็ยินดีสอนให้ จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อหรีด วัดเพลง, หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน และหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี เป็นต้น

มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.2458 สิริอายุ 86 ปี พรรษา 66 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]