เมื่อบิดรมารดามาพบกัน ใน ‘เทศกาลภูเขาศักดิ์สิทธิ์’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมขอเว้นการเขียนซีรีส์บทความ “นักบุญแห่งอินเดีย” ไว้อีกสักตอนนะครับ เนื่องจากมีเรื่องอยากจะเล่าและเบ่งปันกับท่านผู้อ่าน

ก่อนอื่นขอสวัสดีปีใหม่จีน หรือตรุษจีนเสียก่อนครับ อันที่จริงปีใหม่แบบจีนก็มีอะไรซับซ้อนน่าสนใจและเกี่ยวกับเรื่อง “ชง” ซึ่งพอใกล้ตรุษจีนทีไร เรื่องนี้ก็มักจะเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่ เพราะสารพัดซินแสต่างมีข้อมูลชวนให้งุนงง ยิ่งในภาวะสายมูเบ่งบาน ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นที่สนอกสนใจแก่ผู้คนไม่น้อย

ไว้ถ้าผมได้ศึกษาและค้นคว้าจะลองเขียนเรื่องนี้ดูครับ

วันนี้อยากจะเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือผมกำลังจะไปร่วมงานเทศกาลภูเขาศักดิ์สิทธิ์ หรือ Sacred Mountain Festival ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1-5 กุมภาพันธ์นี้ ณ ค่ายเยาวชนเชียงดาว ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ที่จริงงานเทศกาลนี้เป็นครั้งที่สี่แล้ว หลังจากจัดที่ดอยหลวงเชียงดาวไปสองครั้ง ที่เกาะพงันหนึ่งครั้ง แล้วกลับมาจัดที่เชียงดาวอีก

ผมเคยเขียนถึงเทศกาลนี้ในคอลัมน์บ่อยๆ เพราะมักมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ เช่นครั้งแรกเล่าถึงการตั้งศาล “นาค”

ครั้งที่สองก็เป็นการขอตั้งเจ้าหลวงคำแดงให้เป็นพระธรรมบาลผู้คุ้มครอง

และครั้งที่สามเป็นการเล่าถึงบทร่ำวิงวอนมารดาแห่งธรรมชาติ

ท่านใดสนใจลองย้อนกลับไปอ่านดูครับ ทางสำนักพิมพ์ท่านเอาขึ้นออนไลน์ไว้ให้

ภาพจาก วัชรสิทธา

แต่หากท่านใดไม่เคยได้ยินชื่องานนี้เลย แล้วถามว่ามันคืองานอะไร

ผมอาจตอบง่ายๆ ว่า มันเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองทางจิตวิญญาณครับ งานนี้เกิดจากคำถามง่ายๆ ของคุณวิจักขณ์ พานิช ว่า ทำไมคนสายจิตวิญญาณเขาไม่ชอบการเฉลิมฉลองหรือเทศกาลรื่นเริงกันหรือ

งานนี้จึงเกิดขึ้น เพราะต้องการให้ผู้คนที่สนใจจิตวิญญาณหรือมิติด้านในอันพ้นไปจากกรอบเกณฑ์ต่างๆ ได้มารวมตัวกันแล้วฉลองให้กับชีวิต โดยโน้มเข้าหาสถานที่อันมีธรรมชาติที่งดงาม บริสุทธิ์ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความเคารพต่อธรรมชาติไปด้วย

ดอยหลวงเชียงดาวอันศักดิ์สิทธิ์จึงถูกเลือกเป็นสถานที่แรกในการจัดงานนี้ จึงใช้ชื่องานว่า Sacred Mountain Festival นั่นเอง

ส่วนกิจกรรมในงานก็มีทั้งคอร์สเรียนและเวิร์กช็อปต่างๆ ตลอดทั้งวัน โยคะ ภาวนา ศิลปะ เสวนาพิเศษ เดินป่า สักการะ พิธีกรรม ฯลฯ มีอาหารจากเชฟผู้สนใจในวิถีธรรมชาติและวัฒนธรรม มีมินิคอนเสิร์ตจากวงดนตรีที่สนใจทางจิตวิญญาณหลากหลายในภาคค่ำ

ฟังดูคล้ายฮิปปี้หลงยุคนิดนึงนะครับ ซึ่งก็ใช่นั่นแหละ จะว่าไปงานนี้เชื้อเชิญคนที่น่าสนใจ เปิดกว้างและยังมีจิตใจแสวงหาโดยตัวมันเองเข้ามาร่วม

ส่วนผม ผู้ห่างไกลกับวิถีชีวิตนอนเต็นท์และเต้นรำบนผืนหญ้าในป่าเขา ก็ต้องไปร่วมเพราะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบพิธีกรรมทั้งพิธีเปิด พิธีปิด และพิธีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ภาพจาก Facebook : Sacred Mountain Festival

ในปีแรก วิจักขณ์เห็นว่า ค่ายเยาวชนเชียงดาวที่จัดงานมีสายน้ำเล็กๆ ไหลผ่านซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ปิง จึงอยากจะตั้งศาลพญานาคตามคตินิยมแบบทิเบต เพราะสัมพันธ์กับธรรมชาติแห่งน้ำ ในปีนั้นผมจึงทำพิธีตั้งศาลและถวายควันหอม (ลาซาง) แด่นาค

พอปีที่สองเกิดไฟป่า จึงขอเจ้าหลวงคำแดงอาลักษณ์ของที่นั่น ให้ท่านช่วยดูแลปกปัก

และในปีที่สาม เพราะย้ายสถานที่ไปยังทะเล ผมจึงเกิดจินตภาพมารดาแห่งท้องทะเลอันศักดิ์สิทธิ์ จึงแต่งบทร่ำวิงวอนขึ้น

ส่วนโจทย์ของปีนี้ เพราะเรากลับมายังดอยหลวงเชียงดาว ทีมงานรู้สึกถึงความเชื่อมโยงของทะเลและภูเขา ดุจดั่งการหวนกลับมาเจอกันของบิดาและมารดา

ผมรับโจทย์ไว้ โดยรู้สึกเพียงว่า ผมอยากจะทำอะไรที่แหวกออกไป

ผมไม่อยากจะทำพิธีตามขนบเดิมๆ ของตัวเอง อยากลองเป็นฮิปปี้ เป็นนิวเอจ เป็นอะไรที่ออกจากกรอบไปบ้าง

แล้วนึกถึงคำว่า Shaman หรือผู้ติดต่อโลกวิญญาณ ซึ่งผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นได้

ภาพจาก วัชรสิทธา

คุณผู้อ่านคงสงสัยว่า ไอ้พวกนี้เขาจริงจังกันใช่ไหม ผมบอกเลยครับว่าเราจริงจังกันมากๆ และจริงใจต่อสิ่งที่ทำด้วย จริงใจเสียยิ่งกว่าเกจิอาจารย์ที่แสร้งแสดงว่าศักดิ์สิทธิ์แล้วขายของขลังแพงๆ เสียอีก เพียงแต่เราก็ทดลอง แสวงหาด้วยจิตวิญญาณที่ไม่ได้ยึดกับรูปแบบตามขนบเท่านั้น

ผมผู้อยู่ในขนบมาตลอด มาบัดนี้จะลองทำตัวเป็นเจ้าพิธีที่ตัวเองก็ไม่แน่ใจนัก ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำตัวเองดุจภาชนะเพื่อที่ครูบาอาจารย์ท่านจะได้ “ลง” มาช่วยผมบ้าง ในเมื่อมีพื้นที่ให้ผมได้ “หลุด” ขนาดนี้ ทำไมผมจะไม่ลองล่ะ

น้อมขอพรและกำลังใจจากผู้อ่านด้วยนะครับ แล้วถ้าเกิดผมเป็น “บ้า” ขึ้นมา ท่านอาจจะได้อ่านอะไรที่สนุกและวื่อเสียยิ่งกว่าเก่า

ปีนี้ผมกะจะเปิดพิธีด้วยการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป่าสังข์ ร่ายมนต์ และเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมนอนแผ่ลงที่พื้นหญ้า โอบกอดผืนดิน แหงนหน้าขึ้นฟ้า สูดลมหายใจยาว แล้วจะภาวนาร่วมกัน

จากโจทย์บิดรพบกับมารดา ซึ่งบิดรคือดอยหลวง และมารดาคือท้องทะเล ผมอยากจะนำผู้คนไปสัมผัสความสัมพันธ์ดังกล่าว ที่แม้ดูจะห่างไกลกัน แต่ที่จริงนั้นเชื่อมโยงถึงกัน

หยดน้ำเล็กๆ ที่ผุดขึ้นจากภูเขา กลายเป็นสายธารน้อยๆ ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำ จากแม่น้ำหลายสายไหลรวมกันไปสู่ทะเล

ชีวิตมนุษย์อยู่ตรงกลางระหว่างภูเขาและทะเล ระหว่างฟ้ากับผืนดิน มนุษย์ได้อาศัยทั้งภูเขาและทะเลในการดำรงชีพ ได้ฟ้าดินหล่อเลี้ยงบำรุง แต่หากเราไม่เคารพต่อภูเขาและทะเล เราไม่เห็นความเชื่อมโยงของทั้งคู่ เราก็เป็นเพียงผู้ทำลายตัวเล็กๆ ในธรรมชาติใหญ่กว้างนี้

 

ผมขอนำบทภาวนาปลุกเร้าบางส่วนซึ่งจะใช้ในพิธี มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน ดังนี้

“โอม! ฟ้าดินศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตทั้งหลาย ล้วนเกิดและตาย ภายใต้ฟ้านี้

ภูเขาใหญ่กว้าง ตั้งวางบนธรณี คือบิดาแสนดี ผู้มีกรุณา

จงมอง! มอง! มองให้เต็มตา มองไปเบื้องหน้า ยอดผาสูงล้ำ

สายน้ำ! สายน้ำไม่จำนรรจ์ ผ่านพบสบสันต์ คืนวันเคลื่อนคล้อย

หลั่งไหล! หลั่งไหลหยาดย้อย จากสายน้ำน้อย สู่มหาสาคร

แม่! แม่จ๋า! กรุณารอก่อน อย่าด่วนจากจร ลูกจะขอดื่มกิน

หล่อเลี้ยง หล่อเลี้ยงเป็นอาจินต์ ไม่มีสูญสิ้น กษีรธารา

แม่! แม่จ๋า! ลูกจะนอนหนุนตัก โปรดพิทักษ์ลูกเถิดหนา

ลูกนั้นอ่อนล้า อ่อนล้ากับชีวิต

ลงมา! จงลงมาเถิด ดวงจิตอันประเสริฐ ลงมาสถิต

สถิตแนบ! แนบใจใกล้ชิด แนบกับดวงจิต แนบสนิทชีวิตนี้

มอบพลัง! พลังแห่งเทวี พลังธรณี พลังแห่งเทวะ

มอบพร! พรแห่งไตรรัตนะ พรจากพละ แห่งวัชระคิริราชา

ทวยเทพเอย อย่าได้เนิ่นช้า โปรดเหล่าพวกข้า ซึ่งมา ณ ที่นี้

ปลุกเร้า! ปลุกเร้าอัคนี เพลิงใจใฝ่เสรี เพื่อที่จะรู้จักรัก”