“ท้าวกุเวร-ท้าวไพศพ-ท้าวเวสสุวัณ” อธิบดีในหมู่อสูร เป็นองค์เดียวกัน

ญาดา อารัมภีร

“พระอินทร์อยู่ชม พระยมอยู่คุ้น
พระวรุณอยู่เจน พระกุเวรอยู่เฝ้า”

นี่คือชื่อประตูกำแพงรอบบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประตูทิศตะวันออกชื่อ ‘พระอินทร์อยู่ชม’
ทิศใต้ชื่อ ‘พระยมอยู่คุ้น’
ทิศตะวันตกชื่อ ‘พระวรุณอยู่เจน’
ทิศเหนือชื่อ ‘พระกุเวรอยู่เฝ้า’

ประตูสี่ทิศมีท้าวจตุโลกบาล (ตามลัทธิฮินดู) คุ้มครองรักษา เป็นชื่อต่างจากทางพุทธศาสนา ดังที่หนังสือ “เล่าเรื่องในไตรภูมิ” ของเสฐียรโกเศศให้ความกระจ่างว่า

“โลกบาลประจำทิศตะวันออก ฮินดูเป็นพระอินทร์ พุทธศาสนาเป็นท้าวธตรฐ

โลกบาลประจำทิศใต้ ฮินดูเป็นพระยม พุทธศาสนาเป็นท้าววิรุฬหก

โลกบาลประจำทิศตะวันตก ฮินดูเป็นพระวรุณ พุทธศาสนาเป็นท้าววิรูปักษ์

โลกบาลประจำทิศเหนือ ฮินดูเป็นพระกุเวร พุทธศาสนาเป็นท้าวไพศพ”

องค์หลังนี้ตรงกันทั้งฮินดูและพุทธ เพราะกุเวรแลท้าวไพศพเป็นองค์เดียวกัน ชาวบ้านเรียกว่า “ท้าวเวสสุวรรณ” นอกเหนือจากนั้นตรงกันกับลัทธิฮินดู คือ พระอินทร์ดูแลทิศตะวันออก พระยมทิศใต้ พระวรุณทิศตะวันตก

พระยม

“พลังอำนาจและความมั่งคั่งของจตุโลกบาลทิศเหนือ” เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทพทางพุทธหรือทางฮินดู ล้วนมีตำนานความเป็นมารองรับ ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงให้ความกระจ่างเกี่ยวกับท้าวกุเวรของฮินดูไว้ในภาคผนวก 2 อภิธานสังเขปของพระราชนิพนธ์เรื่อง “ศกุนตลา” ว่า

“กุเวร – อีกนัยหนึ่งเรียกว่า ท้าวเวสสุวัณ ในพระเวทว่าเป็นอธิบดีในหมู่อสูร ต่อมาว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์และราชาแห่งยักษ์…รามายณและมหาภารตเล่าต่อไปว่า ท้าวกุเวรได้บำเพ็ญตบะหลายพันปี เป็นที่โปรดปรานแห่งพระพรหมา จึ่งขอประทานพรให้เป็นอมฤต (ไม่มีตาย) ให้เป็นโลกบาลและเจ้าแห่งทรัพย์ ด้วยอำนาจพรนั้น จึ่งได้เป็นผู้อภิบาลทิศอุดรและได้เป็นเจ้าของทองและเงิน แก้วต่างๆ ทรัพย์แผ่นดินทั่วไปกับมีทรัพย์ 9 ประการ เรียกว่า ‘นวนิธิ'”

น่าสังเกตว่านามเรียกท้าวกุเวรเน้นที่ความมั่งมี เช่น ธนัท (ผู้ให้ทรัพย์) ธนบดี (เป็นใหญ่ในทรัพย์) ธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์) อุจฉาวสุ (มั่งมีได้ตามใจ) ชื่อที่เกี่ยวกับอำนาจก็มีบ้าง เช่น ยักษราช (ขุนแห่งยักษ์) รากษเสนทร (เป็นใหญ่ในหมู่รากษส) ชื่อที่บอกถึงรูปร่างหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์คือ กุเวร และ กตนุ หมายถึง ตัวขี้ริ้ว ซึ่งสอดคล้องกับรูปเคารพที่แพร่หลายทั่วไป รัชกาลที่ 6 ทรงให้รายละเอียดและตั้งข้อสังเกตว่า

“รูปท้าวกุเวรที่อินเดียมักเขียนเป็นเนื้อสีขาว รูปพิการ ‘มีขาสามขา’ ฟัน 8 ซี่ ตกแต่งเครื่องอาภรณ์อย่างพิจิตร (ที่เราเขียนกันเป็นรูปยืนแย่ท้าวตระบองยาวนั้น ก็เข้าใจว่าจะตั้งใจเขียนให้เป็นคนพิการหลังโกง และตระบองยาวนั้นกระมังจะเป็นขาที่ 3 แต่ของเราทำไมทาสีเป็นเขียวไปก็ไม่ทราบ)”

พระอินทร์

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ น.ม.ส. ทรงพระนิพนธ์ เรื่อง “พระนลคำฉันท์” จตุโลกบาลของฮินดูเป็นตัวละครที่มีบทบาทต่อพระนลและนางทมยันตี พระเอกนางเอกของเรื่อง

เมื่อพระบิดาของนางทมยันตีจัดพิธีสยุมพร (เลือกคู่) ให้แก่พระธิดา ชายที่หมายปองนางมีทั้งเทวดาและมนุษย์ พระอินทร์โลกบาลทิศตะวันออกไหว้วานให้พระนล พระเอกของเรื่องเป็นพ่อสื่อสานสัมพันธ์ให้นางทมยันตีเลือกหนึ่งในสี่ของจตุโลกบาลเป็นคู่ครอง

พระอินทร์แนะนำให้พระนลรู้จักโลกบาลทั้ง 4

“เรานั้นพระอินทร์นี่ อคนีมณีฉาน
นั่นคือพระโลกบาล ยมรักษะทักษิณ
โน่นวาริโลกลัก ษณะพักตระโศภิณ
เปนเจ้ากระแสสินธุ์ พระวรุณวรางค์เรือง”

(กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงมีข้อสังเกตว่า “หนังสือพระนลนี้มีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือโลกบาลทิศใหญ่ขาดท้าวกุเวรไป มีพระอัคนีมาแทน อันที่จริงลัทธิพราหมณ์ถือว่าพระอัคนีเป็นโลกบาลประจำทิศอาคเนย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้”)

แม้พระนลจะรักนางทมยันตีล้นใจ เมื่อรับปากเทพทั้ง 4 แล้วก็กล้ำกลืนความในใจทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ทันทีที่ทั้งคู่สบตา ต่างมีรอยยิ้มให้กัน พระนลรีบบอกชื่อแลจุดประสงค์ว่าเป็นตัวแทนของจตุโลกบาล ประกอบด้วย

“องค์เพลิงเถกิงกาจ ยมราชวรุณอินทร์
สี่องคะทรงจิน ตะประสงค์จำนงใจ”

ทั้ง 4 องค์ใช้ข้ามาเป็นทูตขอให้ท่าน ‘เลือกหนึ่งพระองค์ใน จตุเทพ ธ หมายมา’ ไม่ว่าพระนลจะสาธยายคุณสมบัติของจตุโลกบาลมากมายเพียงใดก็ตาม นางยืนยันว่าพิธีเลือกคู่จัดเพื่อพระนลผู้เดียว ก่อนหน้านี้มีหงส์ทองมาเป็นสื่อรักสรรเสริญพระนลจนนางปลงใจรัก ถ้าผิดไปจากพระนล นางไม่อาลัยแม้ชีวิต ‘ก็ตัวข้าจะพาชี วะก้มหน้าอำลาตาย’

พระนลเพียรขอร้องให้นางเปลี่ยนใจ เพราะคนไม่อาจเทียบเทพได้

“มิเลือกอินทร์ก็เลือกยม มิเลือกยมก็เลือกไฟ
วรุณเกียรติกำไร ก็ล้ำเลิศประเสริฐสาร
มนุษย์หยิ่งเผยอยง จะเทียมองค์พระโลกบาล
บทันเทียบจะเปรียบปาน ละอองบาทก็ห่อนมี”
พระนลทิ้งท้ายว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนปฏิเสธเทพ

“สตรีมีณะที่ใด มิอยากได้สุเรนทร (= พระอินทร์)
สตรีใดณะดินดอน มิคิดใคร่วรุณฉาย
สตรีใดณะใต้หล่า มิใฝ่หาพระเพลิงพราย
สตรีใดบ่แดดาย คะนึงสมพระยมยง”

คำโน้มน้าวใจของพระนลไม่เป็นผล นางทมยันตียืนยันเด็ดเดี่ยวว่า

“มิเลือกองค์พระนลได้ ก็ข้าไซร้บ่มีผัว
มิยำเยงมิเกรงกลัว จะเปนไรก็เปนไป”

งานนี้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ผิดหวังตามๆ กัน •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร