ธรรมลีลา : มหาวิทยาลัยนวนาลันทา?

ที่ใส่เครื่องหมายคำถามเพราะตัวเองงงในการไปประชุมนานาชาติที่ราชคฤห์คราวนี้ เพราะหนังสือเชิญว่า นาลันทา deemed University แปลว่า ที่กำลังจะขอเป็นมหาวิทยาลัย

ตรงจุดใกล้ๆ กับนาลันทามหาวิหาร โบราณสถานที่ขุดค้นพบในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย ประมาณ 100 กว่าปีก่อนนั้น เท่าที่เราเห็นนั้น เป็นเพียง 1 ใน 10 ส่วนค่ะ อินเดียไม่มีกำลังที่จะดำเนินการขุดต่อ แต่แม้กระนั้น เราก็เห็นความอลังการของสถานศึกษาในสมัยโบราณ

ศูนย์การศึกษาของพุทธศาสนาในช่วงที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองที่สุดนั้น นอกจากนาลันทาแล้วก็ยังมี โอทันตปุรี วิกรมศีล ที่อยู่ในรัฐพิหาร ส่วนตักศิลา ไปยากหน่อยเพราะอยู่ในปากีสถาน จำนวนอาจารย์และนักศึกษาแต่ละแห่งนับหมื่น

นาลันทาถูกทำลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 เมื่อมุลสิมเติร์กบุกเข้ามาจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัวมหาวิทยาลัยถูกเผา อาจารย์และนักศึกษาหนีตายกระเจิดกระเจิง

ของที่ขุดค้นพบในซากของนาลันทา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับทางเข้ามหาวิหารนาลันทาค่ะ

 

วันนี้จะพูดถึงนวนาลันทามหาวิหาร ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.1956 ที่ผ่านมานี้เอง เดิมเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ หลวงพ่อท่านเจ้าคุณทองยอด ที่เป็นประธานสงฆ์ไทยในอินเดียองค์ก่อน จบปริญญาเอกจากที่นี่ค่ะ

มหาวิทยาลัยนี้ เน้นการสอนภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาอังกฤษ และพระพุทธศาสนา ในงานฉลองตอนเปิดงานประชุมที่ราชคฤห์ ก็มีการเปิดตัวพระไตรปิฎกครบชุด ฉบับอักษรเทวนาคิรี ก็เป็นผลงานของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนี้

วันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการประชุม หลังจากที่เจ้าภาพได้พาแขก 5 คันรถบัสไปชมอนุสรณ์สถานของพระถังซำจั๋งแล้ว ก็พามาแวะที่มหาวิทยาลัยนวนาลันทามหาวิหาร ไม่มีเจ้าภาพต้อนรับ มีคนชี้ให้เราขึ้นไปที่ชั้นสองของห้องประชุม เตรียมน้ำชาไว้เสิร์ฟ มีของว่างใส่ถุงพลาสติก เป็นข้าวพองและถั่วคั่ว (คั่วไม่สุก) กว่าที่คนจากรถบัส 5 คันจะเข้าไปนั่งตามเก้าอี้ที่จัดเป็นแถวไว้นั้น

พอคนสุดท้ายนั่งเสร็จ ยังไม่ทันจิบน้ำชา เราคาดว่าจะมีเจ้าภาพมาทักทาย ปรากฏว่ามีคนมาเรียกให้กลับไปขึ้นรถ

เอ๋ มันอะไรกันเนี่ย

มาทราบทีหลังว่า รองอธิการบดีคนปัจจุบัน อาจารย์ศรีวัสตวะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 6 เดือน ทางรัฐบาลกลางผ่านกระทรวงวัฒนธรรมก็สั่งการมา แต่รายละเอียดขึ้นกับทางมหาวิทยาลัยเอง ทางมหาวิทยาลัยก็มือใหม่ ไม่เคยจัดงานนานาชาติมาก่อน

คนที่เข้ามาขัดตาทัพแก้ปัญหาที่เราเห็นเป็นพวกทิเบตค่ะ

 

ในหนังสือเชิญที่พูดถึงนาลันทาที่กำลังจะขอเป็นมหาวิทยาลัยนั้น เป็นอีกที่หนึ่ง พวกเราจำได้ไหมว่า เคยมีนักเศรษฐศาสตร์อินเดียท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ชื่อ อมาตยะ เซ็น ท่านเคยมาหาท่านธัมมนันทาถึงวัตรทรงธรรมกัลยาณี เรื่องที่จะสร้างมหาวิทยาลัยใหม่ที่นาลันทา

นาลันทาที่กำลังจะขอเป็นมหาวิทยาลัย คือนาลันทานานาชาติที่ อมาตยะ เซ็น เป็นคนเริ่มต้น ได้เงินก้อนใหญ่มาจากสิงคโปร์บวกกับเงินที่ อมาตยะ เซ็น ได้จากรางวัลโนเบล ตอนนี้ซื้อที่ดินแล้ว จากถนนหน้าวัดไทยศิริราชคฤห์ ผ่านหน้าโรงแรมฮอกเก ของญี่ปุ่น ออกไป 3 ก.ม. ค่ะ จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

เริ่มการเรียนการสอนแล้ว โดยเช่าห้องในโรงแรม 4 แห่งเปิดชั้นเรียน มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนแล้วด้วย เปิดสอนระดับปริญญาโท ทราบว่าจบไปรุ่นหนึ่งแล้ว

อาคารที่อยู่ด้านหลังของห้องประชุมนานาชาติที่ราชคฤห์ก็ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

มหาวิทยาลัยนาลันทานานาชาติมีโครงการสอนวิชาที่ทันสมัย ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ และไม่ต้องการให้จำกัดอยู่กับพุทธศาสนา เพราะจิตวิญญาณของนาลันทาเดิมนั้นเปิดกว้างมาก

รัฐบาลกลางนับตั้งแต่ท่านประธานาธิบดี อับดุล คาลัม ที่เป็นชาวมุสลิม ดูจะมีส่วนอย่างมากที่จะรื้อฟื้นพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ และทำให้นาลันทานานาชาติเป็นความจริงขึ้นมา เพราะในกระบวนการการจัดการการศึกษานั้น จะเปิดโลกทรรศน์ทำให้ราชคฤห์และนาลันทากลายเป็นศูนย์กลางที่จะดึงดูดนานาชาติได้อย่างแท้จริง

ในกลุ่มนักวิชาการชาวพุทธที่มีโอกาสได้ไปชมมหาวิทยาลัยนวนาลันทา มีท่านปลัดกระทรวงท่องเที่ยวของมาเลเซีย ที่มีความสนใจในเส้นทางการเดินทางของพระถังซำจั๋งเป็นพิเศษ

ท่านให้ความเห็นว่า ทำไมมหาวิทยาลัยนาลันทานานาชาติไม่สร้างที่นวนาลันทาที่เป็นมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว น่าจะได้ช่วยขยายมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วเดิมทั้งกายภาพ และเปิดโลกทรรศน์ทางการศึกษาออกไปรวมศาสตร์อื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน

ผู้เขียนยังต้องศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เข้าใจเบื้องต้นว่า น่าจะเป็นการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาล การบริหารจัดการจะมีความจำกัดไม่คล่องตัว

ท่านอมาตยะ เซ็น ตอนที่มาเยี่ยมท่านธัมมนันทาก็ 5 ปีมาแล้ว ตอนนั้นท่านก็อายุมากแล้ว ผู้ที่จะเป็นจักรกลจริงๆ ที่จะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนให้เกิดมหาวิทยาลัยนานาชาติที่ไม่อยู่ในกำกับของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่ายในแง่ของการปฏิบัติ

 

มหาวิทยาลัยนวนาลันทามหาวิหารเท่าที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พัฒนามาหลายช่วงตัวทีเดียว

ท่านอาจารย์ศรีวัสตวะที่เพิ่งเข้ามาเป็นรองอธิการบดีได้ 6 เดือน มาต้อนรับเราตอนที่คณะของเราไปแวะชมอนุสรณ์สถานท่านพระถังซำจั่ง ท่านมอบผ้าขะตะ ประเพณีของทิเบต และมอบใบโพธิ์ เป็นที่ระลึก ท่านจะเอาผ้าคล้องคอให้ท่านธัมมนันทา ท่านธัมมนันทาท่านชิงบอกเสียก่อนว่า เดี๋ยวขอรับที่มือนะ ท่านจะได้ไม่เก้อ

อนุสรณ์สถานนี้ ถ้ามาเอง ค่าผ่านประตู 500 รูปี แต่คราวนี้เรามาในฐานะแขกของรัฐบาล เราก็เลยเดินเข้าไปชมอย่างสง่าเลยค่ะ

รูปปั้นของพระถังซำจั๋งเด่นเป็นสง่า อยู่ด้านหน้าตัวอาคาร ภายในมีรูปปั้นสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่กว่าตัวจริง งามเหมือนกัน

แต่ที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด คือผังที่เล่าถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในงานประกาศพระศาสนา อเล็กซานเดอร์ เดอ โครอส ชาวฮังเกเรียน เดินทางมาอินเดียเพื่อค้นหารากเหง้าของชนชาติฮังเกเรียน ซึ่งคือพวกฮวนที่ชาวจีนขับไล่ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณ แต่แล้วมาติดใจการศึกษาภาษาทิเบต เป็นคนแรกที่ทำพจนานุกรมภาษาทิเบตเป็นภาษาอังกฤษ

ผู้เขียนเอง ตอนที่เป็นนักศึกษา ซาบซึ้งในชีวประวัติของท่านมาก แต่ไม่เคยเห็นรูปท่าน มาเห็นรูปท่านที่อนุสรณ์สถานของพระถังซำจั๋งนี่เอง แชะ แชะ

สําหรับการประชุมนานาชาติที่ผ่านมา ขาดการประสานงานสิ้นเชิงระหว่างรัฐบาลกลางที่จัดการอยู่ที่เดลลี กับข้าราชการท้องถิ่น ตลอดงาน เราไม่เคยมีโปรแกรมการประชุม ต้องมีคนคอยประกาศบนเวทีเป็นช่วงๆ ไป

วันสุดท้ายของงาน กระเป๋าที่เตรียมมาแจกผู้ร่วมงานเพิ่งมาถึง แขกที่มาร่วมบางท่านกลับไปแล้วตั้งแต่ตอนบ่าย

วันรุ่งขึ้น แขกส่วนใหญ่เตรียมตัวกลับ ลากกระเป๋าสัมภาระลงมา ปรากฏว่า อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนวนาลันทา เพิ่งเอาของที่ระลึกมาให้ ใส่กล่องมาอย่างดี ท่านธัมมนันทาเข้าไปรับ เขาถามว่าเป็นผู้มาร่วมในงานหรือเปล่า เฮ้อ

ของขวัญพวกนี้ก็เสียงบประมาณไปมาก แต่สูญเปล่า เพราะไม่ทันแจก แขกกลับไปเสีย 70% แล้ว

มองเห็นถึงความสูญเสียงบประมาณของรัฐบาลกลาง หากท่านนายกรัฐมนตรีนเรนทราโมดีรู้คงยัวะชะมัดเลย

นาลันทานานาชาติ ที่ยังอยู่ในระหว่างขอเป็นมหาวิทยาลัย จะเป็นจริงแค่ไหน ก็ยังบอกไม่ได้ นอกจากจะเห็นตัวคนที่จะเป็นแกนนำในการประสานจัดการ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเงินที่ยังต้องใช้อีกหลายสิบล้าน หรือร้อยล้าน กว่าที่จะทำให้ความฝันเป็นความจริง