จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (7) : Steve Bannon คนใกล้ชิดทรัมป์

จรัญ มะลูลีม
AFP PHOTO / NICHOLAS KAMM

ปัญหาของชาวมุสลิม

การสร้างปัญหาให้มาเกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมในสมัยของทรัมป์เป็นปรากฏการณ์ที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง

คำที่ทรัมป์ชอบใช้คืออิสลามสุดโต่ง (radical Islam) ซึ่งผู้รู้ศาสนาอิสลามจะไม่ใช้คำคำนี้

เพราะคำว่าสุดโต่งเป็นของต้องห้ามในคำสอนของอิสลาม

อิสลามกับความสุดโต่งจึงไม่อาจเอามารวมกันได้ เพราะอิสลามหมายถึงสันติและการยอมจำนนต่อพระเจ้า

และเราไม่อาจนำเอาการกระทำของคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีความขมขื่นกับชาวตะวันตกผู้รุกรานทรัพยากรของพวกเขา มาตัดสินคนมุสลิมส่วนใหญ่ได้

คำอื่นๆ ที่ทรัมป์ชอบนำเอามาหาเสียงได้แก่คำว่าอิสลาโมโฟเบีย (Islamophobia) หรือโรคหวาดกลัวอิสลาม รวมทั้งการนำเอาอิสลามไปรวมกับแนวคิดสุดขั้วของมุสโสลินีแห่งอิตาลี ดังนั้น จึงปรากฏคำว่าอิสลาโมฟาสซิสม์ (Islamofascism)

หรือแม้แต่คำว่า “อิสลาม” หรือคำอื่นๆ ซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความคลั่งไคล้ให้กับประชาชนในสมัยของทรัมป์ที่มีความสับสนอย่างต่อเนื่อง

 

นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วที่ทัศนคติของโลกได้ผ่านกระบวนการแห่งระเบียบทางสังคมที่หลากหลาย หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของสงครามเย็นซึ่งยาวนานถึง 45 ปีนั้นอิสลามถูกมองว่าเป็นศาสนาที่ต้านระบอบคอมมิวนิสต์

หลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1967 (2510) ฝ่ายปาเลสไตน์ที่ต้านอิสราเอลได้ปรากฏตัวขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากองค์การของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือ OPEC ได้ใช้น้ำมันเป็นอาวุธและการขึ้นราคาน้ำมัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวสื่ออเมริกันได้ถือเอาชาวอาหรับ ชาวเบดุอินหรือผู้เร่ร่อนชาวอาหรับ รวมทั้งผู้ครองนครและผู้ก่อการร้ายที่ค้าอาวุธว่าเป็นศัตรูของอารยธรรมตะวันตก

เมื่อสหรัฐนำเอานักต่อสู้อิสลาม (Islamic Jihad) เข้ามาต่อต้านคอมมิวนิสต์ชาวอัฟกันและพันธมิตรโซเวียตนั้นอิสลามได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเป็นอย่างมาก และผู้นำอัฟกัน “มุญาฮิดีน” (Mujahideen) หรือนักรบตามแนวทางศาสนาได้รับการประกาศจาก Ronald Reagan ในการเฉลิมฉลองทำเนียบขาวว่ามี “ระดับศีลธรรมเท่าเทียมกับบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐ” ซึ่งเท่ากับว่ากุลบุดดีน ฮิกมัตยาร (Gulbuddin Hekmatyar) ผู้นำอัฟกันในเวลานั้นได้รับเกียรติให้มาเทียบเคียงกับ George Washington

และ บุรฮานุดดีน ร็อบบานี (Burhannudin Robbani) ผู้นำอีกคนหนึ่งของอัฟกานิสถานก็ได้รับเกียรติให้มาอยู่ในระดับเดียวกับ Thomas Jefferson ฯลฯ

 

ต่อมาเมื่อ อุสามะฮ์ บินลาดิน และผู้คนของเขาจากอัล-กออิดะฮ์ซึ่งเคยมีบทบาทร่วมกับ CIA มาก่อนได้หันมาต่อต้านสหรัฐเสียเอง หลังจากกองทัพสหรัฐได้กรีธาทัพเข้ามาอยู่ในซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ตอนต้นของสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991

ถึงเวลานี้อิสลามถูกนำมากล่าวอ้างไปในทางผิดๆ อยู่ทั่วโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

โศกนาฏกรรม 9/11 ปี 2001 นำมาสู่สงครามต่อการก่อการร้าย (War on Terror) ซึ่งประธานาธิบดีบุชกล่าวว่า สงครามนี้จะต่อสู้อยู่ในหลายประเทศและเป็นไปได้ว่าอาจใช้เวลาหลายทศวรรษ เป็นสงครามที่ไม่จบสิ้น (War without end)

แล้วอิสลามก็กลายเป็นภาพหลอนในทางร้ายที่ตะวันตกสร้างขึ้นมานับจากเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน

และยิ่งเวลาผ่านไป อิสลามก็กลายมาเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นปัญหาและถูกนำมาใช้อย่างได้ผล

อาจกล่าวได้ว่าการสร้างภาพอิสลามให้ดูหวาดกลัวนี้ทำให้ “ผู้อพยพ” กลายเป็นผู้ที่จะนำความเสียหายมาให้ จึงนำไปสู่การเรียกร้องอย่างหวาดหวั่นให้คนขาวที่มีวัฒนธรรมตะวันตกมาขับไล่ปีศาจนี้ออกไปจากใจกลางของสแกนดิเนเวียอย่างเดนมาร์ก ผ่านไปถึงฝรั่งเศส ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย

ดังนั้น การใช้อิสลามโมโฟเบียจึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการประกอบสร้างของทรัมป์และคนที่มีความคิดไปในทางเดียวกับเขา อิสลาโมโฟเบียกลายเป็นส่วนสำคัญของอุดมการณ์ร่วมสมัยของตะวันตกอย่างที่ Marine Le Pen เคยเป็นตัวอย่างในเรื่องการต่อต้านการใช้ผ้าคลุมศีรษะมาแล้ว

สำหรับทรัมป์และการนำเอาอิสลาโมโฟเบียมาใช้นั้นเป็นมรดกตกทอด และเป็นมรดกบาปที่ต้องใช้เวลาแก้ไขอีกยาวนาน

 

ทรัมป์อ้างว่าการขจัดนักญิฮาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอเอส จะเป็นข้อเลือกสูงสุดในการบริหารของเขาในการออกไปต่อสู้อยู่นอกประเทศ เขาขู่ที่จะใช้นิวเคลียร์ในตะวันออกกลาง แม้จะยังไม่รู้ว่าใครเป็นเป้าในพื้นที่ไหน ทำไม และจากความผิดพลาดเรื่องอะไร แล้วเขาก็ขู่ว่าจะใช้นิวเคลียร์กับยุโรปด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเป็นรัสเซีย แม้จะมีการอ้างกันอย่างกว้างขวางว่าเขาปิดบังการสนับสนุนจากรัสเซียเอาไว้ก็ตาม

เขากล่าวกับ CNN อย่างสบายๆ ว่า “ผมคิดว่าอิสลามเกลียดชังพวกเรา” (I Think Islam hates us.) เมื่อถูกบีบให้กล่าวอย่างชัดๆ เขากล่าวอย่างครุ่นคิดว่ามันยากที่จะนิยาม มันยากที่จะจำแนกออกมา เพราะคุณไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

โดยทั่วไปการถอนใจและกล่าวออกมาโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย นั่นเป็นเรื่องน่าหัวเราะ แต่ชนิดของการวิพากษ์แบบไร้ขอบเขตของเขากลายเป็นการสร้างความตื่นตระหนก เมื่อมันมาจากชายที่แสดงรูปแบบต่างๆ ที่ก้าวร้าวเชื่อมั่นในตัวเองเกินขนาดและไม่อาจควบคุมตัวเองได้ ซึ่งเป็นบุคลิกที่เห็นกันอยู่ของทรัมป์

เป็นที่รับรู้กันว่าคำพูดอย่างเช่น อิสลามเกลียดพวกเรานั้นนับได้ว่าแย่อยู่แล้ว เนื่องจากการประกาศตัวชนิดนี้เป็นการตอกย้ำความแตกต่างครั้งแล้วครั้งเล่า การที่ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวเช่นนั้นเป็นการขยายตัวของความเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจคาดหมายถึงผลที่จะตามมาได้


Steve Bannon คนใกล้ชิดทรัมป์

ก่อนหน้านี้เขาเป็น CEO ของทรัมป์ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อการขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ของทรัมป์ เมื่อทรัมป์พร้อมจะเข้าสู่ทำเนียบขาวเขาก็ถูกยกระดับให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มก้อนของทรัมป์หรือคณะกรรมการหลักของฝ่ายความมั่นคง (NSC)

ดังได้กล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง Bannon เป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้มีอิทธิพลของ Golman Sachs อันเป็นกลไกอำนาจทางการเงิน แต่ก็มีอำนาจอยู่มากเบื้องหลังตำแหน่งสำคัญของสหรัฐ

เขาเป็นประธานบริหาร Breithart News Network, ซึ่งเขาบรรยายว่าเป็นเวทีของ alt right คำว่า alt-right นั้นมาจากคำว่าขวาจัด (Far Right) ซึ่งในตัวของมันเองประกอบขึ้นจากแนวโน้มหลากหลายโดยไม่มีการบังคับบัญชาที่เป็นหนึ่งเดียว แต่มีแนวโน้มทับซ้อนกันอย่างเช่นกลุ่มนีโอ-นาซี

นอกจากนี้ Bannon ยังได้รับการยอมรับจาก David Duke ซึ่งเป็นคนสำคัญของกลุ่ม Ku Klux Klan อีกด้วย

อิสลาโมโฟเบียและความหมกมุ่นอยู่กับการปะทะทางวัฒนธรรมนั้นสามารถดูได้จากคำพูดของเขาที่วาติกัน ซึ่งเขากล่าวว่าตะวันตกติดอยู่กับสงครามซึ่งกลายเป็นสงครามระดับโลกไปแล้ว มันเป็นสงครามอันสมบูรณ์ต่อต้านนักญิฮาดอิสลามฟาสซิสต์ (Jihadist Islamic fascism)

ดังนั้น สงครามกับอิสลามจะต้องเกิดขึ้นเพื่อรักษาแนวคิด จูดาห์-คริสเตียนตะวันตก… คริสตจักรและอารยธรรมซึ่งเป็นดอกไม้แห่งมนุษยชาติเอาไว้