เหรียญที่ระลึก 90 ปี หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม สุรินทร์

พระสายปฏิบัติ หรือสายพระป่าส่วนใหญ่เป็นศิษย์ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บูรพาจารย์สายพระป่า แทบทั้งสิ้น

หนึ่งในนั้น คือ “พระราชวุฒาจารย์” หรือ “หลวงปู่ดูลย์ อตุโล” วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ พระวิปัสสนาจารย์สายอีสาน ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก

วัตถุมงคลที่ท่านสร้าง มีทั้งพระบูชา รูปหล่อ พระเครื่อง พระกริ่ง และเหรียญ ทุกรุ่นล้วนสร้างเพื่อหาปัจจัยบูรณะและสร้างเสริมศาสนวัตถุภายในวัด รวมทั้งพัฒนาสาธารณูปการแก่ชุมชุนในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งสิ้น

กลายเป็นที่นิยมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ค่านิยมยิ่งสูงขึ้นตามกาลเวลา

 

สําหรับ “เหรียญที่ระลึก 90 ปี หลวงปู่ดูลย์” เป็นหนึ่งในวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม จัดสร้างเมื่อปี 2520

ลักษณะเป็นเหรียญทองแดง รูปไข่ ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงปู่ดูลย์ครึ่งองค์ หันด้านข้าง เขียนข้อความด้านล่างว่า “พระรัตนากรวิสุทธิ์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)”

ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปเครื่องอัฐบริขารอยู่ตรงกลาง ด้านบนเขียนข้อความว่า “วัดบูรพาราม สุรินทร์” ด้านล่างเขียนว่า “ครบรอบ ๙๐ ปี”

เหรียญรุ่นนี้มี 2 บล็อก บล็อกแรกสันจมูกไม่ซ้อน บล็อกสองสันจมูกซ้อน แต่ทั้งสองบล็อกตัวตัดขอบเหรียญตัวเดียวกัน

เหรียญที่ระลึก 90 ปี หลวงปู่ดุลย์ จัดสร้างทั้งหมด 3 เนื้อ คือ เนื้อทองคำ 10 เหรียญ, เนื้อเงิน จำนวนการสร้าง 10 เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้าง 10,000 เหรียญ

เหรียญรุ่นดังกล่าว กำลังมาแรง ปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหา

 

มีนามเดิมว่า ดูลย์ ดีมาก เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2430 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ที่บ้านปราสาท อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีพี่น้องรวม 5 คน ท่านเป็นคนที่ 2

ในวัยเด็ก อาศัยวัดเป็นสถานศึกษา โดยมีพระในวัดเป็นผู้อบรมสั่งสอน วิชาที่เล่าเรียนประกอบไปด้วยการเรียนการสอนทางโลกที่พอให้อ่านออกเขียนได้และศีลธรรมจรรยามารยาทอันควรประพฤติปฏิบัติ

ครั้นเมื่ออายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดจุมพลสุทธาวาส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีพระครูวิมลสีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูบึก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูฤทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า “อตุโล” อันหมายถึง ผู้ไม่มีใครเทียบได้ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พ.ศ.2461 เมื่อมีอายุ 30 ปี ได้ญัตติมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุต ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม จ.อุบลราชธานี มีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่อแรกบวช ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานกับหลวงปู่แอก วัดคอโค ซึ่งอยู่ชานเมืองสุรินทร์ ท่านก็พากเพียรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จนครบไตรมาสโดยไม่ลดละแต่ก็ไม่ปรากฏเห็นผลอันใดแม้เล็กน้อย นอกจากนี้ ยังใช้เวลาที่เหลือท่องบ่นเจ็ดตำนานบ้าง สิบสองตำนานบ้าง แต่ไม่ได้ศึกษาพระวินัยแต่อย่างใด

ท่านไปจังหวัดอุบลฯ พยายามมุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเต็มสติกำลัง จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ คือ สามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นตรี นวกภูมิ เป็นรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และยังได้เรียนบาลีไวยากรณ์

 

เมื่อครั้งที่หลวงปู่มั่นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี ร่วมกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พากันไปฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นกันเป็นประจำ ทำให้เกิดความซาบซึ้งใจคำพูดแต่ละคำมีวินัยแปลกดี ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จึงเพิ่มความสนใจใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกที

ครั้นออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์ จึงตัดสินใจออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นไป

ปฏิบัติตามปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์แรงกล้า ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของท่านปรมาจารย์อย่างสุดขีด จนแสงแห่งพระธรรมก็บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่จิตของท่านรู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต และเข้าใจสภาพเดิมของจิตที่แท้จริงได้ จนรู้กิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้

ดังนี้ ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็น พูดน้อย สงบ อยู่เป็นนิตย์ มีวรรณะผ่องใส ท่านรักความสงบจิตใจใฝ่ในความวิเวกมาก ท่านประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างแท้จริง บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์

ธรรมโอวาทของหลวงปู่ดูลย์ “…หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ จิต นั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ จิตนั่นแหละคือหลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วมันก็ไม่ใช่จิต จิตนั้น โดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ มิใช่จิต การที่จะกล่าวว่าจิตนั้นมิใช่จิต ดังนี้นั่นแหละ ย่อมหมายถึง สิ่งบางสิ่งซึ่งมีอยู่จริง สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด ขอจงเลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว และพฤติของจิต ก็ถูกเพิกถอนขึ้นสิ้นเชิงแล้ว…”

หลวงปู่ดูลย์ละสังขารด้วยอาการสงบ สิริอายุ 96 ปี พรรษา 64

ยังความอาลัยแก่บรรดาศิษยานุศิษย์อย่างยิ่ง